xs
xsm
sm
md
lg

เวทีปรึกษาสาธารณะแก้ “กม.บัตรทอง” ป่วนแต่เริ่ม เอ็นจีโอท้า “บิ๊กตู่” ตรวจสอบ ไม่เคยรับเงินส่วนลดซื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอ็นจีโอท้า “บิ๊กตู่ - รมว.สธ.” ตรวจสอบ ไม่เคยรับเงินส่วนลดซื้อยา สปสช. หากตรวจสอบแล้วไม่จริง จี้ “หมอปิยะสกล” ขอโทษ ขณะที่การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะแก้กฎหมายบัตรทองวุ่นอีก! ภาคประชาชนยึดพื้นที่หน้าเวทีประกาศไม่ยอมรับกระบวนการคิดเห็น ทำประชุมกลุ่มย่อยเริ่มได้บางส่วน กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เผย เห็นด้วยแก้กฎหมาย 4 เรื่อง เห็นต่าง 5 เรื่อง เสนอเพิ่ม 7 เรื่อง

ความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือกฎหมายบัตรทอง ซึ่งขณะนี้ผ่านการประชาพิจารณ์ทางออนไลน์ และจัดเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาคเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โดยจะมีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ  เมื่อเวลา 08.30 น. ก่อนเริ่มเวทีปรึกษาสาธารณะ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่าย ได้มีการรวมตัวกัน โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่อง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อได้รับส่วนลดและกันเงินที่เหลือมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอไปทำภารกิจองค์กร ว่า เรื่องนี้เป็นการพาดพิงและกล่าวหากลุ่มเอ็นจีโอ จึงขอประกาศว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถตรวจสอบพวกตนได้เลย และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบออกสู่สาธารณะ เพราะพวกตนยืนยันว่า ไม่เคยได้รับเงินหรือส่วนลดใดๆ

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ออกมาพูดเช่นนี้ จะทำให้สังคมเข้าใจผิด และที่พวกตนออกมาแสดงความเห็นเรื่องแก้กฎหมายบัตรทอง ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ของพวกตน ดังนั้น หากมีการตรวจสอบว่าพวกตนไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ทาง รมว.สธ. ควรออกมาขอโทษ และกล่าวข้อเท็จจริงด้วย

ต่อมาภายหลังการเปิดประชุมเวทีปรึกษาสาธารณะ ซึ่งในการประชุมจะแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม เพื่อหารือใน 17 ประเด็น แบ่งเป็น 14 ประเด็นเดิม และเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ หลักการออกกฎหมาย ความชอบธรรมของกระบวนการยกร่าง และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยมีกลุ่มตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อสงสัยต่างๆ แต่ปรากฏว่า มีผู้ร่วมเข้าประชุมประมาณ 4-5 คน ระบุว่า มาจากเครือข่ายภาคประชาชนไม่ยอม และเดินออกมาข้างหน้าเวทีภายในห้องประชุม พร้อมทั้งตะโกนในลักษณะไม่ยอมรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีการแก้ไขกฎหมายเกินกว่าคำสั่ง คสช. และไม่แก้ไขกฎหมายในส่วนที่ควรแก้ เช่น การให้อำนาจ สปสช. จัดซื้อยา โดยเรียกร้องให้ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. มาชี้แจงก่อนที่จะมีการปรึกษาสาธารณะ ทำให้เวทีปรึกษาสาธารณะจัดได้เพียงบางกลุ่มย่อยเท่านั้น

จากนั้นตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ได้ยื่นหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยื่นให้แก่ รศ.วรากรณ์ แต่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดประชาพิจารณ์ ได้มารับแทน โดย นายนิมิตร์ กล่าวว่า การแก้กฎหมายบัตรทองเครือข่ายเห็นร่วม 4 ประเด็น คือ ห้ามดำรงตำแหน่งบอร์ด สปสช. และ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพขณะเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ดำรงตำแหน่งไม่เกินสองสมัยและห้ามสลับไปมา รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และเรื่องยกเลิกการไล่เบี้ยหาผู้กระทำผิด กรณีเกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ มีความเห็นแตกต่าง 5 ประเด็น คือ การเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” และ “สถานบริการ” โดยต้องเพิ่มคำนิยามให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร การให้ปลัด สธ. เป็นรองประธานบอร์ด การลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดความเสียหยผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพราะควรเพิ่มเรื่องการเยียวยาด้วย การแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่จะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และการเพิ่มผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ทำให้ไม่สมดุล โดยต้องเพิ่มสัดส่วนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

“นอกจากนี้ ยังมี 7 ประเด็นเป็นข้อเสนอใหม่ คือ ให้ตัดเรื่องการร่วมจ่ายออกจากกฎหมาย เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีเป็นกองทุนเดียว เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน เสนอให้อำนาจคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาผลกำไร และเสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และ 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ” นายนิมิตร์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น