เพียงยกแรกของการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคฉบับใหม่ก็วุ่นเสียแล้ว เมื่อเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ วอล์กเอาท์ออกจากเวทีรับฟังความเห็นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเวทีแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา
เหตุผลในการไปในที่ประชุม แต่ไม่ร่วมการประชาพิจารณ์ คือ ประชาชนถูกกีดกัน ไม่ให้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเพราะจำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 300 คน ให้เวลาพูดคนละ 3 นาทีเท่านั้น
กฎหมายบัตรทองใช้มาแล้ว 15 ปี ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ งบประมาณด้านการสาธารณสุขที่เคยอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ถูกโอนไปอยู่ในการดูแลของสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องรับเงินเดือนหมอ พยาบาล และเบิกค่าใช่จ่ายในการรักษาคนไข้ ค่ายา ฯลฯ จาก สปสช.
สปสช.เป็น “พ่อค้าคนกลาง” รับเงินงบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาทจากรัฐบาล ไปซื้อบริการ คือ การรักษาพยาบาลประชาชนจากผู้ขายบริการ คือ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระบบที่อ้างว่าเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนเข้าถึง การรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสียงสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดจากระบบพ่อค้าคนกลางเริ่มหนาหูขึ้น โดยเฉพาะเสียงจากผู้ขายบริการคือ โรงพยาบาลที่ถูกคนกลางกดราคาได้รับเงินค่าซื้อบริการต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการให้การบริการแก่คนไข้ เป็นปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี จนเมื่อไม่นานมานี้ หัวหน้า คสช.ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้จ่ายงบกลาง 5,000 ล้านเพื่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ นำไปแก้ปัญหาสภาพคล่องก่อนเป็นการชั่วคราว
การบริหารงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรค โดย สปสช.ยังมีปัญหาว่า ทำให้เกิดข้อจำกัดในการรักษาคนไข้ กล่าวคือ แพทย์จะต้องวินิจฉัยอาการให้การรักษาคนไข้ตามสูตรที่ สปสช.กำหนด แทนที่จะรักษาตามอาการที่เป็นจริง และแนวทางที่แพทย์ เห็นสมควร มิฉะนั้นแล้ว จะเบิกค่ารักษาไม่ได้
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องกล่าวหาความไม่โปร่งใสของการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่มีการนำเงินไปใช้ในกิจการขององค์กร มูลนิธิ เครือข่ายภาคประชาชนที่ไม่ใช่การรักษาคนไข้โดยตรง โดยอ้างว่า เป็นการส่งเสริม การสนับสนุน การป้องกันโรค การสร้างสุขภาพที่ดี
หลายๆ องค์กร หลายๆ มูลนิธิที่ใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปทำกิจกรรม เป็นมูลนิธิ เป็นองค์กร ที่กรรมการ สปสช.เป็นผู้ก่อตั้ง หรือเป็นประธาน เป็นกรรมการอยู่ จึงเกิดข้อครหาว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ซึ่งได้จัดทำร่างใหม่เสร็จแล้ว และอยู่ในช่วงการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชน
ร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ มีสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎหมายเดิมหลายเรื่อง เช่น การให้นิยามเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพว่า เงินที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ในขณะที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดนิยามไว้
ผู้แทนภาคประชาชน 2 คน ในคณะแก้ไขกฎหมายไม่เห็นด้วยกับการกำหนดนิยาม เพราะเป็นการจำกัดขอบเขตการใช้เงิน แต่เนื่องจากเป็นเสียงส่วนน้อย ข้อเสนอนี้จึงตกไป
ส่วนคำว่า สถานบริการสาธารณสุข ในกฎหมายเดิมหมายถึงสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน ของสภากาชาดไทย ในร่างแก้ไขได้เพิ่มหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ตามที่คณะกรรมการ สปสช.กำหนด
ในขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนพยายามเสนอให้สถานบริการสาธารณสุข มีนิยามที่กว้างครอบคลุมถึงองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรด้วย เพื่อมีสิทธิในการใช้เงินกองทุน แต่ไม่สำเร็จ
ร่างกฎหมายแก้ไขใหม่ ยอมให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ขอเงินในกิจกรรมบริการสาธารณสุขได้ แต่ต้องไปขอจากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการของรัฐในท้องถิ่น ไม่อนุญาตให้ขอเงินจากกองทุนส่วนกลาง
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มจำนวนกรรมการ สปสช. จาก 35 คน เป็น 43 คน โดยเพิ่มสัดส่วนตัวแทนสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข จากเดิม 5 คน เป็น 6 คน และให้มีตัวแทนสถานบริการ คือ โรงพยาบาล 7 คน จากเดิมไม่มีเลย
ภาคประชาชนซึ่งมีตัวแทนอยู่ในกรรมการ สปสช. 5 คน ขอเพิ่มตำแหน่งกรรมการอีก 2 คน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ให้คงไว้ 5 คนเท่าเดิม
จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพฉบับใหม่นี้ ตีกรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อย่างชัดเจนว่าใช้เพื่ออะไรบ้าง และใครที่มีสิทธิใช้บ้าง องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอถูกสกัดไม่ให้ใช้เงินกองทุนเหมือนที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่สูญเสียโอกาสช่องทางเข้าถึงเงินกองทุนเท่านั้น ยังสูญเสียอำนาจใน บอร์ด สปสช.เพราะมีตัวแทนจากโรงพยาบาลซึ่งเป็น “ผู้ขายบริการ” ให้ สปสช.เข้ามาอยู่ในบอร์ดเป็นครั้งแรกถึง 7 คน จากเดิมที่ไม่มีเลย ในขณะที่ตัวแทนเอ็นจีโอถูกจำกัดให้มี 5 คนเท่าเดิม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ จะต่อต้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขทำลายหลักประกันสุขภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 สุดแต่จะอ้าง
ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ไม่มีใครถูกละเมิดสิทธิ มีแต่ผู้สูญเสียช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับปัจจุบันมาอย่างยาวนานคือ เอ็นจีโอในนามสารพัดเครือข่าย