xs
xsm
sm
md
lg

“ทำให้โลกของเรายิ่งใหญ่อีกครั้ง : Make Our Planet Great Again”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในที่สุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลก 195 ประเทศเมื่อปลายปี 2558 เรียบร้อยไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาตามเวลาในสหรัฐฯ คำประกาศดังกล่าวได้รับการประณามจากผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและนักธุรกิจรายใหญ่ๆ จำนวนมาก

ผมเองได้อ่านคำปราศรัยที่มีความยาว 6 หน้ากระดาษ จำนวนกว่า 2,900 คำอย่างตั้งใจ พบว่ามีคำว่า “เชื่อผมซิ (Believe me)” ถึง 5 ครั้ง แทนที่เขาจะใช้ข้อมูลเชิงวิชาการมาอ้างอิงให้เป็นหลักเป็นฐานแต่กลับใช้วิธีการโน้มน้าวให้เชื่อในสิ่งที่เขาพูด ผมรู้สึกว่าเหมือนกับคำปราศรัยบนเวทีหาเสียงของนักการเมืองทั่วๆ ไป ไม่ใช่ในฐานะประธานาธิบดีที่แถลงอย่างเป็นทางการในทำเนียบรัฐบาลประเทศมหาอำนาจของโลก

ผมเชื่อว่า ผู้ที่ได้ติดตามนายทรัมป์มาตลอดในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา คงจะไม่รู้สึกประหลาดใจมากนัก เพราะในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เขาได้กล่าวหลายครั้งว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องหลอกลวงที่จัดฉากโดยประเทศจีน เพื่อประโยชน์ของประเทศจีน เพื่อที่จะทำให้โรงงานของสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันได้” ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา

แต่ในคำปราศรัยครั้งนี้ไม่มีคำว่า “Climate Change” เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่ตนเองได้เคยพูดไว้แม้แต่คำเดียว แต่กลับมีคำว่า “สิ่งแวดล้อม (Environment)” มาแทนถึง 8 ครั้งซึ่งอ้างถึงเรื่องจะทำให้อากาศสะอาด น้ำสะอาดในสหรัฐอเมริกา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไปห่อหุ้มโลกทั้งใบไว้ หมายถึงสภาพอากาศสุดขั้ว ร้อนจัดแล้งจัด ฝนหนัก ไฟป่า รวมทั้งระดับน้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งในระยะหลังสหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงและถี่ขึ้นในบริเวณเมืองชายฝั่งทะเล หมายถึงการแพร่ของโรคระบาดและการขาดแคลนอาหารของโลก แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เลย

สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเต็มไปด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือการทำความจริงที่คมชัดอยู่แล้วให้พร่ามัว จากนั้นก็ทำในสิ่งที่ตนต้องการอย่างไร้เหตุผล ราวกับปลาหมึกยักษ์พ่นน้ำหมึกเพื่ออำพรางตนเอง

ผมขอยกตัวอย่างสัก 5 ประเด็นดังต่อไปนี้

หนึ่ง นายทรัมป์กล่าวว่า “ผมได้รับการเลือกตั้งมาให้เป็นผู้แทนของชาว Pittsburgh ไม่ใช่ปารีส”

ผมได้ค้นวิกิพีเดียพบว่า เมือง Pittsburgh เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “เมืองเหล็กกล้า” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสกปรก แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่กว่า 1,600 บริษัท จ่ายเงินเดือนให้พนักงานกว่า 20,700 ล้านเหรียญต่อปี ผมเข้าใจว่านายทรัมป์ยกเมืองนี้ขึ้นมาก็คงจะหมายถึงการสร้างงาน (สกปรก)

อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีเมือง Pittsburgh ได้ออกมาตอบโต้ในทันทีว่า “80% ของผู้ลงคะแนนในเมืองนี้เลือกนางคลินตัน” และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวสหรัฐอเมริกาพบว่า ในทุกรัฐมีผู้เห็นด้วยกับการอยู่ร่วมกับข้อตกลงปารีส ตั้งแต่ 52% ถึง 77% (ที่มา Climate Change Communicationสำรวจโดยมหาวิทยาลัย Yale)

นี่คือการบิดเบือนความจริง ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการบอกว่า “ผมไม่ใช่ผู้แทนของปารีส” การนำปารีสมาเปรียบเทียบกับ Pittsburgh ก็เพื่อลดความสำคัญของข้อตกลงปารีส ทั้งๆ ที่ “ปารีส” คือเมืองที่ประชาคมโลกร่วมกันสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสำคัญที่กำลังคุกคามโลกอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

สอง นายทรัมป์อ้างว่า “ภายใต้ข้อตกลงปารีส จีนสามารถปล่อยเพิ่มขึ้นได้อีก 13 ปี จีนสามารถทำได้เท่าที่ตนต้องการ แต่เราทำไม่ได้ข้อตกลงปารีสจึงไม่เป็นธรรมอย่างมากกับสหรัฐฯ” (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในแผ่นภาพ)

ความจริงก็คือว่า “ข้อตกลงปารีส” ไม่ได้มีการบังคับ เป็นความสมัครใจโดยให้แต่ละประเทศเสนอมาเองว่าจะลดการปล่อยลงเท่าไรก่อนถึงปี 2030 แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

อย่าลืมความจริงนะครับว่า ปัจจุบันชาวโลกเกือบ 2 พันล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังยากจน ในหลายประเทศการ “พัฒนา” เพิ่งเริ่มต้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก่อนประเทศกำลังพัฒนาถึงเกือบร้อยปี

อย่าลืมว่า ก๊าซที่ปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศจะมีอายุยาวนานตลอดไปจนกว่าพืชจะนำไปใช้จึงจะลดลงได้ ดังนั้น ประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุโรป และสหรัฐอเมริกาต่างก็ได้พยายามลดการปล่อยลง และลดได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย (ดูกราฟอีกครั้งครับ)

ถ้าจะอ้างความเป็นธรรมที่ประเทศจีนและอินเดียปล่อยได้ แต่สหรัฐอเมริกาทำไม่ได้ ก็อย่าตัดตอนประวัติศาสตร์ และอย่าบิดเบือนความจริง

สาม นายทรัมป์ ให้เหตุผลว่า “แม้ว่าทุกประเทศทำตามข้อตกลงปารีส อุณหภูมิของโลกก็จะลดลงน้อยมาก (พร้อมทำมือประกอบ) คือ ลดลงได้เพียง 0.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น” ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ให้ข้อมูลในภายหลังว่า อ้างจากผลงานวิจัยของ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์)

แต่เจ้าหน้าที่ของ MIT ได้ชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิดของประธานาธิบดีทรัมป์ ผลงานวิจัยบอกว่า ถ้าชาวโลกไม่มีนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศเลยในปี 2100 อุณหภูมิของผิวโลกจะสูงถึง 4.5 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม) แต่ถ้าทำตามข้อตกลงปารีสคือร่วมกันลดการปล่อยก๊าซ (ตามที่เสนอมา) จนถึงปี 2030 ในปี 2100 อุณหภูมิจะลดลงมาเหลือ 3.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่เป้าหมายของที่ประชุมปารีสบอกว่าไม่ควรเกิน 2.0 องศาเซลเซียส (ดูภาพประกอบ)

ส่วนตัวเลข “0.2 องศาเซลเซียส” ที่ถือว่าน้อยนิดนั้น เป็นผลการเปรียบเทียบระหว่างข้อตกลงปารีสกับผลการประชุมที่โคเปนเฮเกนซึ่งเป็นการประชุม COP15 เมื่อปี 2009 ไม่ใช่สาระหลักของงานวิจัย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า ทำเนียบขาวก็ห่วยได้ระดับเลิศเลย

สี่ นายทรัมป์อ้างว่า นอกเหนือจากข้อตกลงปารีส สหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินเข้า “กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)” ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจ่ายเงินรวมกัน 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปช่วยประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่รวมการช่วยเหลือด้านอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนมาก

ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้จ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์ ทรัมป์อ้างว่า “ไม่มีประเทศใดจ่ายมากเท่านี้หรือแม้แต่ใกล้เคียง ส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายอะไรเลย เชื่อผมซิ เงินดังกล่าวไม่ได้มาจากสมัยผม แต่มาจากก่อนที่ผมจะรับตำแหน่ง”

ความจริงแล้วกองทุนดังกล่าวก่อตั้งโดยสหประชาชาติในปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารวมทั้ง จีนและอินเดียด้วยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่จากเว็บไซต์ Factcheck.org (http://www.factcheck.org/2017/05/trump-paris-agreement/) ซึ่งอ้างถึงโดย Helin Jung (https://www.yahoo.com/celebrity/why-doesn-apos-t-trump-171944050.html) พบว่าสหรัฐอเมริกาเพิ่งจ่ายเพียง 500 ล้านดอลลาร์ (นับถึง 3 มีนาคม 2017 -หมายเหตุข้อมูลนี้ยังอาจคลาดเคลื่อน)

แต่แม้ว่าถ้าสหรัฐอเมริกาจ่ายถึง 3,000 ล้านดอลลาร์จริง เมื่อคิดเป็นจำนวนต่อหัวประชากรก็ประมาณ 9 ดอลลาร์ต่อคนถือเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในขณะที่สวีเดนจ่ายถึง 60 ดอลลาร์ต่อคนซึ่งสูงที่สุด สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอันดับ 9 และ 10 ตามลำดับ

ห้า นายทรัมป์ พูดถึง “ถ่านหิน” 8 ครั้ง อ้างว่าถ้าทำตามข้อตกลงปารีสจะทำให้คนตกงาน จีนและอินเดีย สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ แต่สหรัฐอเมริกาทำไม่ได้

แต่ความจริงคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐอเมริกาได้ถูกปลดระวางจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีโรงไฟฟ้าก๊าซและพลังงานหมุนเวียนเข้ามาแทน เพราะต้นทุนถูกกว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่นายทรัมป์อ้างถึงเลย (ดูรายละเอียดจากกราฟ)

การประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของประธานาธิบดีทรัมป์ในนามของประเทศสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ได้สร้างความผิดหวังให้กับคนจำนวนมากในโลก บ้างก็คือว่า “สู่จุดจบของโลก” (มีรูปประกอบ)

นอกจากนี้ผมคิดว่าการกระทำครั้งนี้ของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังสะท้อนถึงจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนด้วย ทั้งการบิดเบือนข้อมูล การไม่เชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ฟังเสียงของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการตีความผลงานวิจัยอย่างผิดพลาด เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งกลุ่มของตนเท่านั้น ไม่ใช่ของส่วนรวม

ในความเห็นของผม เราสามารถลดจุดอ่อนเหล่านี้ด้วยการรู้เท่าทันของภาคพลเมือง ที่จะต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง นี่คือสิ่งที่ผมเองได้พยายามทำมาตลอดครับ

สุดท้ายโปรดพิจารณาคำพูดของประธานาธิบดีหนุ่มของฝรั่งเศส ซึ่งผมรู้สึกกินใจมากๆ

“ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเราเป็นใครเราทั้งหมดควรร่วมกันรับผิดชอบเหมือนกัน เพื่อทำให้โลกของเรายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น