นายกรัฐมนตรี ยันแก้กฎหมายบัตรทองหวังจัดใช้จ่ายงบให้เหมาะสม ต้องมีนักบริหารเข้ามาเป็นกรรมการ เผย ปรับขึ้นให้ 3,100 บาทต่อหัว ไม่ได้ยกเลิก ไอ้คนที่พูดโกหกพูดอยู่ได้อย่างไร ชี้แต่ก่อนก็เคยเก็บ 30 บาท ถ้าไม่เสียสละเลยก็ไปไม่ได้ ระบุ พวกต้านอาจเสียประโยชน์เอาเงินไปทำกิจกรรม บอกกำลังแก้ยาแพง
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... (กฎหมายบัตรทอง) ว่า เราเตรียมเพื่อจะจัดหาและแก้ไขระบบบริหารจัดการในการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสม และให้ลงมาสู่บุคลากร รวมถึงประชาชนให้มากที่สุด จากนั้นค่อยไปทำอย่างอื่นและจะต้องมีสัดส่วนที่ชัดเจน ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาอยู่บ้างเราจึงต้องมีนักบริหารจัดการเข้ามาเป็นกรรมการ มีตัวแทนทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและต้องเป็นเหตุผลในที่ประชุมคณะกรรมการ ไม่ต้องถึงกับโหวตเพราะเหตุผลใครดีกว่าก็ออกมาเป็นมติ ไม่ใช่ให้กรรมการคัดสรร เรามีตัวแทนทุกภาคส่วนอยู่แล้ว บางครั้งการทำงานของแต่ละหน่วยงานมีฝ่ายข้าราชการเพียงแต่เดียวหรือมีคนที่มีความรู้วิชาการอย่างเดียวไม่ได้เราจำเป็นต้องมีคนบริหารมาร่วมด้วยจะได้รู้หลักบริหารมืออาชีพเป็นอย่างไรเพราะการใช้งบประมาณจำนวนนี้มหาศาล
“วันนี้รัฐบาลปรับขึ้นให้ได้ประมาณ 3,100 บาทต่อหัว ถึงจะไม่มากนักแต่มากกว่าเดิม แล้วใครจะมาบอกว่าผมจะยกเลิก ยกเลิกได้อย่างไร ผมขอถามหน่อย ไอ้คนที่พูดโกหกบิดเบือน นักการเมืองพูดอยู่ได้อย่างไร ผมยืนยันมาหลายครั้งแล้ว มาถามผมว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็ยืนยันมาหลายครั้งก็ยังไม่เชื่อกัน ท่านก็สร้างความเข้าใจกับเขาสิ สื่อต้องช่วยผมตรงนี้ วันนี้ผมใช้คำว่ายืนยัน นั่งยัน นอนยัน จะเอาอะไรยันอีกไหมว่าผมไม่ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก่อนไปดูว่าโครงการนี้เป็นอย่างไร เมื่อก่อนเสียกัน 30 บาทกฎหมายก็มีอยู่ สุดท้ายไม่ต้องจ่าย กฎหมายมีอยู่นะ และมันก็สร้างผลกระทบมากมายมหาศาล ถ้าทุกคนไม่มีส่วนร่วม ส่วนของความเป็นเจ้าของอะไรกันเลย หรือเสียสละกันบ้างเลยก็ไปไม่ได้ แต่ผมไม่ได้พูดว่าผมจะไปเก็บเงินใครเลย พูดแต่เพียงว่าเรามีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว” นายกฯกล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการจ่ายสมทบเดิมความหมายเดิม คือ จ่าย 30 บาท และลดลงมาเหลือศูนย์บาท จะลดลงเหลือเท่าไรอีก และต้องการมากขึ้นก็ไม่ได้อีก ยืนยันว่า ตนไม่ได้มุ่งหวังจะไปรีดเงินจากประชาชนอีก บาทเดียวก็ไม่ต้องการ เพียงแต่เราใช้งบที่มีอยู่แล้วจากภาษีต่างๆ จะทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด เฉลี่ยรายจ่ายให้ดูแลมากกว่า 3,100 บาทได้หรือไม่ เพราะเงินบางส่วนนำไปทำอย่างอื่นมากพอสมควร เราต้องมามุ่งตรงส่วนนี้ก่อนว่าจะเพิ่มได้อย่างไร และที่เหลือถึงจะไปทำอย่างอื่นก็ทำงานกันตั้งหลายหน่วยงานไม่เคยทะเลาะกัน แต่ก็มีคนต่อต้านคัดค้าน อาจจะมีคนเสียผลประโยชน์บ้างในการได้เงินเหล่านี้ไปทำอย่างอื่นด้วยในกิจกรรมของเขา ซึ่งมันก็ดี แต่ต้องเห็นใจเงินก้อนใหญ่นี้ด้วย แล้วประชาชนจะได้อะไร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลกำลังจะแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาที่มีราคาแพง ยาต้านจุลชีพ และยาต้านต่างๆ เอาเงินที่ซื้อยาราคาแพงไปซื้อยาราคาถูกในประเทศได้หรือไม่ ยาหรือวัคซีนบางตัวเราผลิตเองได้ก็จะทำให้คนเข้าถึงยามากขึ้น เพราะเมื่อเข้าไม่ถึง 3,100 บาทรักษาได้หรือไม่ มันก็เหมือนกับประกัน เพราะคนเราไม่ได้ป่วยพร้อมกันเราก็นำงบตรงนั้นไปเฉลี่ยตรงนี้ก่อน แต่ถ้าเราทำให้ 3,100 บาทมากขึ้น การที่จะมาเฉลี่ยให้คนที่ป่วยหนักและเร่งด่วนก็มากขึ้นตามไปเราต้องมองในแง่การบริหารจัดการด้วย
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข รายงานปัญหาข้อขัดข้องของเวทีประชาพิจารณ์กรณีร่าง พ.ร.บ. ประกันสุขภาพ ให้ ครม. รับทราบว่าดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง ในภูมิภาค 3 ครั้ง และ กทม. 1 ครั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่มีความพยายามล้มเวทีประชาพิจารณ์นายกฯจึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารสุขไปทำความเข้าใจกับประชาชน รมว.สาธารณุสุข แจ้งว่า วันที่ 21 มิ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จัดเวทีเวทีเสวนาให้ความรู้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเชิญสื่อทุกแขนงร่วมรับฟัง พร้อมกันนี้ จะถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยจะตีแผ่ให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับเดิม และฉบับใหม่ มีอะไรที่แตกต่างกัน สรุปได้ว่าแตกต่าง 14 ประเด็น และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า สิทธิบัตรทองที่ประชาชนมีอยู่วันนี้ ยังมีอยู่เหมือนเดิม ต่างจากฉบับเดิมแค่เรื่องบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดซื้อยา จากเดิม สปสช. มีหน้าที่เรื่องนี้ แล้วเมื่อมีการตกลงการซื้อขายยาจำนวนมากจะมีส่วนลด และกันสัดส่วนให้เอ็นจีโอในการทำภารกิจต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้เขียนให้ดำเนินการได้ แต่ทำกันมา 15 ปีมาแล้ว รัฐบาลนี้นายกฯมีนโยบายว่างบประมาณที่ใช้ดูแลประชาชนต้องใช้ตามวัตถุประสงค์จะเกิดจากการติดต่อซื้อยา แล้วมีส่วนลด ต้องนำเงินส่วนนี้มาดูแลประชาชน แต่เอ็นจีโอจะขอบางส่วนใช้บ้างก็ได้ ค่อยมาว่าเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่กอดเอาไว้เหมือนเดิม