เวทีประชาพิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ผ่านไปด้วยดี ถึงแม้เอ็นจีโอที่อ้างตัวเองว่า เป็นผู้แทนภาคประชาชน จะใช้กลยุทธ์ วอลค์เอาท์เพื่อให้เป็นประเด็นยึดพื้นที่สื่อในทุกเวที แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะการประชาพิจารณ์ทั้ง 4 เวที เดินหน้าต่อไปได้
จนเอ็นจีโอต้องเปลี่ยนเกมยอมเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะในวันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งเป็นเวทีปิด ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วม แต่ก็ไม่วายตั้งเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีทหาร หรือตำรวจมาอยู่ข้างหน้าหรือรอบๆ ห้องประชุม เพราะทำให้เกิดบรรยากาศที่ข่มขู่ คุกคามการแสดงความเห็น
เป็นเงื่อนไขแก้เกี้ยวรักษาหน้าตัวเองที่ต้องยอมกลืนน้ำลายกลับเข้าสู่ห้องประชุม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ประกาศว่า ไม่ยอมรับกระบวนการแก้ไขครั้งนี้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม
ในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง กลยุทธ์ยึดครองพื้นที่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ด้วยการสร้างอีเวนท์ที่ครึกโครมอย่างการวอล์คเอาท์ไม่ฟังความเห็นต่าง แต่แยกออกมาพูดข้างเดียวเอง ใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว
เพราะทุกคนเป็นเจ้าของสื่อเท่ากันหมด ข้อกล่าวหาของเอ็นจีโอที่ว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน จึงถูกตอบโต้จากอีกฝ่ายหนึ่งผ่านโซเชียลมีเดียอย่างทันควัน ด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนกว่า ข้ออ้างของฝ่ายเอ็นจีโอที่เป็นนามธรรม เป็นคำขวัญสวยหรู แต่ไม่สามารถหาตัวอย่างรูปธรรมหรือคำอธิบายที่จับต้องได้
การต่อสู้ในสงครามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ เอ็นจีโอจึงเป็นฝ่ายปราชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฝ่ายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ปิดเกมด้วยการจัดเวทีเสวนากับสื่อมวลชน เรื่อง แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร ที่มีถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 ไปทั่วประเทศ โดยมีข้อสรุปว่า กฎหมายบัตรทองหลายจุดถึงเวลาทบทวน เท่าที่ดูจากเนื้อหาสาระร่างกฎหมายนั้น พบว่า ไม่มีอะไรเป็นสัญญาณไม่ดี การสร้างวาทกรรมของภาคประชาชนเข้าใจได้ แต่ควรพอประมาณ
สุดท้าย เอ็นจีโอก็ต้องกลับลำยื่นข้อเสนอในนามกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ ในการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ประกอบด้วย 4 เรื่องที่เห็นด้วย 5 ข้อที่เห็นต่าง และ 7 ข้อเสนอ
เรื่องที่เห็นต่าง และเรื่องที่เป็นข้อเสนอบางเรื่อง กลับเป็นสิ่งที่ฟ้องว่า เหตุที่เอ็นจีโอต่อต้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 นั้น เป็นเพราะถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่เคยได้รับมาตลอดนั่นเอง
เอ็นจีโอไม่เห็นด้วยกับนิยามคำว่า สถานบริการสาธารณสุข ซึ่งกฎหมายใหม่ กำหนดชัดเจนว่า คือ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพในท้องถิ่น
นิยามสถานบริการมีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นตัวกำหนดว่าใครบ้างที่จะใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ ที่ผ่านมา กฎหมายเดิมไม่มีนิยามนี้ ทำให้เป็นช่องว่าง ที่กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.อนุมัติเงินกองทุนฯ ไปให้กับมูลนิธิเครือข่ายองค์กรประชาชน
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จึงอุดช่องว่างด้วยการนิยามสถานบริการสาธารณสุข อย่างชัดเจน
หนึ่งในเจ็ดข้อเสนอของเอ็นจีโอ คือ ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถให้เงินสนับสนุนองค์กรชุมชนได้
เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ถูกโยกย้ายถ่ายเทไปให้กับองค์กร เครือข่ายของบอร์ด สปสช.เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของเอ็นจีโอ เช่นเดียวกับเงินจาก สำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ หรือ สสส.ก่อนหน้าที่จะมี สปสช.กับ สสส. นั้น แหล่งเงินทุนเอ็นจีโอส่วนใหญ่มาจากองค์กรด้านการพัฒนา และองค์กรของศาสนจักรในยุโรป การหาเงินทุนค่อนข้างลำบาก เพราะต้องทำโครงการเสนอแหล่งทุนจากประเทศยุโรปปีต่อปี ถึงสิ้นปีต้องถูกประเมินผลโดยตัวแทนของแหล่งทุนว่า โครงการที่ขอเงินไปนั้น มีการดำเนินการตามข้อเสนอหรือไม่ ทำแล้วได้ผลอย่างไร
เงินที่แหล่งทุนในต่างประเทศให้มาเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก และในระยะหลัง ประเทศไทย ในสายตาของแหล่งทุนมีความเจริญแล้ว งบประมาณที่เคยจัดสรรให้ จึงถูกโยกย้ายไปให้กับประเทศในแอฟริกาหรือละตินอเมริกา
เงิน สปสช. และ สสส.เป็นเส้นเลือดใหญ่ไม่เพียงต่อชีวิตให้กับเอ็นจีโอที่เปลี่ยนแนวมาจับงานด้านคุณภาพชีวิต แต่ยังทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะเป็นเงินหลักล้าน ได้ติดต่อกันทุกปี บางมูลนิธิ บางเครือข่ายขอรับการสนับสนุนทั้งจาก สปสช. และ สสส. บอร์ด สปสช.หลายคน เป็นประธาน เป็นกรรมการในมูลนิธิเครือข่ายเหล่านี้
การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่แก้ไขไม่ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนรับเงินจาก สปสช.เพราะไม่ใช่สถานบริการสาธารณสุข จึงเป็นสาเหตุที่เข้าใจได้ว่า ทำไมเอ็นจีโอต้องต้านแบบหัวชนฝา