สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง “สมเจตน์” แนะพรรคควรจัดตั้งได้ง่าย ยุบยาก ชี้ค่าสมาชิก ทุนประเดิมเป็นกำแพงกีดกั้นประชาชน ซ้ำบทลงโทษหนักทำคนรุ่นใหม่แหยง ขณะที่ “มีชัย” แจงสมาชิกพรรคเริ่มแค่ 500 คน ก็พอแล้วแต่ใน 4 ปีต้องให้ได้ครบหมื่น อ้างทุนประเดิม-ค่าสมาชิกเป็นการร่วมรับผิดชอบ ส่วนโทษถ้าแรงไปก็ปรับได้ ชู พ.ร.บ.ทำชาวบ้านมีส่วนร่วมสำคัญ ก่อนมีมติ 175 เสียงเห็นชอบ
วันนี้ (21 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยสมาชิก สนช.ยังมีความเห็นที่หลากหลาย และแสดงความเป็นห่วงว่ากลไกที่กำหนดขึ้น จะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนได้จริงหรือไม่ ตลอดจนการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ต้องมีทุนประเดิมพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่อาจเป็นอุปสรรคกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก รวมถึงเจตนาที่ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองว่าจะมีสิทธิ์มีเสียงในพรรคการเมืองได้จริงหรือไม่ ซึ่งประธาน กรธ.ก็ย้ำหลักการว่ากลไกเหล่านี้จะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของหลายฝ่ายมีข้อสรุปว่าพรรคการเมืองควรจัดตั้งได้ง่าย และยากต่อการสิ้นสภาพ ส่วนเรื่องทุนประเดิมและค่าบำรุงพรรคถือเป็นกำแพงกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดแย้งหลักประชาธิปไตยที่ควรสร้างจิตสำนึกมากว่าการบีบบังคับ อีกทั้งบทลงโทษรุนแรง ต่อผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองอาจเป็นเหตุให้ ไม่มีคนรุ่นใหม่คนดีเข้าสู่การเมืองเพราะเสี่ยงโทษหนัก ดังนั้นควรพิจารณาให้สอดคล้องกับการกระทำที่สมควรแก่เหตุ
นายวัลลภ ตังคณนานุรักษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองด้วยการจ่ายเงินสนับสนุนพรรคนั้น ในทางปฏิบัติมีหลายทางที่จำเป็นต้องเสียเงิน ทั้งการร่วมสัมมนา หรือเดินหน้าเผยแพร่อุดมการณ์พรรคซึ่งมีคุณภาพ ดีกว่าเสียสตางค์ด้วยซ้ำ เรื่องนี้ต้องเปิดกว้าง เพราะบางทีชาวบ้านไม่มีเงินจ่าย หรือไม่จ่ายต่อเนื่องก็จะหมดสมาชิกภาพได้
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช.กล่าวว่า ขอเสนอทางออกกรณีที่ไม่จ่ายเงินบำรุงพรรคก็ไม่เป็นเหตุให้หมดสิทธิความเป็นสมาชิกพรรค แต่เพียงแค่ทำให้สิทธิบางประการหายไป คล้าย ชมรม หรือองค์กรต่าง ๆ ใครไม่เสียค่าบำรุงรายปีก็ยังเป็นสมาชิก แต่ไม่มีสิทธิจนกว่าจะเสียค่าสมาชิก และไม่เห็นว่าการมีสมาชิกพรรคไม่ครบเกณฑ์จะมีผลถึงขั้นต้องยุบพรรคการเมือง แค่ควรให้ชะลอการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า เป็นห่วงในมาตรา 48 ที่กำหนดให้การส่งผู้สมัครต้องมีความเสมอภาคทั้งชายและหญิง แต่พรรคการเมืองต้องการส่งผู้สมัครที่ชนะแน่ๆ อาจทำให้เกิดความไม่เสมอภาคขึ้นได้ หรือวรรคสองที่ระบุให้คณะกรรมการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำซึ่งหากตั้งตึงเกินไป ในทางปฏิบัติก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนตัวเห็นว่าหลักการกฎหมายควรทำให้พรรคการเมืองเกิดง่ายแต่ตายยาก เพราะอดีตที่ผ่านมาพรรคที่ถูกยุบไปแล้วก็ตั้งใหม่ได้
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ชี้แจงว่า การกำหนดให้มีสมาชิกพรรคเริ่มต้นอย่างน้อย 500 คน ถือเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอกำหนดสูงถึง 5,000 คน แต่เห็นว่ามากเกินไป อย่างไรก็ตาม ต่อจากนั้นได้กำหนดให้ใช้เวลา 4 ปี หาสมาชิกให้ได้ 10,000 คน ส่วนการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบในกรณีทำผิดอุกอาจ รุนแรงอันตรายต่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม การกำหนดทุนประเดิม หรือค่าสมาชิกพรรคไม่ใช่อิงกับประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงเรื่องร่วมรับผิดชอบอย่างแท้จริง เพราะสิทธิ มาควบคู่กับหน้าที่เสมอ อีกทั้งจากการสำรวจความเห็นประชาชน 78.8 % เห็นว่าควรจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรค
ส่วนกรณีที่มองว่ามีบทกำหนดโทษที่รุนแรงนั้นเป็นเรื่องนานาจิตตัง ซึ่ง กรธ.พิจารณาแล้วได้ลดหย่อนลงจากเดิมมาหลายมาตรา แต่หาก สนช.คิดว่าแรงไปก็ปรับได้ ไม่น่ามีข้อขัดข้อง ส่วนเรื่องที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันนั้น เกิดจากสองประเด็น คือ 1. ประชาชนยอมรับและ 2. การการดำเนินกิจกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ซึ่ง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมสำคัญทั้งการเลือกผู้สมัคร เลือกหัวหน้าพรรค รวมทั้งการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 175 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป