คนรักหลักประกันฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ จัดเวทีปรึกษาสาธารณะ “กม.บัตรทอง” ต้องไม่มีตำรวจ - ทหาร เปิดรับฟังความเห็นกว้างขวาง แยกให้ชัดประเด็นเห็นร่วม เห็นต่าง และข้อเสนอ จึงจะเข้าร่วม ด้านประธานจัดทำประชาพิจารณ์พร้อมประสานไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล
วันนี้ (20 มิ.ย.) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายกว่า 10 คน นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เป็นต้น เข้าหารือกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อตกลงเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะ ในวันที่ 21 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ หลังเสร็จสิ้นเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในการหารือทางผู้จัดมีความกังวลว่า กลุ่มคนรักหลักประกันฯ และเครือข่ายจะมีการแสดงออกเหมือนทุกเวทีประชาพิจารณ์อีกหรือไม่ ซึ่งพวกตนได้หารือและตั้งเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. เวทีปรึกษาสาธารณะหากต้องการเสียงจากภาคประชาชน ซึ่งได้รับเชิญ 18 คนเข้าร่วมในครั้งนี้ จะต้องเป็นการพูดคุยที่ไม่ใช่อยู่ในภาวะสงครามที่มีทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคงเต็มไปหมด หากวันที่ 21 มิ.ย. มี ทหาร ตำรวจ มาเป็นกองร้อย หรือมาในจำนวนที่พวกเรารู้สึกไม่ปลอดภัยเหมือนเวทีประชาพิจารณ์กรุงเทพฯ ตัวแทนภาคประชาชนจะขอออกจากการประชุม ไม่เข้าร่วม และเดินหน้าแสดงออกต่อไป 2. การพูดคุยหารือต้องไม่ใช่ปิดห้องคุยแบบรวบรัดประเด็น โดยภาคประชาชนคาดว่า ต้องเป็นการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง 3 ประเด็น คือ หารือจนได้ข้อสรุปร่วมออกมา ได้ข้อเห็นต่างออกมา และ ข้อเสนอแนะทางออกที่เป็นธรรม และ 3. กรณีความเห็นต่างต้องไม่เร่งรัดเอาข้อคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ แต่ต้องแยกให้ชัด โดยประเด็นเห็นร่วม หากได้ออกมาก็ให้เป็นไปตามกลไกขั้นตอนของการปรับปรุงกฎหมาย แต่ประเด็นเห็นต่างจะต้องแยกออกมาและหาทางออก โดยผ่านการประชุมในรูปแบบของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ ในกรณีความเห็นต่าง จะเป็นการดึงเวลาให้ช้าไปอีกหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพจะมีวาระพิเศษ ซึ่งไม่ต้องใช้เวลานาน เพียงแต่ยังบอกไม่ได้ว่าการประชุมเวทีสมัชชาสุขภาพฯ จะใช้เวลาเท่าใด เนื่องจากต้องดูก่อนว่า ประเด็นเห็นต่างมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ไม่ได้เป็นการดึงเวลา แต่เป็นกระบวนการของสังคมอารยะ เพราะเรื่องของกฎหมายจะอยู่คู่กับเราไปตลอด ก็ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนด้วย
เมื่อถามว่า หากมีตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัยจำนวนไม่มากก็จะไม่เข้าร่วมด้วยหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ถ้าเป็นการตรวจตราปกติ พวกตนไม่ได้แย้งอะไร แต่จากการประชุมประชาพิจารณ์ที่กรุงเทพฯ ทำให้พวกตนกังวลว่าจะซ้ำรอยอีกหรือไม่ เพราะในวันนั้นตำรวจทหารมาจำนวนมาก แต่ก็ยังมีชายไม่ทราบชื่อมาดึงป้าย และจะเข้ามาล็อกตัวตนออกไปอีก ซึ่งก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องลักษณะนี้ซ้ำๆ
ด้าน นพ.พลเดช กล่าวว่า เมื่อทางเครือข่ายรับปากว่าจะไม่มีมวลชน หรือเอาม็อบไปกดดันอะไร ตนก็พร้อมที่จะประสานไปยังฝ่ายความมั่นคง เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ส่วนเวทีปรึกษาสาธารณะจะแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีผู้แทนจาก 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1. ฝั่งผู้ให้บริการ คือ กระทรวงสาธารณสุข 2. ฝั่ง สปสช. 3. ภาคประชาชน และ 4. หน่วยราชการอื่นๆ เฉลี่ยๆ แล้วจะมีผู้แทนฝ่ายละ 20 - 25 คน นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังขอเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน 1 คน คือ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันฯ เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานฝ่ายวิชาการที่จะทำหน้าในการประมวลข้อเรียกร้องและดูว่าผลกระทบจากการแก้ไข พ.ร.บ. อย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหา จึงเท่ากับว่าตอนนี้คณะทำงานวิชาการจะมีทั้งหมด 5 คน
นพ.พลเดช กล่าวว่า ส่วนความเห็นต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. บัตรทอง ทั้งประเด็นที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่เครือข่ายหารือกับตน ควรถูกรวมอยู่ในการประชาพิจารณ์ แต่ตนไม่สามารถนำความเห็นเหล่านี้เข้าไปโดยพลการ จึงให้เครือข่ายเสนออีกครั้งในเวทีวันที่ 21 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเปิดประชุมสมัชชาสุขภาพเป็นเรื่องทำได้ แต่ละครั้งจะใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ จากเวทีประชาพิจารณ์และการเปิดรับฟังความคิดเห็นช่องทางต่างๆ มี 4 ประเด็นที่เดินหน้าได้ แต่ 6 ประเด็นอาจต้องหาข้อสรุปเพื่อว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังบอกอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ขอให้รอการประชุมเวทีสาธารณะก่อน หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็คงต้องพิจารณาจะทำอย่างไรต่อไป แต่ทั้งหมดจะต้องทำให้อยู่ในกรอบเวลา ที่ยื่นให้คณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. ภายในวันที่ 30 มิ.ย. นี้แน่นอน
วันเดียวกัน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมืองและคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอให้ สปสช. ชี้แจงเหตุผลการใช้เงิน และระเบียบ ข้อบังคับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของผู้ปฏิบัติงานทุกฉบับ