xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ชี้ไม่แก้ กม.บัตรทอง ไม่มีคนทำงาน ไม่มีน้ำไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ย้ำต้องแก้กฎหมายบัตรทอง ช่วย รพ. เดินหน้างานได้ ดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ชี้ ไม่แก้กฎหมายจะไม่มีคนทำงาน ไม่มีน้ำไฟ เลขาธิการ สปสช. หนุนต้องแก้ไขให้งานเดินหน้าได้ เรื่องซื้อใครจัดซื้อก็ได้ขอให้ประชาชนได้ประโยชน์

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ  เมื่อเวลา 09.30 น. ในเวทีเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร” นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กฎหมายบัตรทองเดิมมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น งบประมาณต้องนำมาใช้กับประชาชนโดยตรง ทำให้นำมาใช้จ่ายในกิจการของโรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชนไม่ได้ อาทิ ค่าน้ำค่าไฟ หรือการจ่ายเงินช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ อย่างพยาบาลที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานมีหลายเคสที่อาการโคม่า ค่าทำขวัญค่าเยียวยาไม่มี แต่ประเด็นเหล่านี้ รมว.สาธารณสุข บอกว่า อย่าให้เรื่องเงินมาเป็นตัวขัดขวางการให้บริการ จึงมีการไปหารือกับนายกรัฐมนตรี และมีการออกมาตรา 44 ตามคำสั่ง คสช. เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลทำงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด อย่าง สปสช. ไปลงนามกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดูแลสุขภาพให้ข้าราชการท้องถิ่น แต่ตอนนี้เงินหมดแล้ว ถามว่า คนไข้ที่มารักษา รพ. จะไม่รักษาได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แต่เงินเราไม่มี เราก็ต้องหาวิธี บริหารจัดการกันไป เราต้องรักษาเหมือนเดิม

“ผมอยากพูดถึงนิทานที่นายกฯ พูดเมื่อวานว่า มีสิงโตเป็นหัวหน้ามดงาน เห็นว่ามดงานทำงานดี และอยากให้งานดียิ่งขึ้น จึงไปจ้างแมลงสาบมาเป็นเจ้านาย สิงโตก็พอใจ และเอาควายมาเป็นผู้ติดตามงาน และไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มอีก กลายเป็นว่ามดงานต้องทั้งตอกบัตร เขียนรายงาน และเมื่องานเดิมที่ผ่านมาด้อยลง สุดท้ายก็ไล่ออก ซึ่งเรื่องนี้คนสาธารณสุขก็เหมือนมดงาน สิงโตเปรียบเหมือนประชาชน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าต้องมาแก้ระบบบริหารจัดการ ถามว่า ท่านจะปล่อยให้มดงานทำงานโดยพูดอะไรไม่ได้หรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วเราทำงานอย่างที่เคย ทำงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด นี่คือ เหตุผลที่ต้องแก้กฎหมาย ดังนั้น ยาเอดส์ น้ำยาล้างไต ยังเหมือนเดิม หากเราไม่แก้ไขกฎหมาย ก็จะไม่มีคนทำงาน ไม่มีน้ำไม่มีไฟ” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานก็ต้องทำร่วมกัน โดยต้องเชื่อมล้อผู้ให้บริการ และล้อด้านการเงินต้องไปด้วยกัน ซึ่งตัวเชื่อมคือ กฎหมาย อย่างเรื่องการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. เดิมคนใน สธ. ที่ทำงานร่วมกับ สปสช. ไม่สามารถลงสมัครได้ แต่ถามว่า คนที่มีความสามารถอย่าง ผอ.รพ.น้ำพอง ที่ทำแนวทาง รพ.ประชารัฐ ดึงประชาชนมีส่วนร่วม โดยรับสมาชิกในพื้นที่ 10,000 คน ให้จ่ายเงินวันละ 3 บาท เฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 บาท เมื่อผู้ป่วยในจะได้นอนห้องพิเศษ ไม่ว่าจะใช้สิทธิใดก็ตาม โดยงบประมาณที่ได้มาสมมติ 10 ล้านบาท ก็นำมาปรับปรุงห้องพิเศษให้ดีขึ้น ก็ยังเหลือเงินส่วนอื่นมาช่วยเรื่องบริหารจัดการให้ รพ. ดีขึ้นด้วย ทำให้เป็น รพ. ที่เป็นของพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีแล้ว 20 รพ. หรือแม้แต่ รพ.อุ้มผาง มี นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เป็น ผอ.รพ.อุ้มผาง ก็ทำงานเพื่อประชาชน ถามว่า คนเหล่านี้มาเป็นกรรมการในบอร์ดได้หรือไม่

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นายกฯ ออกมาตรา 44 คำสั่ง คสช. เพื่อให้การทำงานชัดเจน และให้เดินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะจะทำให้การทำงานเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ส่วนเรื่องการจัดซื้อยา ใครจะดำเนินการไม่ขัดข้อง ขอแค่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราใช้คำสั่งจาก ม.44 ดำเนินการอยู่ เช่น กิจกรรม รพ. ได้รับเงินไปแล้วให้สามารถจ่ายค่าน้กค่าไฟ ค่าเยียวยาบุคลากรที่ได้รับผลกระทบได้ ส่วนข้อเห็นต่างนั้น มองว่า เห็นต่างได้ แต่อย่าขัดแย้งกันดีกว่า และการแก้กฎหมายบัตรทองไม่ได้ล้มบัตรทอง เพียงแต่ยังมีหลายประเด็นที่เห็นต่างอยู่ ส่วนจะล้มหรือไม่ อนาคตก็บอกไม่ได้ เพียงแต่ภาพของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องรีบหาข้อยุติให้ได้

นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ ประธานคณะอนุกรรมการจัดประชาพิจารณ์ พ.ร.บ. กล่าวว่า หากพิจารณาจากเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.บ. ไม่มีสัญญาณอะไรที่เป็นการล้มบัตรทองเลย แต่เข้าใจว่า อาจต้องมีการสร้างวาทกรรม คำพูดต่างๆ ออกมา แต่ก็ยังมั่นใจว่าประชาชนกว่า 60 ล้านคน จะพิจารณาและใช้วิจารณญาณได้ ส่วนการแก้กฎหมายก็ยังเดินตามกระบวนการ ทั้งออนไลน์มีความเห็น 833 ความเห็น และเวที 4 ภาคมีคนเข้าร่วมทั้งลงทะเบียน และไม่ได้ลงทะเบียนแต่มาแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ รวมจำนวน 2,098 คน ซึ่งในความเห็นทั้งหมดรวมแล้ว 1,622 ความเห็น โดยจะไม่แยกความคิดเห็นว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่เราจะรวมเป็นหมวดๆ ว่าเห็นด้วยอะไร ไม่เห็นด้วยอะไร

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของงานเสวนา น.ส.สุนทรี เซ่งกี่ กรรมการ สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน พยายามขอแสดงความคิดเห็น โดยการพูดผ่านไมโครโฟน ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ขอให้ดำเนินการตามระบบที่เตรียมไว้ คือ เขึยนเสนอความคิดเห็นขึ้นมาบนเวที แต่ น.ส.สุนทรี ไม่ยินยอม โดยประกาศว่าจัดเวทีเสวนาเพื่อให้คำตอบประชาชน แต่ปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนได้พูด

กำลังโหลดความคิดเห็น