xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ส่งร่าง กม.ลูกฟันคดีนักการเมืองให้ สนช.29 พ.ค.หวังแก้ปมพวกหนีคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผย ส่งร่างกฎหมายลูกวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ สนช. พิจารณาจันทร์นี้ ใช้ระบบไต่สวน ยึดสำนวน ป.ป.ช. พิจารณา ให้ทำคดีลับหลังได้ แถมมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ - รื้อคดี แต่ต้องมาปรากฏตัว ชี้ หวังแก้ปัญหานักการเมืองหนี ส่วนนำตัวมารับโทษไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับระบบจับกุม

วันนี้ (27 พ.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 พ.ค. กรธ. จะส่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลำดับที่ 3 ที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. กำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลใช้แบบระบบไต่สวนที่มีความชัดเจนและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในการค้นหาความจริงในคดี 2. การพิจารณาคดีต้องยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก แต่ไม่ปิดกั้นผู้พิพากษาจะหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 3. ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังผู้ถูกกล่าวหาได้ และผู้ถูกฟ้องสามารถแต่งตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีได้ 4. ผู้ต้องคำพิพากษามีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ แต่ต้องมาปรากฏตัว เพื่อขอต่อสู้คดี รวมถึงเมื่อกลับมาปรากฏตัวแล้ว ยังสามารถขอรื้อฟื้นคดีได้

นายอุดม กล่าวว่า กรณีไม่มีตัวจำเลยมาแสดงต่อศาล เพื่อรับฟังขั้นตอนและสิทธิในการต่อสู้ เหมือนที่เคยกำหนดเป็นสิทธิไว้ ตนมองว่า อาจเป็นประเด็นที่ สนช. อาจมีข้อถกเถียงในกรณีที่ขัดต่อหลักยุติธรรมของสากลหรือไม่ แต่สิ่งที่ กรธ. เขียนสามารถชี้แจงและอธิบายได้ว่า ต้องให้เป็นการแก้ปัญหาบ้านเมืองกรณีคดีที่ผ่านๆ มา ที่พบว่า นักการเมืองจะหนีคดี และไม่สามารถตามตัวมาลงโทษได้ ดังนั้น ต้องแก้ไขเพื่อให้ศาลได้ตัดสิน ใน 2 ส่วน คือ ส่วนที่ผิดหรือถูก และส่วนกรณีที่ผิด จะลงโทษอย่างไร ขณะที่มุมมองอีกฝ่ายอาจมองว่า ผิดแล้วแต่นำตัวมารับโทษไม่ได้ก็สูญเปล่า ตนมองว่า ต้องขึ้นอยู่กับระบบติดตามและจับตัวมาลงโทษรวมทั้งการตรากฎหมาย ที่ สนช. ต้องช่วยพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น