xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"คนจะช็อก": เหตุผลสำคัญ"สปส.-บิ๊กบี้" สั่งเพิ่มเวลารับเงินชราภาพ“ผู้ประกันตน”เป็น60ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยกับแนวคิดของ “บิ๊กบี้”พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม แก้กฎหมายขยายเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงาน พร้อมทั้งรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย

แค่ 3-4 วัน เสียงคัดค้านออกมากกว่าเสียงสนับสนุน
 
“สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ คือในช่วง 15-20 ปีนี้ เงินกองทุนไม่ได้มีปัญหา แต่อนาคต30 ปี มีปัญหาแน่ๆ คำถามคือ ถ้าเราค่อยๆปรับวันนี้ อนาคตก็จะไม่มีปัญหา ถ้าปล่อยไว้แล้วมาปรับตอนนั้นทีเดียวต้องทำหลายอย่าง“คนจะช็อก”ปัญหาคือเท่ากับว่าเราปล่อยปัญหาไว้จนลุกลาม ที่บอกว่าทำไปเพื่อความมั่นคงของกองทุน ก็อาจจะใช่ แต่ความมั่นคงของกองทุนก็คือความมั่นคงของผู้ประกันตน”

ข้างต้นเป็นคำอธิบายของ“นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล”เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต่อแนวคิดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม แก้กฎหมายขยายเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจาก 55 ปีเป็น 60 ปี

เลขาธิการสปส. ย้ำว่า ข้อกังวลเรื่องนี้ สปส.จะมีทีมวิชาการศึกษาและทำโมเดลการจ่ายเงินบำนาญแบบขั้นบันได สำหรับผู้ที่จะเกษียณอายุในช่วง 7 ปีนี้ โดยให้มีทางเลือกว่า จะเกษียณเลย แล้วรับบำนาญในสัดส่วนเดิม หรือถ้าอยู่ในระบบต่อ ก็จะมีการจูงใจ เช่น อาจจะได้รับเงินในเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเท่านี้ ของเงินบำนาญที่ได้รับไปก่อน โดยผู้ที่เลือกเกษียณที่อายุหลัง 55 ปีขึ้นไป เช่น เกษียณที่อายุ 58, 59 หรือ 60 ปี จะมีสูตรคำนวณที่แตกต่างกัน

ส่วนระยะยาว ก็จะกำหนดให้ทุกคนเกษียณและรับบำนาญที่อายุ 60 ปี ตอนนี้สูตรนั้นทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ รอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สปส. ในวันที่ 11 ก.ค. นี้ หากบอร์ดสปส. อนุมัติ ก็จะนำไปทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ปี2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องทำประชาพิจารณ์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากฎหมายทุกขั้นตอน

โดยหลักการ เรื่องการดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทยตอนนี้ต้องทำทั้งระบบ อย่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน (กสร.) ก็มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปี จากเดิมไม่มี ซึ่งผู้สูงอายุเองถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องพละกำลัง ดังนั้นจึงดูเรื่องของชั่วโมงการทำงาน เรื่องค่าตอบแทนรายชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของสปส. ก็เตรียมที่จะแก้พ.ร.บ.ประกันสังคมเช่นเดียวกันกับการขยายเวลาการอยู่ในระบบออกไปเป็น 60 ปี แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่กังวล โดยเฉพาะผู้ที่ใกล้จะเกษียณอายุการทำงานแล้ว

ย้อนกลับมาดู“พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533” ใน หมวด 7 ว่าด้วย“ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ”ระบุว่า ตาม มาตรา 76 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน (180 เดือน) ไม่ว่าระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตาม มาตรา 77 ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ได้แก่ (1) เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า เงินบำนาญชราภาพ หรือ (2 ) เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า เงินบำเหน็จชราภาพ หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 77 ทวิ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน ให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปี (55ปี) บริบูรณ์ เว้นแต่เมื่อมีอายุครบห้าสิบห้าปี (55ปี) บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตาม มาตรา 38 หรือ มาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน และความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตาม มาตรา 38 หรือ มาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
 
การดำเนินการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และกระทรวงแรงงาน โดย“บิ๊กบี้”ก็รับทราบแนวคิดนี้ มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559

ทีนี้มาดู จากการประเมินของ“นายโกวิท สัจจวิเศษ”อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่แถลงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 59 ว่า ทาง สปส.ได้เตรียม“ไปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพ”เพื่อให้มีเสถียรภาพและความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และอายุยืนขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการจ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่ สปส.เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ได้มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ตามกำหนด ยื่นขอรับสิทธิ์จำนวน 20,000 ราย ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 370 ล้านบาท

ในปี 2559 มีผู้ประกันตนที่มีอายุครบกำหนดเพิ่มเป็น 67,000 ราย รวมเงินที่ต้องจ่ายกว่า 1,450 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2560 จะมีจำนวนผู้ประกันตนที่จะเข้ารับเงินในส่วนนี้เพิ่มเป็น 200,000 ราย และภายในปี 2570 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า น่าจะมีจำนวนผู้ประกันตนที่ ครบอายุตามกำหนดเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากถึงกว่า 246,524 ล้านบาท 

เท่ากับว่า สปส.ต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายผู้ประกันตน กรณีบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลังจากปี 59 เป็นต้นไป หาก สปส.ไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารกองทุนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าในอีก 38 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนนี้จะต้องหมดลงอย่างแน่นอน

เพื่อให้เกิดความเพียงพอและยั่งยืน ทางสปส. จึงได้กำหนดแนวทางปฏิรูประบบบำนาญชราภาพไว้ 5 แนวทาง คือ ขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันที่ 55 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 ทั้งนี้ เมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว หากผู้ประกันตนคนใดถูกเลิกจ้าง หรือลาออกหลัง 55 ปี จะได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอีกด้วย

“ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ จากปัจจุบันที่มีขั้นต่ำที่ 1,650 บาท เป็น 3,600 บาท และสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท”

“ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ ทำให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม โดยแนวทางใหม่วางไว้เป็น 2-3 แนว คือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปีแทน”

“ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่เก็บร้อยละ 3 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนายจ้างสมทบอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งรวมเป็นร้อยละ 6 แต่จะเพิ่มเป็นฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 เฉพาะในส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ”

เพื่อให้เงินในกองทุนงอกเงย ทาง สปส.จะเร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วย

สปส.ย้ำว่า จากแนวทางการปฏิรูปข้างต้น จะช่วยยืดอายุกองทุนไปได้อีก 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2597 เป็นต้นไป
 
ที่สำคัญ สปส.ยังจะแก้ไขกฎหมายเรื่องที่มา"คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.)" จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการสรรหาแทน เนื่องจากการเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณมากถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าบอร์ดที่ได้นั้น เป็นตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริงหรือไม่อีก

พร้อมประกาศความมั่นใจว่า การใช้วิธีสรรหาจะสามารถดำเนินการอย่างยุติธรรม และทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญด้วย
 
ข้อมูล 19 ปี ของสปส. ตั้งแต่ปี 2542-2555 มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพทั้งหมด 940,190 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 22,212 ล้านบาท และในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 114,250 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 6,670 ล้านบาท

ปี 2557 สปส.เริ่มจ่าย“เงินบำนาญชราภาพ”เป็นครั้งแรก และได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 122,860 คน เป็นเงิน 8,190 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 8,270 ล้านบาท และ ในอนาคตอีก 7 ปี หรือในปี 2567 จะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 121,860 คน เป็นเงิน 11,060 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 817,680 คน เป็นเงิน 41,960 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 53,020 ล้านบาท

เบื้องต้นคณะอนุกรรมการเสนอไว้ 6 มาตรการ ได้แก่ 1. การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบยืดอายุกองทุน 47 ปี 2. การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนยืดอายุกองทุน 38 ปี 3.การขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบยืดอายุกองทุน 34 ปี 4. การปรับฐานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณบำนาญ ยืดอายุกองทุน 33 ปี 5. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 59 ปี และ 6. มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 ทำให้กองทุนชราภาพ มีเสถียรภาพนานถึง 73 ปี โดยแต่ละมาตรการ จะต้องเริ่มต้นไม่ช้ากว่าปี 2560 และปีสุดท้ายของการประมาณการคือ ปี 2629
 
สุดท้าย ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ก็จะต้องเข้าสู่ กระบวนการประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องทำประชาพิจารณ์ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากฎหมายทุกขั้นตอน ตอนนั้น กฎหมายนี้เชื่อว่าจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น