ทีมยกร่าง กม.บัตรทอง ยันเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาคไม่ล่ม พร้อมรวบรวมทุกความเห็นเป็นหมวดหมู่เสนอ รมว.สธ. ใน 18 ก.ค. ก่อนเสนอเข้า ครม. กฤษฎีกา และสนช. เดินหน้าจัดเวทีปรึกษาสาธารณะตามกำหนดเดิม ระบุยึดเวทีประชาพิจารณ์ จ.ขอนแก่น ละเมิดสิทธิคนแสดงความเห็น
วันนี้ (18 มิ.ย.) รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณายก (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... แถลงข่าวระหว่างการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือกฎหมายบัตรทอง ครั้งที่ 4 เวทีภาคกลาง ว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาทั้ง 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ภาคประชาชนบางส่วนจะมีการวอล์กเอาต์ และการจัดเวทีภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น จะมีการยึดเวทีก็ตาม ส่วนตัวมองว่าไม่ถือว่าล่ม หรือล้มเหลว เพราะการแสดงความคิดเห็นมีหลายช่องทาง คือ ผ่านทางออนไลน์ เวทีประชาพิจารณ์ และเวทีปรึกษาสาธารณะ แต่จากการแสดงความไม่เห็นด้วยของภาคประชาชน และเหตุการณ์ที่เวที จ.ขอนแก่น คณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ จึงกำลังพิจารณาว่าจะเลื่อนการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ ซึ่งเดิมทีกำหนดวันที่ 20-21 มิ.ย. นี้ ออกไปก่อนหรือไม่
“แม้การจัดประชาพิจารณ์ทั้ง 4 เวที จะมีการวอล์กเอาต์ การไม่เข้าร่วมประชุม แต่ยืนยันว่า สามารถรวบรวมข้อคิดเห็นแต่ละช่องทางของประชาชนได้ โดยหลังจากคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ รวบรวมความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายเสร็จสิ้นและเสนอมายังคณะกรรมการยกร่างฯ ก็จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายในวันที่ 18 ก.ค. 2560 จากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคณะกรรมการพิจารณา 3 วาระต่อไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาของ สนช.ยังสามารถเสนอความคิดเห็นต่างๆ ได้อีก ดังนั้น การแก้กฎหมายในครั้งนี้และการทำประชาพิจารณ์ ถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” รศ.วรากรณ์ กล่าว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดประชาพิจารณ์ฯ กล่าวว่า สำหรับการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะในวันที่ 20-21 มิ.ย. นี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยขอให้เสร็จสิ้นการประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งที่ 4 ก่อนเพื่อพิจารณาว่าจะมีการจัดต่อหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุ เพราะทางกลุ่มต่างๆ ไม่ต้องการให้มีการจัดลักษณะนี้อีก แต่หากพิจารณาการจัดเวทีในวันนี้ไม่มีปัญหาก็จะจัดเวทีปรึกษาสาธารณะต่อไป ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้ผู้แทนของผู้เกี่ยวข้อง สามารถเสนอความคิดเห็นแนวทางต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการเปิดความคิดเห็นลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม จากการระดมความคิดเห็นทั้งหมด ทั้งออนไลน์ ซึ่งเปิดตั้งแต่วันที 2-19 มิ.ย. ทั้งเวทีประชาพิจารณ์ 4 เวที และเวทีปรึกษาสาธารณะ ทั้งหมดจะมีการประมวลความคิดเห็นออกเป็นหมวดหมู่ และเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ ที่มี รศ.วรากรณ์ เป็นประธาน ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ พร้อมนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ทุกความคิดเห็นที่ส่งมาได้นำมาปรับปรุงจริง
“สำหรับเวทีประชาพิจารณ์ จ.ขอนแก่น แม้จะไม่มีการพูดแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีการเขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120 กว่าความคิดเห็น เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนมีการยึดเวที ซึ่งการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นละเมิดสิทธิของผู้คนที่จะมาฟังและพูด แต่ก็ยังสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้อยู่ โดยรวมแล้ว 4 ภาค มีผู้มาลงทะเบียนและแสดงตัวตนประมาณ 2,000 กว่าคน และแสดงความคิดเห็นมากกว่าพันความคิดเห็น โดยย้ำว่าทุกความเห็นของภาคประชาชน และการออกแถลงการณ์ต่างๆ ก็นำเข้ามารวมเป็นความคิดเห็นของการประชาพิจารณ์ด้วย” นพ.พลเดช กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตวันตก ตวันออกและ กทม. ขอให้ยุติและเริ่มต้นร่างกฎหมายใหม่ จะดำเนินการตามหรือไม่ รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบหลายต่อหลายครั้ง มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องสอบถามต่างๆ มากมาย รวมถึงศึกษาข้อมูลกฎหมายเดิม และความคิดเห็นต่างๆ ตั้งแต่สมัยร่างกฎหมายเมื่อ 15 ปีก่อน คงไม่มีเหตุผลที่จะเริ่มต้นใหม่ เพราะจะเป็นการเสียเวลา แต่ทางคณะกรรมการก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นจึงเปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่างๆ เพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาใหม่ได้ ซึ่งอยากให้เข้ามาเสนอแก้เป็นข้อๆ มากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามภายหลังการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ว่าจะมีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ายังคงมีตามเดิม โดยทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้