ภาคประชาชนโวย “กฤษฎีกา” ตีความการใช้งบรายหัวบัตรทองแคบ ห้าม รพ. ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าโอที ค่าตอบแทน เหตุไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ชี้ ทำลายขวัญกำลังใจ คนไม่อยากอยู่ในระบบ ผลักเอกชนไม่ร่วมให้บริการ จวก คสช. ทำบัตรทองแย่ลง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ภาคประชาชน เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง) ของไทยขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก แม้รัฐบาล คสช. นายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะยืนยันชัดเจนว่า ไม่ล้มแน่นอน มีแต่จะทำให้ดีขึ้น แต่คงต้องบอกว่า ไม่ล้มก็เหมือนล้ม เพราะตอนนี้จากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนบัตรทองที่เพิ่งออกมา ได้ทำลายหลักการของระบบไปแล้ว เนื่องจากได้ห้าม รพ. ในระบบ 30 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพ. สังกัด สธ. นำเงินรายหัวไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำของ รพ. เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระงาน โดยระบุว่า เพราะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่ตีความคับแคบว่าต้องจ่ายตรงให้ผู้ป่วย ซึ่งทำให้เกิดปัญหามาก
“เมื่อก่อน รพ. ได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัว และนำไปใช้จ่ายในหมวดเงินบำรุง ซึ่งการใช้จ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างลูกจ้าง ทั้งหมดก็เพื่อบริการประชาชน ถ้าไม่เอาเงินตรงนี้ รพ.จะเอางบประมาณที่ไหนไปจัดการเรื่องแบบนี้ ส่วนเรื่องค่าจ้างบุคลากร ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าภาระงานจากการรักษาผู้ป่วยมีมาก และรัฐยังกำหนดกรอบอัตรากำลังไว้ ถ้าไม่จ้างลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินนี้ แล้วจะหาบุคลากรมาให้บริการประชาชนได้อย่างไร ถ้าต้องรอแค่กรอบอัตรากำลังจากรัฐ หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน การทำงานนอกเวลา ก็เพื่อขวัญกำลังใจบุคลากร เพราะงานบริการสาธารณสุขต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ลำพังทำงานก็หนักอยู่แล้ว แต่เงินตรงนี้ยังไม่สามารถใช้จ่ายได้อีก ก็เท่ากับทำลายขวัญกำลังใจคนทำงาน แทนที่จะทำให้คนทำงานมีความสะดวก ทำงานง่ายขึ้น แต่รัฐกลับมีระเบียบที่ไปทำลายคนทำงาน แบบนี้ก็จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขภาครัฐสมองไหลไปเอกชนมากขึ้น นอกจากนี้ ระเบียบที่วุ่นวาย จำกัดการใช้งบประมาณของหน่วยบริการ รพ. เอกชน ก็คงไม่อยากมาเข้าร่วม แทนที่เราจะช่วยกันดึงให้ รพ.เอกชนเข้ามาร่วมบริการในระบบมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า การตีความยังห้ามจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหามาก งานรักษาผู้ป่วย ผู้ให้บริการมีโอกาสได้รับความเสียหายได้ ที่เห็นกันบ่อยคือ รถพยาบาลประสบอุบัติเหตุ ถ้าเป็นผู้ป่วย ได้รับเงินชดเชย แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินตรงนี้ แบบนี้กระทบขวัญกำลังใจคนที่ทำงานโดยสุจริต ตั้งใจทำงาน ยิ่งกว่านั้นในส่วนของเงินที่จ่ายชดเชยให้ผู้ป่วย ก็ยังจะให้ไล่เบี้ยหาผู้กระทำความผิดไปที่หน่วยบริการอีก ทั้งที่เรื่องแบบนี้เป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็ยังจะใช้ระเบียบที่ล้าหลังมาจัดการคนทำงาน
“เรื่องผลการตีความนี้ ต้องบอกว่าอย่านำไปสับสนกับเรื่องการการตรวจสอบ สปสช. เป็นคนละเรื่องกัน สปสช. ก็ถูกตรวจสอบเหมือนเดิม ภาคประชาชนไม่ได้โวยวายว่าห้ามตรวจสอบ สปสช. แต่ผลการตีความนี้จะทำให้ รพ. และคนทำงานหน้างานที่รักษาพยาบาลประชาชนทำงานได้ยากขึ้น เพราะมีระเบียบภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงมาจับไว้ และคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ ประชาชน คือ ผู้ป่วย ส่วน สปสช.เมื่อมีระเบียบมาอย่างนี้ ก็ต้องทำตามระเบียบ แต่เรื่องนี้บอร์ด สปสช. ต้องสู้จนถึงที่สุด เพราะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน และตัวแทนผู้ให้บริการอยู่ ถ้ามีข้อใดที่ขัดขวางการทำงานของ รพ. ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ต้องแก้ไข และต้องทำให้รัฐบาล คสช. ต้องแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วน” นายนิมิตร์ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาโดย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งผลการตีความการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ตามหนังสือที่ นร 0901/163 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และจะมีการนำผลการตีความดังกล่าวเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. ในวันที่ 4 ม.ค. 2559
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่