กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ออกแถลงการณ์จี้เริ่มกระบวนการแก้กฎหมายบัตรทองใหม่ เหตุขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ขอ คสช. อย่าหูเบา ซัดทีมยกร่างฯ ตอบไม่ได้ไม่ให้ สปสช. ซื้อยา เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ดเกิดผลดีกับประชาชนอย่างไร
วันนี้ (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. โดย นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันณ อ่านแถลงการณ์เหตุผลที่คัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ ว่า จากเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่สนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญ ไม่มีคำตอบ ว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายเจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะรับฟังความคิดเห็นรายมาตรา เรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย จากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เช่น
1. การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการ แก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ 2. ยกเลิกการร่วมจ่าย เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกัน คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง
3. ขอให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปีละ 5,000 ล้านบาท มาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา
4. การแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดี และทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล แต่ต้องยอมรับว่า จะเกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล และ 5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกัน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนศูนย์มาตรา 50 (5) ทั้งในหน่วยบริการและของประชาชน เพื่อให้การปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าวว่า การแก้กฎหมายขอให้แก้ไขตามคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. เท่านั้น ซึ่งหากแก้แค่นั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร และขอให้ คสช. อย่าหูเบา เชื่อตามคณะกรรมการยกร่างฯ เพราะการแก้ไขอื่นๆ เช่น การจัดซื้อยาโดยไม่ใช่ สปสช. หรือการปรับสัดส่วนบอร์ด สปสช.ใหม่ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยตอบได้เลยว่าแก้แล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร หากจะแก้ไขประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากคำสั่ง คสช. ขอให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ชัดเจนว่าเกิดผลดีกับประชาชนจริง
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายทั้งสองประเด็นเป็นการสอดไส้ อย่างสัดส่วนบอร์ดก็เพิ่มผู้แทนผู้ให้บริการเข้ามา การตัดสินใจเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อประชาชนก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนการจัดซื้อยาเห็นชัดว่า สปสช. ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มการเข้าถึงยาได้ การให้ สธ. ซื้อยาเองจะทำให้ราคายาแพงขึ้นและเป็นการทำลายระบบหลักประกันฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เราเห็นเจตนารมณ์ในการล้มบัตรทอง รวมไปถึงเรื่องการร่วมจ่ายที่ไม่มีการตัดออกจากร่างกฎหมาย ซึ่งระบุว่าบอร์ด สปสช. สามารถพิจารณาเรื่องการร่วมจ่ายได้ เมื่อ สธ. เข้ามาเป็นสัดส่วนบอร์ดมากขึ้นเมื่อไรคงให้มีการร่วมจ่ายแน่