สัมมนาร่าง กม. ลูก กกต.- พรรคการเมือง “สุรชัย” แนะ สนช. ต้องตัดสินใจโหวตร่าง กม. ลูกด้วยตัวเอง พร้อมนำข้อมูลสัมมนาไปสังเคราะห์ ฝากโจทย์ 4 ข้อปฏิรูปการเมือง “ศุภวุฒิ” แจงเหตุเสียงแตกล้ม กกต.จว. ย้ำ กม. ที่บัญญัติขึ้นใหม่ไม่ควรกระทบสิทธิปัจเจกชนเดิม “สมเจตน์” ชี้ บทเฉพาะกาลไม่ถูกต้องเสมอไป
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่โรงแรมนิว แทรเวิล ลอด์จ จ.จันทบุรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวปิดการสัมมนาสัมมนา เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง” ว่า เป้าหมายของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยุติประเด็นที่ค้างคา แต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ในพื้นฐานของประโยชน์ของประเทศชาติ และเพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของสมาชิก สนช. ในการประชุม สนช. เพื่อโหวตร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ สนช. อาจจะโดนครหาว่าขาดความเป็นอิสระ เรามุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิก เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม สมาชิกทุกคนต้องตัดสินใจเอง บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้รับจากการสัมมนา เอาไปชั่งน้ำหนักบนพื้นฐานประโยชน์ของประเทศ ประชาชนก็คาดหวังจากกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับนี้ ที่เป็น 2 ใน 4 กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ฝาก กมธ. พิจารณร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. เรื่องการตีความการจัดการเลือกตั้ง 150 วัน ด้วยว่า ต้องทำให้ชัดเจนอย่าให้เกิดความคลุมเครือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายที่มา ส.ว. กรธ. ต้องรอให้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับแรกนี้ เสร็จก่อนถึงจะร่างกฎหมายลูกได้ และความสำคัญของกฎหมาย 2 แรกฉบับนี้จะเป็นคำตอบของประชาชนเรื่องเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ เราจะนำประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่อยู่ที่ 2 ฉบับนี้
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ฝากประธาน กมธ. ทั้ง 2 คณะนี้ การจะปฏิรูปการเมือง ต้องอาศัยกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ ยุติธรรม การปฏิรูปการเมืองไม่อาจสำเร็จได้ หากไม่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง กฎและกติกาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ สุดท้ายแนวคิดของ กรธ. ที่ร่างกฎหมายลูกมาถูกต้องแล้วหรือยัง อยู่ที่สมาชิก สนช. จะต้องตรวจสอบ ส่วนกมธ. ที่พิจารณามีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเท่านั้นเอง ซึ่งการเขียนกฎหมายทั้งหมดต้องตอบโจทย์การปฏิรูปด้านการเมือง 4 เรื่อง คือ 1. ทำยังไงให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ 2. จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาพรรคการเมือง 3. ต้องมีกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ 4. จะทำอย่างไรจะได้กฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ผูกขาดโดยนักการเมือง เป้าหมายเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้น ขอฝาก กมธ.ทั้ง 2 คณะ ดูเรื่องเหล่านี้ด้วย รวมทั้งหลักการของกฎหมายสองฉบับนี้จะต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกระบวนการต้องถูกต้อง เพราะไม่อยากเห็นขั้นตอนต้องมาสะดุดลง
ด้าน พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ เลขานุการ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของ สนช. กล่าวว่า ประเด็นการยกเลิกกกต. จังหวัด โดยให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือ กกต. แทนมีความเห็นเป็นสองทางโดยเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเลือกตั้งโดยสนับสนุนแนวความคิดของ กรธ. ที่กำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือ กกต. โดยมีเหตุผล คือ เพื่อวางกลไกป้องกันการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และลดข้อครหาความไม่เป็นกลาง ของ กกต. จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหา เป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้นโดยผ่านระบบผู้ตรวจการเลือกตั้งและผู้สังเกตการณ์อาสา เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง มีความเป็นอิสระคล่องตัว ไม่ต้องมีองค์คณะตัดสินใจ ลดข้อครหาในเรื่องความใกล้ชิดกับพื้นที่มาเกินไป โดยกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นบัญชีไว้ 5 ปี เลือกบุคคลในพื้นที่จังหวัดละ 5 - 8 คน และจะจับสลากเลือกบุคคลในพื้นที่จำนวน 2 คน ที่เหลือจะจับสลากจากบุคคลนอกภูมิลำเนา
พล.อ.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ส่วนที่ไม่เห็นกับ กรธ. โดยให้คงรูปแบบ กกต. จังหวัด ไว้โดยให้เหตุผลว่า กกต. มีความเข้าใจในพื้นที่มากกว่า สามารถบริหารจัดการการเลือกตั้งได้มีประสิทธิภาพ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่เพราะเป็นบุคคลที่เคารพนับถือของคนในพื้นที่ ผู้ตวจการการเลือกตั้งจำมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า กกต. จังหวัดจากปกติ 120 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท ส่วนประเด็นการคงอยู่ของ กกต. ตามบทเฉพาะกาล โดย กกต. จะอยู่ต่อหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นว่าจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้เปิดพื้นที่ให้ออกแบบว่าควรจะไปในทิศทางใดตามมาตรา 273 ดังนั้น การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ กมธ. จึงต้องยึดเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นหลักและมองไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยต้องทำให้ กกต. ซึ่งเป็นเสมือนประตูไปสู่อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จัดกลไกในการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านประเทศ โดยกรรมาธิการตัดสินใจอย่างไรต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ซึ่งมีทั้งสิ้น 3 แนวทาง คือ 1. เซตซีโร่ให้ทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นกติกาใหม่ทั้งหมด 2. รีเซตโดยยกเลิกเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่มีคุณสมบัติ และไม่ลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญที่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ 3. ให้ กกต. ทั้ง 5 คนดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ
“สมาชิก สนช. ได้แสดงความคิดเห็นว่าจะต้องชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจโดยยึดหลักประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะกรณีที่คุณสมบัติ กกต. เดิม แต่มีอำนาจเพิ่มขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และหลักกฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลัง หรือหลักเคารพสิทธิของปัจเจกชน กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ไม่ควรกระทบกระเทือนสิทธิปัจเจกชนที่มีอยู่เดิม” พล.อ.ศุภวุฒิ กล่าว
ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ของ สนช. กล่าวสรุปว่า กมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ. พรรคการเมือง โดยยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 มาตรา 90 และมาตรา 259 (ก) โดยพรรคการเมืองมีส่วนร่วมของประชาชน และมีโครงสร้างทางการเมือง 10 ส่วน คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง การเงินการบัญชีของพรรคการเมือง รายได้ของพรรคการเมือง กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง การใช้จ่ายของพรรคการเมือง การสิ้นสุดของพรรคการเมือง การควบรวมพรรคการเมือง การกำหนดบทลงโทษ และบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการคงอยู่ของพรรคการเมืองเดิม ซึ่งกรรมาธิการได้หารือต่อสมาชิก สนช. ใน 3 ประเด็น คือ การจัดตั้งทุนประเดิมพรรคการเมืองที่มองว่าจะต้องไม่เป็นกำแพงขวางกันทางเศรษฐกิจในการจัดตั้งพรรค การจ่ายค่าบำรุงสมาชิกพรรคที่กำหนดว่าไม่น้อยกว่า 100 และการปฏิรูปพรรคการเมือง ซึ่งควรให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตามจะนำความเห็นต่างๆจากการสัมมนาไปประกอบการพิจารณาและได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวถึงกรณีการดำรงตำแหน่งของ กกต. เดิมที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลอาจจะเป็นปัญหากับบทหลักที่ว่า จุดมุ่งหมายของบทเฉพาะกาลต้องการให้สิ่งที่มีอยู่เดิมดำรงต่อไป หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีกฎหมายใหม่ขึ้นก็จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้สิ่งที่อยู่เดิมเดินต่อไป ดังนั้น บทเฉพาะกาลต้องเดินบทหลักหรือไม่ไม่ถูกเสมอไป เช่น กรณีห้าม สนช. ที่ยังเป็นข้าราชการ แต่ก็มีบทเฉพาะกาลยกเว้นสามารถดำรงตำแหน่งได้ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าบทเฉพาะกาลไม่อาจขัดต่อบทหลักได้