xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.กม.ลูกพรรค ยันต้องจ่ายค่าสมาชิก พรรคไม่มีทุนได้แต่ห้ามลง ส.ส.คาดยุติสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ปธ.กมธ.วิฯ กฎหมายลูกพรรคการเมือง สนช. เผย ทำใกล้เสร็จแล้ว ยันต้องจ่ายค่าสมาชิก แต่ยังไม่สรุปตัวเลข โอเคพรรคไม่มีทุนประเดิม แต่ห้ามสมัคร ส.ส. งดรับเงินกองทุนฯ โยน กกต. กำหนดยอดจ่าย ไม่ใช่สตาร์ท 1 ล้าน คาดได้ข้อยุติสัปดาห์หน้า ด้าน ปธ.กมธ.วิฯ กม. ลูกกรรมการการเลือกตั้ง รับเหลือแค่ปมกรรมการปัจจุบัน ขัดคุณสมบัติตาม รธน. เชื่อสรุปก่อน 9 มิ.ย.

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่า กมธ. พิจารณาใกล้เสร็จแล้ว ในส่วนประเด็นค่าสมาชิกพรรคนั้น กมธ. เห็นว่า จะต้องเรียกเก็บค่าสมาชิกพรรค แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะเรียกเก็บในอัตราขั้นต่ำ 100 บาทต่อปีตามที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา หรือเก็บในอัตราต่ำกว่า 100 บาทต่อปี จะต้องรอฟังความเห็นจาก กมธ. อีกครั้ง ว่า จะเรียกเก็บเท่าใด แต่ต้องมีการเรียกเก็บค่าสมาชิกพรรคแน่นอน

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง 1 ล้านบาท ตามที่ กรธ. เสนอมานั้น กมธ. จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กรณีไม่มีทุนประเดิมก็สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เพราะ กมธ. ไม่อยากให้เรื่องทุนประเดิมมาขวางกั้นการตั้งพรรคการเมือง เพื่อรองรับกรณีพรรคการเมืองที่เป็นการรวมกลุ่มกันของคนมีรายได้น้อย อาทิ ชาวนา แต่ไม่มีเงินทุนมากพอ อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองที่ไม่มีทุนประเดิมจัดตั้งพรรคจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส. และไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. 2. กรณีมีทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่ง กมธ. เห็นว่า ควรให้ กกต. เป็นผู้กำหนดทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะ กกต. จะทราบดีถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ไม่ควรกำหนดตายตัวที่ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเด็นต้องรอนำเข้าที่ประชุม กมธ. อีกครั้งเพื่อหาข้อยุติในสัปดาห์หน้า จะได้ข้อยุติอย่างเป็นทางการไม่เกินวันที่ 2 มิ.ย. นี้

ด้าน นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ว่า ขณะนี้เหลือเพียงประเด็นเดียวที่ไม่ได้ข้อยุติ คือ กรณีคุณสมบัติของ กกต. ชุดปัจจุบันบางคนที่มีปัญหาขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะออกบทเฉพาะกาลให้ กกต. เหล่านี้ทำหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ ยังต้องรอฟังความเห็นจากสมาชิก สนช. 14 คน ที่ขอแปรญัตติในประเด็นนี้ในวันที่ 29 มิ.ย. และ 1 มิ.ย. ซึ่ง กมธ. จะนำความเห็น สนช. มาชั่งน้ำหนักถึงความเหมาะสม เพื่อหาข้อยุติต่อไป คาดว่า จะได้ข้อยุติก่อนวันที่ 9 มิ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น