xs
xsm
sm
md
lg

“อเมริกากลายเป็นประเทศที่ 3” ดร.ธรณ์ วิเคราะห์ “ทรัมป์” ออกจาก “ข้อตกลงหยุดโลกร้อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต สปช. วิเคราะห์กรณี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุ กระทบแน่ เพราะงดให้เงินสนับสนุนแสนล้านบาท ในฐานะประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% อีกทั้งแม้แต่คนในอเมริกาก็ไม่เห็นด้วย ซีอีโอเทสล่าออกจากที่ปรึกษาทำเนียบขาว บริษัทน้ำมันที่คิดแผนพลังงานสะอาดก็เจ๊ง แถมติดไฟสีเขียวบนยอดตึกประท้วง กลายเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากซีเรีย กับ นิการากัว

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat วิเคราะห์ถึงกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจนำสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทั่วโลกกังวลถึงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ หากไม่ทำอะไร ภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) โลกจะร้อนขึ้น 4.2 องศาเซลเซียส ทำให้ทะเลและภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงมหาศาล ฝนแล้ง น้ำท่วม ปะการังฟอกขาว ปลาหายไป ฯลฯ จะตามมา ที่สำคัญ การทำนายด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์จะไม่แม่นยำต่อไป เพราะโลกจะแปรปรวนถึงขีดสุด ประเทศที่เดือดร้อน ก็คือ ประเทศที่พึ่งพิงทรัพยากร ดินฟ้าอากาศเพื่อการเกษตร ทะเลเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงเมืองที่ปกติน้ำก็ท่วมง่ายอยู่แล้ว ก็จะเดือดร้อนหนักขึ้น ซึ่งเหตุดังกล่าวไม่ใช่ต้องรอถึงปี 2100 แต่จะค่อยๆ ร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ทุกประเทศเห็นความลำบากที่จะเจอกันถ้วนหน้า จึงพยายามตกลงกัน หลังจากผ่านช่วงเวลายาวนานของการเจรจา ในที่สุดก็เกิดข้อตกลงปารีส ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2015 โดยมี 191 ประเทศลงนาม

โดยจะทำทุกทางให้ในปี 2100 โลกไม่ร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาล นายบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นยินดีลงนาม จีนก็ยินยอม ยุโรปที่เป็นผู้ผลักดันก็ตอบรับเป็นอย่างดี แต่ประเทศที่ส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ เช่น มัลดีฟส์ เพราะอยู่เหนือระดับน้ำทะเลนิดเดียว ข้อตกลงรวมถึงความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ ให้อยู่ในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้หมด (ทะเล ป่า ฯลฯ) การรายงานทุกประเทศในข้อตกลงทุก 5 ปี และสุดท้ายแต่สำคัญ คือ ประเทศที่ร่ำรวยจะช่วยสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน

แต่แล้ว นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวตั้งแต่หาเสียงว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องตลก หากตนได้เป็นประธานาธิบดี จะทบทวน และอาจนำสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส อ้างว่า จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งยังช่วยให้คนอเมริกาไม่ตกงาน 6.5 ล้านคน เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว นายทรัมป์ก็ประกาศยุติสงครามถ่านหิน และให้ผ่อนคลายกฎระเบียบของรัฐบาลกลางว่าด้วยการผลิตถ่านหิน ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าอเมริกาจะหันไปสนใจพลังงานฟอสซิล อันที่จริง พลังงานไฟฟ้าในอเมริกาไม่ได้มาจากถ่านหิน พลังงานส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ และจะใช้ต่อไปอีกนาน เพราะอเมริกาสามารถขุด Shale Gas (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดาน) ได้มหาศาล ซึ่งประเทศอื่นขุดได้แต่ทำราคาไม่ได้ เพราะท่อก๊าซและระบบส่งดีสุดในโลก ขุดที่ไหนก็สามารถส่งไปตามท่อได้ แต่ประเทศอื่นไม่ได้เป็นเช่นนั้น บริษัทจากอเมริกาไปลงทุนในออสเตรเลีย ในจีนก็ต้องขาดทุน เพราะขุดได้แต่ไม่รู้จะส่งอย่างไร ถ้าลงทุนใหม่หมดก็ทำได้แต่ราคาสูง แนวคิดของอเมริกาคือ พลังงานไฟฟ้าในประเทศเอามาจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จะขุดถ่านหินเพื่อส่งออกไปขายประเทศอื่น

นายทรัมป์ ตัดสินใจแถลงว่า อเมริกาขอออกจากข้อตกลงปารีส ด้วยประโยคที่ว่า “I was elected to represent the citizens of Pittsburgh, not Paris” และทิ้งท้ายไว้ว่า อเมริกายังเปิดทาง หากมีการทบทวนข้อตกลงใหม่ และอเมริกาไม่เสียประโยชน์ ก็อาจจะตกลงด้วย ทำให้ผู้นำฝั่งยุโรปไม่พอใจ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และ อิตาลี ระบุว่า ข้อตกลงปารีสแก้ไขไม่ได้ จากนั้นผู้นำหลายประเทศกล่าวแสดงความไม่พอใจ อาทิ นายทาโร อาโซะ รมว.คลังญี่ปุ่น กล่าวว่า ไม่รู้สึกแค่ผิดหวัง แต่รู้สึกโกรธ, นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า การตัดสินใจของนายทรัมป์ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างถึงที่สุด ส่วน นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า “ขอบอกกับชาวอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ทุกคน วิศวกร นักลงทุน และประชาชนผู้มีความรับผิดชอบ ทุกคนที่เศร้าใจกับการตัดสินใจของนายทรัมป์ ผมอยากบอกว่า พวกคุณจะพบบ้านที่สองในฝรั่งเศส” และกล่าวตบท้ายว่า “Make Our Planet Great Again”

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หลายคนออกมาต่อต้าน อาทิ นายอีลอน มัสก์ บุคคลที่ทรงอิทธิพลเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทสล่า (Tesla) เน้นพลังงานสะอาด ยังทำตามความฝันอีกหลายอย่าง เช่น ส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร กล่าวว่า “คุณออกจากปารีส ฉันจะออกจากรัฐบาลคุณเช่นกัน” จากนั้นก็ลาออกจากการเป็นทีมที่ปรึกษาทำเนียบขาว แม้แต่บริษัทน้ำมันขนาดยักษ์ ที่ดูเผินๆ น่าจะดีใจ แต่กลับไม่ใช่อย่างนั้น เช่น บริษัทเอ็กซอล กล่าวว่า แผนงานพลังงานสะอาดวางไว้หมดแล้ว แต่จู่ๆ ออกจากข้อตกลงปารีส แล้วแผนบริษัทที่เตรียมการไว้ก็ต้องพับแผนทั้งหมด เมื่อคืนที่ผ่านมา หลายตึกในอเมริกาติดไฟสีเขียวบนยอดตึก เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย เชื่อว่าในคืนนี้และคืนต่อๆ ไป คงมีตึกที่เข้าร่วมอีกมาก

การออกจากข้อตกลงปารีสของนายทรัมป์ จะทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา ที่เห็นชัดคือ สหรัฐอเมริกาจะเลิกสนับสนุนเงินช่วยเปลี่ยนโลกเป็นพลังงานสะอาด มูลค่านับแสนล้านบาท แม้สหรัฐอเมริกาจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ามันจะส่งผลมากกว่านั้น และเป้าหมายที่ข้อตกลงปารีสตั้งไว้ คงยากจะเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ยุโรปประกาศเดินหน้า จีนเองก็บอกว่าจะร่วมมือสุดๆ รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชียที่ออกมาบอกว่ารวมกันเราอยู่ สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย คงยังบอกไม่ได้ในระยะนี้ เพราะมันเป็นกระแสโลก มิใช่ดูอยู่เฉพาะแต่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ไทยก็ไปเซ็นสัญญาปารีส รวมทั้งความร่วมมือกับ SDG 17 ข้อที่สหประชาชาติประกาศ ตอนนี้ที่บอกได้ คือ อเมริกากลายเป็นประเทศที่ 3 ที่ไม่ยอมอยู่ในข้อตกลงนี้ อีก 2 ประเทศที่ไม่ยอมแม้แต่ลงนาม คือ ซีเรีย กับ นิการากัว สองประเทศนั้นคงยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ ประเทศใหญ่อย่างอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น