กลายเป็นกระแสที่ทำให้ผู้บริหารบริษัทไอทีนิ่งเฉยไม่ได้ สำหรับกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่า เขาจะถอนชื่อสหรัฐอเมริกาออกจาก “ข้อตกลงโลกร้อนปารีส” ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 โดยผู้ที่เคลื่อนไหวหนักที่สุดคือซีอีโอเทสลาอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ทวีตว่า เขาตัดสินใจลาออกจากคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดี เพราะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่จะส่งผลเสียต่อสหรัฐอเมริกา และต่อโลก
ก่อนหน้านี้ มัสก์ เปิดเผยต่อสาธารณะชนว่า จะยอมอดทนอยู่ในคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเรื่องการอนุญาตบุคคลเข้าเมือง หรือคำสั่งแบนมุสลิม 6 ประเทศ แต่จุดแตกหัก คือ เรื่องโลกร้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทสลา (Tesla) คือ บริษัทที่แสดงตัวว่า มีอุดมการณ์สร้างสรรค์เทคโนโลยีสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งรถพลังงานไฟฟ้า และระบบพลังงานแสงอาทิตย์
Am departing presidential councils. Climate change is real. Leaving Paris is not good for America or the world.
— Elon Musk (@elonmusk) June 1, 2017
ข้อความของมัสก์ ระบุว่า เรื่องโลกร้อนเป็นของจริง การตัดสินใจนี้เป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับสหรัฐอเมริกา และโลก
เช่นเดียวกับมัสก์ ซีอีโอของดีสนีย์ อย่างโรเบิร์ต ไอเกอร์ (Robert Iger) ก็ตัดสินใจลาออกจากคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีเช่นกัน
As a matter of principle, I've resigned from the President's Council over the #ParisAgreement withdrawal.
— Robert Iger (@RobertIger) June 1, 2017
ด้านผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก แสดงความกังวลว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดี จะทำให้เยาวชนในอนาคตพบกับความเสี่ยง จุดนี้สอดคล้องกับที่หนุ่มซัคเกอร์เบิร์ก พูดต่อบัณฑิตของฮาร์วาร์ด (Harvard) ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดวิกฤตโลกร้อนก่อนที่โลกจะถูกทำลาย
หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอย่างอินเดีย และจีน ถูกมองว่า จะเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ประเด็นนี้ทรัมป์ เชื่อว่า ข้อตกลงโลกร้อนปารีส เอื้อต่ออินเดีย และจีน เป็นพิเศษ ท่ามกลางประเทศกำลังพัฒนารายอื่นที่ยังไม่มีโอกาสเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีต้นทุนต่ำมาเป็นพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่า โดยล่าสุด จีน อินเดีย และประเทศในยุโรป ต่างให้คำมั่นที่จะรักษาข้อตกลงนี้ต่อไป แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวก็ตาม
ทิม คุ๊ก (Tim Cook) ซีอีโอแอปเปิล ก็กล่าวในจดหมายถึงพนักงานแอปเปิลว่า ความพยายามของเขาไร้ผล ทำให้ไม่สามารถโน้มน้าวให้ทรัมป์ กลับไปทำข้อตกลง ซึ่งจะการันตีได้ว่า สหรัฐฯ จะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยซีอีโอแอปเปิล ระบุว่า จะยังคงผลักดันการใช้พลังงานสะอาดที่แอปเปิล รวมทั้งบริษัทซัปพลายเออร์รายอื่นของแอปเปิล
ด้านซีอีโอกูเกิล ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ก็โพสต์ข้อความต่อต้านการตัดสินใจครั้งนี้เช่นกัน
Disappointed with today’s decision. Google will keep working hard for a cleaner, more prosperous future for all.
— Sundar Pichai (@sundarpichai) June 1, 2017