ก่อนไปถึงช้างตัวยักษ์ยืนอยู่ท่ามกลางผู้แทนของเศรษฐกิจยักษ์ 20 แห่งของโลก ต้องขอปูพื้นถึงที่มาของการประชุมประจำปีของ G20
ปีนี้จะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 12 ของผู้นำจาก 19 ประเทศและผู้นำตำแหน่งประธานกรรมาธิการยุโรปที่มีสมาชิกอยู่ 28 ประเทศ โดยครั้งแรกจัดโดยประธานาธิบดีบุช ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปลายปี 2008 ขณะเกิด Hamburger Crisis ที่กำลังจะลุกลามใหญ่โตข้ามทวีปยังยุโรปและทวีปอื่นๆ
ในปีถัดมา คือปี 2009 มีการจัดถึง 2 ครั้ง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายผู้นำสหรัฐฯ จากบุชเป็นโอบามา เป็นช่วงสุกงอมของ Hamburger Crisis กับการล้มลงของเลแมน บราเดอร์ส และขยายวงติดต่อไปยังธนาคาร สถาบันการเงินยักษ์ในสหรัฐฯ ลามไปสู่ภาคผลิตทั่วหน้า
จริงๆ แล้วกลุ่ม G20 เริ่มฟอร์มตัวกันในช่วงหลังวิกฤตการเงินเอเชีย (Asian Financial Crisis) ที่เริ่มจากวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งของไทย เมื่อกลางปี 1997 แล้วลามไปยังเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ซึ่งจากวิกฤตการเงินก็ส่งผลสู่วิกฤตเศรษฐกิจ และตามมาด้วยวิกฤตการเมือง เช่นที่เกาหลีใต้ และที่อินโดนีเซีย ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างใหญ่ในเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย (โค่นระบอบซูฮาร์โตที่อยู่มาถึง 33 ปี) แต่ไม่เกิดการปฏิรูปการเมืองของไทยเลย
โดยมีการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารชาติของ 20 ประเทศ ซึ่งเป็นที่รวมของประชากรถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก และเป็นเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ประชุมกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 1999 ต่อมาในช่วง Hamburger Crisis จึงรีบจัดประชุมสุดยอดเพื่อจัดการกับการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก และเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเช่นนี้อีก
สำหรับสมาชิกก็ขยายวงจาก G7/G8 ออกไปกว้างขวางขึ้นตามทวีปต่างๆ คือทวีปอเมริกาเหนือมี 2 ประเทศ ใน G8 ขยายเอาเม็กซิโกเข้ามาเป็นประเทศที่ 3 ; ทวีปอเมริกาใต้มี 2 ประเทศ คืออาร์เจนตินา และบราซิล ; ทวีปยุโรปจะมี 4 ประเทศ ใน G8 คือ เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี และรวมถึงรัสเซีย (ที่ถูกขับออกจาก G8 หลังจากเข้าควบรวมกับแหลมไครเมีย) ; ส่วนที่เอเชียเดิมมีแค่ญี่ปุ่น ก็ขยายไปรวมเอาจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย, เตอร์กี, ออสเตรเลีย, และสำหรับทวีปแอฟริกาจะมีอยู่เพียง 1 ประเทศ คือแอฟริกาใต้
สำหรับสหภาพยุโรป จะเป็นผู้แทนคนที่ 20 ที่เป็นประธานกรรมาธิการสหภาพ ปีนี้คือนายฌอง คล็อด ยุงเกอร์
แล้วจะต้องมีผู้นำขององค์กรระหว่างประเทศอีก 8 แห่ง คือ ยูเอ็น, IMF, ธนาคารโลก, FSB, FAO, ILO, WHO, WTO และ OECD
ประเทศเจ้าภาพยังสามารถเชิญผู้นำจากบางประเทศเข้าเป็นแขกร่วมสังเกตการณ์ เช่น ปีนี้จะมีผู้นำจากสิงคโปร์, สเปน, ประธานของสหภาพแอฟริกา (ปีนี้คือผู้นำของกินี), ประธานขององค์กรความร่วมมือใหม่ เพื่อการพัฒนาแอฟริกา, ผู้นำของนอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์ ทั้งหมดเคยมาเป็นแขกของการประชุม G20 สุดยอดแทบทุกปี ส่วนปีนี้ เจ้าภาพเชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมเป็นแขกด้วย
ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลก และเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหาร และเทคโนโลยีใหญ่สุดของโลก ได้ถือปฏิบัติว่าตนเป็นประเทศผู้นำของโลกมาตลอดศตวรรษที่ 20 ที่เพิ่งผ่านไป และตลอดการประชุม G20 ในช่วง 20 ปีมานี้
แต่ปีนี้ สหรัฐฯ กลับกลายเป็นช้างตัวโตที่ยืนหันรีหันขวางอยู่ในห้องประชุมG20 ที่เจ้าภาพต้องการเน้นเป็นพิเศษ ที่จะให้ผู้นำทั้ง 19 ประเทศที่เหลือต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันการต่อสู้เพื่อรักษาโลกใบเดียวกันนี้ ไม่ให้ต้องพบวิบัติจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นๆ จนเกิดความสุดเหวี่ยงทางภูมิอากาศและกระแสการเคลื่อนที่ของน้ำในมหาสมุทร
อังเกลา แมร์เคิล ต้องพยายามตะล่อมอีก 19 ประเทศให้ออกแถลงการณ์เพื่อยึดมั่นและปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ร่วมลงนามไว้ที่ปารีส เรื่องข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเมื่อปี 2015 โดยเฉพาะเธอกำลังจะลงเลือกตั้งครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายนนี้ เธอจึงต้องจัดการประชุมให้อย่างน้อยต้องประสบผลสำเร็จเรื่องการพยุงรักษาข้อตกลงโลกร้อน
แม้จะมีการประท้วงที่ฮัมเบิร์กอย่างสาหัสสากรรจ์ แต่การประชุมก็ยังสามารถดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น จนประสบความสำเร็จด้วยดี ช่างต่างกันกับการประชุมอาเซียน , +3 , +6 ที่ล้มลงอย่างน่าหวาดกลัวที่พัทยา
ย้อนไปเมื่อตอนประชุม G7 ที่อิตาลีก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยอมร่วมในการประกาศว่าจะยังคงอยู่ในข้อตกลงปารีสเรื่องโลกร้อนหรือไม่ บอกว่าจะกลับไปตรึกตรองดูอีกที
แต่ในที่สุด ก็ประกาศโครมครามที่สวนกุหลาบ, ทำเนียบขาว ว่าประเทศสหรัฐฯ จะขอออกจากข้อตกลงปารีสอย่างแน่นอน
แมร์เคิล จึงต้องทำงานหนักในการประชุม G20 ครั้งนี้ เพื่อไม่ให้อีก 19 ประเทศ มีอาการไม่แน่ใจและอาจเดินตามสหรัฐฯ ช้างตัวใหญ่ของการประชุมก็เป็นได้ โดยมีข่าวที่พูดกันหนาหูว่า อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบียกำลังเกิดอาการสองจิตสองใจจะไม่ยอมร่วมประกาศกับ G20 เรื่องโลกร้อน เพราะอินโดนีเซียมีเหมืองถ่านหินมาก (และมีลูกค้าใหญ่ของประเทศโง่ๆ เช่นประเทศไทย ที่ยังปักหลักซื้อถ่านหินจากเขาอย่างไม่ยอมเลิกรา) ส่วนซาอุฯ ก็เป็นผู้ขายน้ำมันรายใหญ่ของโลกนั่นเอง
แต่ในที่สุด แมร์เคิลก็ทำสำเร็จคือ 19 ผู้นำยอมลงนามในประกาศสำคัญเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่าจะเดินหน้ายึดมั่นในข้อตกลงปารีสเรื่องโลกร้อน แม้กษัตริย์ซาอุฯ จะไม่ร่วมประชุม (คงกลัวขายหน้าที่แพ้เรื่องประกาศศึกกับกาตาร์) โดยส่งรัฐมนตรีมาแทน
ในแถลงการณ์ร่วมของ G20 เรื่องโลกร้อน แมร์เคิลได้ใส่ดอกจันไว้เสร็จสรรพว่า ยกเว้นเพียงประเทศสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะขอไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส
เป็นการประจานช้างตัวโต เพื่อบอกกล่าวให้ลูกหลานได้รู้กันไปว่า อากาศและน้ำที่กำลังมีลักษณะสุดเหวี่ยงนี้ ใครเป็นตัวขัดขวางความพยายามของคนทั้งโลก อย่างที่ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส ย้อนเกล็ดทรัมป์ว่า Make Our Planet Great Again หรือที่ผู้เข้าร่วมประชุม G20 ครั้งนี้ บางคนแอบมานินทาช้างตัวใหญ่ว่า มันไม่ใช่ America First! หรอกนะ
แต่เป็น America Last! ต่างหาก ที่เป็นตัวรั้งท้าย และทำลายความเป็นผู้นำโลกของตนเองลงอย่างสิ้นเชิง.