xs
xsm
sm
md
lg

การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ก้าวที่พลาดของโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


มีเพียง 2 ประเทศจาก 197 ประเทศที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ในการประชุมสมาชิกกรอบสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2558

สองประเทศที่ว่านี้คือ ซีเรียกับนิการากัว

ซีเรียไม่ส่งตัวแทนไปร่วมประชุม เพราะตกอยู่ในภาวะสงครามการเมืองมาหลายปี และองค์การสหประชาชาติ มีมติคว่ำบาตรรัฐบาลประธานาธิบดี อัล อัสซาด ในข้อหา ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความเสี่ยงที่ตัวแทนรัฐบาลจะไม่ได้รับวีซ่าเข้าประเทศฝรั่งเศส จึงตัดปัญหาด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม

ส่วนนิการากัวไม่เอาด้วยกับข้อตกลงปารีส เพราะเห็นว่า มาตรการในการลดปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงน้อยเกินไปไม่พอที่จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะนิการากัว ดำเนินนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปไกลแล้ว โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมด จนได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ ของพลังงานหมุนเวียน

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติพัฒนาแล้ว เป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน เป็นประเทศที่ 3 ที่ไม่เข้าร่วมในข้อตกลงปารีส หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ถอนตัวออกจากข้อตกลงที่นายบารัค โอบามา ไปเซ็นรับรองไว้เมื่อสองปีก่อน

เหตุผลของทรัมป์ คือ ข้อตกลงปารีสทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบประเทศอื่นๆ เพราะต้องให้เงินสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อนที่มีมูลค่าสูงมาก และมาตรการตามข้อตกลงจะทำให้สหรัฐฯ มีการเติบโตที่ลดต่ำลง ทำให้คนอเมริกันต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ทรัมป์บอกว่า เขาได้รับการเลือกตั้งจากชาวเมืองพิสต์เบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ไม่ใช่คนปารีส

ก่อนหน้านี้ในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์บอกว่า เรื่องภาวะโลกร้อนนั้น เป็นเรื่องโกหกที่จีนกุขึ้น

การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส จึงเป็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ คือ ผลประโยชน์ของอเมริกันต้องมาก่อนเรื่องอื่นๆ หรือ America First

แต่เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาของโลก เป็นเรื่องอนาคตของมนุษยชาติ เป็นภัยคุกคามทุกประเทศ ทุกเชื้อชาติบนโลกใบนี้ ไม่ใช่ปัญหาภายในของสหรัฐฯ อย่างเช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาระบบสาธารณสุขที่ทรัมป์ จะทุบโต๊ะอย่างไรก็ได้

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน เป็นความรับผิดชอบของทุกๆ ประเทศในโลกนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน

ดังนั้น การประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของทรัมป์ นอกจากจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว คนอเมริกันเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับผู้นำของตน และแสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะยังคงยึดมั่นในข้อตกลงปารีสต่อไป

ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ซึ่งตามการกล่าวอ้างของทรัมป์ว่าจะได้รับความเสียหายจากข้อตกลงปารีส แทนที่จะยินดีกลับประกาศตัวเสมือนรัฐอิสระ ที่จะดำเนินภารกิจแก้ไขภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวโลกต่อไป

นักธุรกิจอย่างน้อยสองคน คือ นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และนายโรเบิร์ต ไอเกอร์ ซีอีโอวอลท์ ดิสนีย์ ประกาศลาออกจากที่ปรึกษาของทรัมป์ เพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

ในขณะที่ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อย่างเช่น ไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก แม้แต่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่างเอ็กซอน โมบิล ก็ต่างประกาศเจตจำนงว่า จะยึดมั่นในข้อตกลงปารีสต่อไป

บริษัทเหล่านี้ต่างเดินหน้าไปไกลแล้วกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เฟซบุ๊กใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้กับดาต้า เซ็นเตอร์ของตน

การตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ทำให้ทรัมป์กลายเป็นหมาหัวเน่าของชาวอเมริกัน และชาวโลกไปทันที เป็นสิ่งที่เขาเองคงไม่คิดมาก่อนว่า จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงถึงเพียงนี้

สาระสำคัญในข้อตกลงปารีสคือ จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกยุคก่อนอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษนี้ และจะพยายามควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาหลังจากนั้น

ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเก่า มีภาระต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาในการปรับปรุงขีดความสามารถเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน

หากประเมินคร่าวๆ ตามข้อตกลงปารีส สหรัฐอเมริกาจะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนเป็นเงินปีละหลายหมื่นล้านเหรียญ และจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่เห็นด้วย ว่าทำไมสหรัฐฯ ต้องแบกภาระในการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ เหมือนในกรณีนาโต้ที่ทรัมป์ออกมาทวงเงินลงขันจากเยอรมนี และประเทศสมาชิกอื่นๆ

ข้อตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งประเทศที่ลงนามให้สัตยาบัน จะถอนตัวไม่ได้จนกว่าจะครบ 3 ปีหลังข้อตกลงมีผลบังคับ และการถอนตัวจะมีผลหลังจากประกาศถอนตัว 1 ปี

ดังนั้น การประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จะมีผลในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งจะตรงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งต่อไป และเรื่องนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นต่อสู้ในการหาเสียงด้วยอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น