แม้ว่าโฆษกทำเนียบขาว ฌอน สไปเซอร์ จะแถลงที่ทำเนียบขาวสรุปการเดินทางของทรัมป์ว่าเป็นทริปที่ประสบความสำเร็จยิ่งต่อประเทศสหรัฐฯ และชาวอเมริกันทั้งปวง
แต่ก็ถูกสื่อชั้นนำของสหรัฐฯ ดาหน้ากันปฏิเสธอย่างเต็มที่ ถึงขนาดยกมือขึ้นถามสไปเซอร์ว่าในทริปนี้ของท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ทำไมไม่ยอมให้มีการแถลงข่าวกับสื่อเลย ซึ่งผู้ที่ติดตามการเดินทางครั้งนี้ประจักษ์กับสายตาทั่วโลกว่า ไม่มีการจัดแถลงข่าวของทรัมป์กับผู้นำคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตะวันออกกลาง เพราะที่ประเทศซาอุฯ นั้น นักข่าวไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือตั้งคำถามใดๆ มีแต่รับฟังการแถลง (จากทางการซาอุฯ) อย่างเดียว
จะมีข้อยกเว้นก็ที่อิสราเอล ซึ่งนับเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดมากที่สุดในละแวกนั้น ก็มีการแถลงข่าวร่วมระหว่างทรัมป์กับนายกฯ เนทันยาฮู เป็นการแถลงข่าวสั้นๆ แล้วก็เลิกราเร็วมาก เมื่อถูกนักข่าวอเมริกันนำประเด็นแหลมคมออกมาถาม กรณีประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดปากในทำเนียบขาวพูด (จะพลั้งปาก หรือโดยมีเจตนาคุยโอ่ก็ตาม) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ถึงการที่สหรัฐฯ ห้ามนำแล็ปท็อปขึ้นเครื่องบิน ซึ่งทำให้เสียลับ เมื่อทรัมป์ไปคุยว่าข่าวกรองนี้ได้มาจากอิสราเอล
คำถามนี้ ทำเอานายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูหน้าเจื่อน แล้วพูดกลบเกลื่อนว่าเขาไม่คิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ ได้พูดเอ่ยชื่อของประเทศอิสราเอลว่าเป็นผู้ให้ข่าวกรอง นับเป็นการพูดปกป้องทรัมป์อย่างออกนอกหน้า (เบื้องหลังก็คือ ลูกเขย Jared ของทรัมป์มีความสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูมาก ตั้งแต่สมัยที่เขายังเรียนวิทยาลัย และได้เดินทางจากสหรัฐฯ ไปร่วมอาสาทำงานที่ Kibutz ในอิสราเอล ได้เคยพบปะกับเนทันยาฮู สมัยที่เนทันยาฮู ยังไม่ได้ทำงานการเมืองด้วยซ้ำ และเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลแล้ว ในเวลาที่เนทันยาฮูเดินทางมาสหรัฐฯ (มาหลายสิบเที่ยวแล้ว) ก็ได้เคยมีโอกาสพักที่บ้านพักของ Jared ที่ NYC
แม้นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู จะปกป้องทรัมป์ แต่เสียงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอลที่พูดกับหนังสือพิมพ์ที่นั่นกลับพูดแบบไม่พอใจทรัมป์ โดยบอกว่าเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ในเมื่อเจ้าของข่าวกรองไม่ได้รับการปรึกษาขออนุญาต ก่อนเอาข่าวกรองนี้ไปเปิดเผยกับฝ่ายที่ 3 ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลัวอันตรายจะถึงชีวิตต่อผู้ที่เอาข่าวนี้มาบอก (เพราะอาจเป็นสายลับของอิสราเอล ที่ฝังตัวอยู่กับทางการ ISIS ในระดับสูงเป็นเวลานานแล้ว)
สรุปว่า แทบไม่มีการแถลงข่าวโดยทรัมป์ตลอด Trip นี้ นอกจากที่อิสราเอล เพราะทรัมป์คงตระหนักดีว่า ปัญหาที่รุมเร้ามากที่ทำเนียบขาว กรณีทีมของเขาเมื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ได้มีการติดต่อลับๆ กับรัสเซีย และถ้ามีการแถลงข่าว คำถามเรื่องที่บ้านก็จะโผล่ออกมาจากคำถามของนักข่าวอเมริกันนั่นเอง!! เรียกว่าเป็นการไม่ไว้หน้าท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเคยมีธรรมเนียนจะให้เกียรติและศักดิ์ศรีต่อตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะเดินทางออกต่างประเทศ จะไม่มีการโจมตีทางการเมืองต่อท่านประธานาธิบดีในอดีต แต่ไม่ใช่สำหรับทรัมป์!
สำหรับการประชุม NATO ที่บรัสเซลส์ มีการแถลงของเลขาธิการ NATO คือ Jens Stoltenberg น่าสนใจมาก เขาบอกว่ามีความเห็นร่วมกันที่จะจัดการกับการก่อการร้าย ISIS แต่ก็มีความเห็นต่างกันในกรณีรัสเซีย อันนี้เขาไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ แต่เป็นที่รับทราบว่า ตลอดช่วงหาเสียงของทรัมป์ ได้พูดชื่นชมประธานาธิบดีปูติน แห่งรัสเซียแบบออกนอกหน้า และในบรรดาสมาชิก NATO แทบทั้งหมดก็จะมีความหวาดระแวงรัสเซียอยู่เสมอ (ยกเว้นตุรกีที่ในช่วงหลังๆ ได้คบค้ากับรัสเซียอย่างสนิทสนม หลังจากถูกรัสเซียคว่ำบาตรไม่ยอมซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรจากตุรกี และห้ามนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียไปประเทศตุรกี --- หลังจากเหตุการณ์นักบินรัสเซียถูกยิงตกโดยตุรกี)
ท่านเลขาธิการ NATO ยังทำหน้าค่อนข้างตกใจ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ไปกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดอาคารหลังใหม่ของ NATO (ซึ่งสร้างระลึกถึงเหตุการณ์ 9-1-1 และได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ) โดยทรัมป์ได้ไปต่อว่าสมาชิก NATO ถึง 23 ประเทศที่ไม่ได้จ่ายค่าบำรุงให้ NATO มีแค่ 5 ประเทศที่จ่ายครบ เขาบอกว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน
ช่วงนั้น บรรดาเหล่าผู้นำ NATO ต่างหันมามองหน้ากันเลิ่กลั่กทีเดียว เพราะมันน่าจะเป็นคำพูดที่พูดในห้องที่ปิดมิดชิด ไม่ใช่มาพูดต่อหน้าสาธารณะเช่นนี้
และที่น่าผิดหวังต่อบรรดาผู้นำ NATO ก็คือการที่ทรัมป์ไม่ตอกย้ำให้ความมั่นใจถึงหลักการ ONE FOR ALL, ALL FOR ONE ที่เป็นโซ่คล้องใจบรรดาสมาชิกNATO และอยู่ในมาตราที่ 5 ของกฎบัตร NATO
ปฏิกิริยาของพี่ใหญ่สุดในสหภาพยุโรป คือนายกรัฐมนตรี Angela Merkel ที่สรุปอย่างอัดอั้นตันใจว่า ต่อแต่นี้พวกเราชาวยุโรปต้องตระหนักว่า พวกเราจะต้องพึ่งตัวเราเอง อย่าไปหวังพึ่งพาคนอื่นนอก (สหภาพยุโรป) เขตของเรา ที่เขาอาจเคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา เพราะเธอย้ำว่า เธอได้รู้รสชาติด้วยตนเองเมื่อไม่กี่วันมานี้ (เมื่อร่วมประชุมทั้ง NATO และ G7)
เธอเองโดนตอกหน้าจากทรัมป์ว่า เยอรมนีแย่มาก (Very Bad!) ในเรื่องการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ จนหนังสือพิมพ์ ทั้ง ดา-สปีเกิล และเดอะ บิลด์ ได้ออกมาตอกกลับว่า กรณีที่รถยนต์เยอรมนีขายดิบขายดีในสหรัฐฯ (ไม่ว่าจะเป็น Mercedes Benz ฯลฯ) ก็เพราะคุณภาพที่ดีเยี่ยมไงล่ะ รถยนต์สหรัฐฯ ต้อง Do Better ซิ ทำไมสหรัฐฯ ไม่ผลิตรถยนต์สมรรถนะดีเยี่ยมมาสู้ล่ะ? หน้าของ Merkel เจื่อนมากเมื่อเจอทรัมป์ Bully เอาขนาดนี้ ทั้ง 2 นั่งติดกันในการประชุม NATO
รวมถึงผู้นำฝ่ายพรรคคู่แข่งของเยอรมนี คือนาย Martin Schulz ซึ่งจะเป็นตัวแทนพรรคสังคมนิยม SPD แข่งกับ Merkel ในเดือนกันยายน เขาอดรนทนไม่ไหว เมื่อประเทศเยอรมนีโดนต่อว่าในกรณีที่ผลิตรถยนต์คุณภาพดีเกินไป จนทำให้ได้เปรียบดุลการค้าสูงมากกับสหรัฐฯ (รวมทั้งเครื่องจักรกลต่างๆ ที่เยอรมนีขายดิบขายดีไปทั่วโลก... ประกอบกับคนเยอรมันมีนิสัยไม่ใช้จ่ายเกินตัวแบบคนอเมริกัน ก็เลยไม่ได้ซื้อข้าวของจากสหรัฐฯ เท่ากับคนอเมริกันซื้อของจากเยอรมนี)นาย Schulz ออกมาวิพากษ์สหรัฐฯ ว่านายทรัมป์ทำให้สหภาพยุโรปอ่อนแอลง ซึ่งเป็นคำวิพากษ์ที่รุนแรงมาก คือแทนที่จะทำให้ยุโรปและ NATO สามัคคีและแข็งแกร่งขึ้น กลับทำให้เกิดการลังเลแตกแยก
รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ก็ออกมาวิพากษ์ทรัมป์อย่างรุนแรง เขาเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงอาการไม่พอใจทรัมป์ตั้งแต่วันที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายนด้วยซ้ำ
ที่ Sicily ในการประชุม G7 ทรัมป์ก็ทำเอาวงเกือบแตก เมื่อเขาไม่ยอมให้ใส่ในแถลงการณ์ร่วม G7 เรื่องการร่วมกันเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลง Paris Accord ป้องกันวิกฤตภาวะเรือนกระจกโลกร้อน และเรื่องการช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามจากซีเรีย, ลิเบีย
ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นปัญหาที่หนักอกของยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุม G7 ที่เลือกเอาเมืองซิซิลี ที่มีผู้อพยพเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งจำนวนมหาศาล และยังไม่หยุดลดน้อยถอยลง
สมเด็จพระสันตะปาปาเอง เมื่อได้พบกับทรัมป์ที่กรุงวาติกัน ก็ทรงทำการบ้านมาอย่างดี ท่านตระหนักดีว่าทรัมป์ตอกย้ำตลอด 1 ปีครึ่งของการหาเสียงว่า ไม่เอาทั้ง 2 เรื่อง คือต่อต้านผู้อพยพ และปิดกั้นไม่รับมุสลิมเข้าสหรัฐฯ และจะฉีกข้อตกลงที่โอบามาไปลงนามไว้เมื่อปี 2015 ที่ปารีส (อันเป็นงานชิ้นโบแดงของโอบามาอีกชิ้นหนึ่ง) โป๊ปฟรานซิสจึงทรงเตรียมมอบหนังสือเรื่องวิกฤตโลกร้อนไว้ให้แก่ทรัมป์ และทรงรับสั่งว่าขอให้อ่านให้ได้ คล้ายๆ ขอคำสัญญาจากทรัมป์ว่าจะต้องอ่านให้ได้ และถ้าสังเกตดู Body Language ของโป๊ป จะไม่เห็นรอยยิ้มสดใสของท่านขณะพบกับทรัมป์และครอบครัว ช่างต่างกับครั้งที่เปิดให้ผู้นำต่างประเทศท่านอื่นๆ ที่เข้าเฝ้าพระองค์อย่างเห็นได้ชัด
ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นห่วงมาก ถ้าข้อตกลงโลกร้อนที่ปารีสจะล่มลง กรณีที่ทรัมป์ฉีกข้อตกลงเพราะเกาะญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรกๆ ที่จะจมน้ำก่อนใครเพื่อน และขณะนี้ก็กำลังเผชิญหน้ากับความสุดขีดของธรรมชาติในเรื่องสึนามิถล่มอย่างหนักหนาสาหัสสำหรับการพบกันระหว่างทรัมป์กับผู้นำหนุ่มจากฝรั่งเศส มีเรื่องที่หนังสือพิมพ์ยุโรปและอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์พยายามข่มมาครงด้วยการกระชากดึงมือของมาครงเข้ามาหาตัวทรัมป์ เพื่อดูประหนึ่งว่ามาครงเป็นฝ่ายยื่นมือไปจับกับทรัมป์ ทำให้ดูว่าทรัมป์ยิ่งใหญ่กว่ามาครง แต่หนุ่มมาครงก็รู้ทัน จึงพยายามดึงมือของตนกลับมา และหนีบมือของทรัมป์แน่นมากแบบไม่ยอมให้มือของทรัมป์หลุดไป เพื่อไม่ให้ภาพออกมาว่าทรัมป์ข่มเขา จึงเป็นการจับมือที่นานมาก จนหนังสือพิมพ์บางฉบับของยุโรป บอกว่านี่มันเป็นการงัดข้อ บังคับด้วยกำลังจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้ฝ่ายของตนดูเพลี่ยงพล้ำนั่นเอง
ที่แสบที่สุด ก็คือการที่ผู้นำเยอรมนีได้เชิญโอบามามาร่วมงานสำคัญ ส่งเสริมประชาธิปไตยในวันเดียวกับที่เธอประชุม NATO โดยหลังจากไปประชุมกับทรัมป์เสร็จ เป็นช่วงรอยต่อก่อนไปประชุม G7 ที่อิตาลี เธอได้ปลีกตัวไปต้อนรับโอบามา ที่เป็นแขกรับเชิญไปนั่งสนทนาเรื่องประชาธิปไตยที่เวทีหน้าประตู Brandenburg
เป็นการเชิญกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพราะยังไงโอบามาก็หมดวาระแล้ว แต่โอบามามีคะแนนนิยมสูงมากในยุโรป ตั้งแต่ตอนเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเลยมาจนถึงวันนี้
ขณะที่ Merkel กำลังต้องหาเสียงรับเลือกตั้งสมัยที่ 4 เพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ฉวยโอกาสขึ้นเวทีกับโอบามา เพื่อเก็บคะแนนนิยมจากเขาด้วย ช่างตรงข้ามกับที่เธอเจอทรัมป์ต่อว่าอย่างเสียๆ หายๆ เรื่องการที่เยอรมนีได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ
คงเป็นประวัติศาสตร์ของทั้ง NATO และ G7 ที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ให้ความมั่นใจแก่มหามิตรยุโรป ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงความยึดมั่นและผูกพันร่วมกันในคุณค่าต่างๆ ต่อประชาธิปไตย, เสรีนิยม, โลกาภิวัตน์, ช่วยเหลือผู้อพยพ ดังเช่นที่ผู้นำคนอื่นๆ ของสหรัฐฯ เคยปฏิบัติมา
ด้านหนึ่ง คือทรัมป์ยังคงยึดมั่นในนโยบายที่ดุดันในช่วงที่เขาหาเสียงเอาไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
แต่อีกด้านหนึ่ง คือเขากำลังแปลกแยกจากมหาพันธมิตรเก่าแก่ดั้งเดิมในยุโรป ซึ่งทำให้เกิดสมการใหม่ ที่อาจผลักไสให้ยุโรปหันไปหาพันธมิตรอื่นๆ ที่อาจเคยเป็นปรปักษ์ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีนก็ตาม.