เมืองไทย 360 องศา
ก็ต้องถือว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เป็นช่วงเวลาสำคัญเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แม้ว่าตามขั้นตอนนับจากนี้จะต้องส่งร่างดังกล่าวไปให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาให้ความเห็นว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และส่งกลับมาภายใน 10 วันหลังจากนั้น แต่ในเวลานี้ก็ต้องถือว่ามีความน่าสนใจและน่าจับตาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมืองกันอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศ อาจเรียกได้ว่า นี่อาจเป็นการปฏิรูปการเมืองอีกแบบหนึ่งที่เริ่มมาจาก “ฐานราก” เลยก็ว่าได้ ซึ่งในเบื้องต้นก็ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม
แม้ว่าตามขั้นตอนยังต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งกว่าจะออกมาประกาศใช้ได้ แต่ตามหลักการที่มีการบังคับให้แต่ละพรรคการเมืองต้องหาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากกระบวนการ “สรรหา” จากสมาชิกพรรคทั้งในระบบ ส.ส. แบบระบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยหากพิจารณาจากระบบ ส.ส. แบ่งเขต ผู้สมัครของแต่ละพรรคจะต้องได้รับการสรรหาจากสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นจากคณะกรรมการสรรหาของพรรคในเขตนั้น หมายความว่า วิธีการใหม่ที่ออกมาจะทำให้ต่อไปนี้ทุกพรรคการเมืองจะต้องให้สมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งเป็นคนคัดเลือกผู้สมัครกันเองแล้วให้คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ ส่งสมัครรับเลือกตั้งต่อไป ส่วนในกรณีของระบบบัญชีรายชื่อก็ต้องผ่านการสรรหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีวิธีแตกต่างกันเท่านั้น
เอาเป็นว่าวิธีการคัดเลือกผู้สมัครแบบนี้ถือว่าเป็นการ “เปลี่ยนรูปแบบ” การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองกันแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการชี้นิ้วของ “เจ้าของพรรค” หรือพวก “นายทุนพรรค” ที่สุมหัวกันอยู่ในไม่กี่คน จะให้ใครลงสมัครในเขตไหน ต้อง “จ่าย” เท่าไหร่
ทำให้ต่อไปนี้ผู้สมัครของแต่ละพรรคต้องผ่านการคัดเลือกเข้ามาจากแต่ละเขต กลายเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคและชาวบ้านในพื้นที่ แทนที่จะเป็นคนของเจ้าของพรรค นายทุนพรรคเป็นใครก็ไม่รู้แบบไม่มีที่มาที่ไป
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในเรื่องของการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ต้องเกิดขึ้นก่อนก็ต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ทั้งในเรื่องของเงินทุนจดทะเบียนพรรค ที่แม้กำหนดวงเงินเอาไว้จำนวน 1 ล้านบาท แต่ก็ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งในกลุ่มของคนที่ร่วมก่อตั้งก็ต้องร่วมจ่ายส่วนจะคนละไม่น้อยกว่า 1 พัน หรือ 1 หมื่น ก็ว่ากันไป แต่ก็ต้องมีเพดานไม่ให้สูงเกินไป เพื่อไม่ให้เอาเรื่องเงินตั้งพรรคมาใช้อิทธิพลครอบงำพรรคได้ในอนาคต อีกทั้งในส่วนของสมาชิกพรรคทั่วไปจะต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคในแต่ละปี ความหมายก็เช่นเดียวกันให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งก็ต้องร่วมกันมีบทบาท และที่สำคัญแนวทางแบบนี้แหละจะทำให้ไปถึงคำว่า “สถาบันพรรคการเมือง” มากยิ่งขึ้น
แม้ว่ายังไม่ใช่เป็นข้อยุติ แต่หลักการกว้างๆ ก็น่าจะเป็นแบบที่ว่านั่นแหละ เพราะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว แต่ต้องส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาหาประเด็นโต้แย้งกลับมาก่อน แต่โดยหลักการใหญ่และรายละเอียดหลายอย่างถือว่าโอเคทีเดียว เพราะน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบพรรคการเมืองได้อย่างขนานใหญ่ หากมีการปฏิบัติเชื่อว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมืองไทยได้แบบก้าวกระโดดเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ในเมื่อเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อน มันก็ย่อมมีปัญหา ติดขัดมีอุปสรรคจากความไม่พร้อมของหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่เพิ่งจัดตั้งกันใหม่ หรือแม้แต่พรรคใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะมีปัญหาทั้งในเรื่องความไม่คุ้นเคย ทั้งจากระบบพรรคเอง และจากกลไกควบคุมของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่หากมีความตั้งใจจริง มันก็น่าจะผ่านไปได้
ขณะเดียวกัน ที่บอกว่าพรรคการเมืองมีผลกระทบแน่ ไม่เว้นแม้แต่พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อยกว่าเท่านั้นเอง เริ่มที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ตามระบบเดิมรูปแบบการบริหารที่มาากคณะกรรมการบริหารพรรค มีลักษณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ก็ต้องถือว่ามี “ผู้มีอิทธิพล” ชี้นำพรรคได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ระบบอาวุโส” ที่อยู่มานาน และการคัดเลือกผู้สมัครแม้ว่าจะมีระบบการพิจารณาที่มีขั้นตอนจากสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมบ้าง แต่ในมี่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครคนนั้นจะอยู่ “สาย” ไหน หรือเป็นคนของกลุ่มไหนเท่านั้น
แต่ถึงอย่างไรแม้จะเป็นระบบเปิด แต่ยังไม่เปิดกว้าง พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากการสรรหาผู้สมัครที่มาจากแต่ละเขตเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นมา ผู้สมัครบางเขตอาจไม่ใช่ผู้สมัครหน้าเดิมที่เคยลงสมัครก่อนหน้านี้ก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับการคัดเลือกของสมัครในเขตนั้น
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่มีความเชื่อว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริงจะเป็นพรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอย่างที่รู้กันก็คือพรรคนี้มีครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ หรือคนในครอบครัว “ชินวัตร” ให้การอุดหนุนมาตั้งแต่ต้น หลายคนจึงมองว่าการบริหารพรรคเพื่อไทยไม่ต่างจาก “บริษัทจำกัด” ของครอบครัวนี้ การคัดเลือกผู้บริหารพรรคตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ผู้สมัครของพรรคในแต่ละเขต ลำดับของผู้สมัครบัญชีรายชื่อหลายครั้งที่เห็นว่าพวกเขาต้องไปพบ ทักษิณ ชินวัตรในต่างประเทศเพื่อรับความเห็นชอบ รับมอบแนวทางการทำงานหรือมีเงื่อนไขบางอย่างแลกเปลี่ยนทุกคนรับรู้กันแบบนี้
ดังนั้น เมื่อรูปแบบเปลี่ยนใหม่ถึงได้บอกว่าพรรคเพื่อไทยนั่นแหละจะ “หักมุม” มากที่สุด ขณะเดียวกันอย่าได้แปลกใจที่พรรคนี้จะคัดค้านมากที่สุด อย่างจาตุรนต์ ฉายแสง อ้างว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคระหว่างสมาชิกพรรค มีความวุ่นวายตามมา
แน่นอนว่า แล้วแต่มุมมองและข้ออ้างของแต่ละฝ่าย แต่สำหรับการมองแบบกลางๆยังเชื่อว่าระบบการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ให้ทุกคนเป็นเจ้าของพรรค ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครหรือที่เรียกว่าระบบ"ไพรมารี"เหมือนกับพรรคการเมืองในบางประเทศมันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย “สถาบันพรรค” ในอนาคตอย่างแท้จริง แทนที่จะเป็นสมบัติของบางครอบครัวบางตระกูลเหมือนในอดีต
แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่ากฎระเบียบจะมีความเข้มงวดและเอาจริงตามที่กำหนดเอาไว้ได้หรือไม่ต่างหาก !!