xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

30 บาท แตะเธอโลกแตกแน่??!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีใครปฏิเสธโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่าเป็นโครงการที่ไม่ดีและไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย

แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมเมื่อมีความคิดที่จะปรับปรุงแก้ไข “พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545” ถึงได้มีคนออกมาต่อต้าน ขณะที่ “ฝ่ายการเมือง” เอง ก็ฉวยโอกาสหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปลุกระดมมวลชนทุกครั้งไป

ครั้งนี้ก็เช่นกัน

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องออกมาประกาศรับประกันว่า จะไม่มีการล้มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างที่มีการปล่อยข่าวออกมา และ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะออกมายืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้หมวดสิทธิการบริการสาธารณสุขก็ตาม

สัญญะของเรื่องนี้จึงมีความน่าสนใจไม่น้อย

กล่าวสำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2545 และมีประชาชนได้รับสิทธิดังกล่าวประมาณ 50 ล้านคนทั่วประเทศ และเป็นโครงการซึ่งไม่มีวันที่รัฐบาลไหนจะล้มได้ แม้จะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในระบบที่เพิ่มขึ้นทุกปีและกระทบกับภาวะการเงินการคลังของประเทศอย่างหนักหนาสาหัสสักเพียงใดก็ตาม นี่คือความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

แต่ถ้าถามว่า โครงการมีปัญหาไหม?
และมีผู้คิดที่จะรื้อโครงการนี้จริงไหม?

ก็ต้องตอบว่าจริง และคำตอบของทั้ง 2 คำถามมีความเกี่ยวพันเป็นเนื้อเดียวจนยากที่จะแยกออกจากกันได้

ทั้งนี้ ตัวละครที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้มีอยู่ 2 หน่วยงาน หน่วยงานแรกคือ “กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)” ในฐานะผู้ให้บริการทางการแพทย์และ หน่วยงานที่สองคือ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)” ในฐานะผู้ควบคุมงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่า ทั้ง 2 หน่วยงานมีความขัดแย้งมาโดยตลอด และเคลื่อนไหวผ่านสงครามตัวแทนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคประชาชนรวมทั้งเครือข่ายคนรักสุขภาพ เครือข่ายแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับชั้นก็ผสมโรงหลอมรวมปัญหาเข้ามาในลักษณะของ “ตัวกูของกู” อันทำให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา หรืออาจใช้คำว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมี “ประชาชนเป็นตัวประกัน”

อย่างไรก็ดี ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนเหตุและปัจจัยเดียวกันคือ “อำนาจ” ในการควบคุม “งบประมาณ” หรือ “เงิน” ก้อนมหึมานับแสนล้านบาทในแต่ละปี

ขณะที่ตัวโครงการเองก็มีปัญหาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขาดแคลนงบประมาณที่เพียงพอในการจัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ อันนำมาซึ่งปัญหาสารพัดสารพัน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการให้บริการ รองลงมาคือ “บุคลากรทางแพทย์” ที่ไม่สมดุลกับจำนวนผู้เข้ารับบริการซึ่งต่างฝ่ายต่างก็โทษกันไปมา

ส่วนความขัดแย้งที่ปะทุในรอบปัจจุบันอันเนื่องมาจากกระบวนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เริ่มต้นยกแรกก็ดุเดือดเลือดพล่าน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายนำโดยรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ....และเริ่มให้มีการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.60 ในระบบออนไลน์และกระจายใน 4 ภูมิภาคระหว่างวันที่ 10-18 มิ.ย.60 เพราะเครือข่ายภาคประชาชนมองว่ามีความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น และเคลื่อนไหวต่อต้านในลักษณะของการชุมนุมคัดค้านพร้อมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายและให้เริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด

ไล่เรื่อยมาตั้งแต่เห็นว่า องค์ประกอบคณะทำงานแก้กฎหมายมีสัดส่วนไม่เหมาะสม มีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับฝ่ายผู้จัดบริการ 12 คน ในขณะที่สัดส่วนประชาชนมีเพียง 2 คน จาก 26 คน

ส่วนประเด็นทางด้านกฎหมายก็มีส่วนเอนเอียงใน 3 หัวข้อคือ 1.การเพิ่มสัดส่วนกรรมการบอร์ด สปสช.ที่เสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน ซึ่งภาคประชาชนมองว่า ส่อเจตนาปล่อยให้ฝ่ายผู้จัดการบริการซึ่งก็คือกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาแทรกแซง ทำให้เกิดผลประโยชน์ซับซ้อน

หรือดังที่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ว่า “กำลังมีการทำลายหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการ”

2.การไม่ยอมแก้กฎหมายให้สำนักงาน สปสช.สามารถบริหารจัดยารวมถึงยาบางรายการที่มีราคาแพงหรือมีแนวโน้มเกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน เท่ากับว่าลดทอนอำนาจการบริหารกองทุนของ สปสช. และ 3.การกำหนดไม่ให้สามารถซื้อบริการดูแลรักษาจากภาคส่วนอื่นได้ แต่กำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพต้องส่งเงินให้กับหน่วยบริการเท่านั้น ถือเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ

และนั่นนำมาซึ่งการออกมาชุมนุมของเครือข่ายคนรักประกันสุขภาพเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

เรียกได้ว่า เล่นกันแรงแบบไม่ยั้งเลยทีเดียว

ขณะที่ทางฝ่ายคณะกรรมการร่างกฎหมายก็ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังเป็นการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริการ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสุขภาพและป้องกันโรค

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา ที่ถูกโจมตีหลังถูกตัดต่อความเห็น “ ความฟรีทำลายสุขภาพคนไทย” ไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์จนถูกถล่มยับเยิน อธิบายว่า การออกมาให้ความเห็นก็เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสุขภาพ และป้องกันโรค จะได้ป่วยน้อยก็จะทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อย

“หากตามข่าวจะพบว่า ปัญหามีมากโรงพยาบาลขาดทุน ไม่มีเงินซื้อยา แพทย์พยาบาลทำงานหนักจนหมดสภาพ ป่วยและตายไปหลายราย ถึงแม้รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณมากเท่าใดก็ตาม ปัญหาต่างๆ กลับยิ่งสะสมและหนักหน่วงขึ้น ทุกๆ ครั้งที่ชี้ให้เห็นปัญหาผมจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไปด้วย โดยเน้นความพอเพียงในทุกๆ มิติ และเน้นที่บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ให้หมอเป็นหมอ และ สปสช. มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงิน ผมสนับสนุนให้ 30 บาท ฟรี เพราะทำให้คนเข้าถึงโรงพยาบาล ที่สำคัญ ผมได้เน้นว่าระบบจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การดูแลรักษาสุขภาพตนเอง และสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม มีความรู้ว่าการป่วยแบบใด ควรมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน หรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้หมายถึงการจ่ายค่ายาหรือค่ารักษาแต่อย่างใด เพราะสิ่งนั้นจะทำให้ประชาชนในภาวะเจ็บป่วยลำบากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวยืนยัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็คือแล้วจะทำกันอย่างไร

เพราะฝ่ายหนึ่งก็ต้องการคงอำนาจของตนเองไว้ ไม่ต้องการให้คนอื่นเข้ามายุ่ง โดยจับประชาชนเป็นประกัน ขณะที่อีกฝ่ายก็พุ่งเป้าไปที่การรื้ออำนาจของ สปสช.จริงๆ เพราะมองเห็นว่า ทำให้เกิดปัญหา แถมยังมีอีกขบวนผสมโรงสอดไส้เข้ามามีวาระซ่อนเร้นในการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพจริงๆ เช่นกัน

เรื่องจึงเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน มีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่อาจมองแบบชั้นเดียวเชิงเดียวได้

สังคมจึงเห็นวาทกรรมจำพวก “แพทย์ชนบท-แพทย์พาณิชย์-เอ็นจีโอ” ปะทะกันวุ่นวายในโลกสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแวดวงสาธารณสุข ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวาทกรรมจำพวก “ท้ารบ” ทำลายฝั่งตรงข้ามทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว โครงการนี้มีปัญหาและจำต้องปรับปรุงแก้ไขจริง แต่ก็ถูกมองข้ามไปจนยากที่จะ “ปรองดอง” กันได้

ส่วนฟากการเมือง ปัญหาอยู่ตรงที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย รวมถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อยากเติมเงินมากไปกว่านี้อีกเพราะประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ด้านฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารก็ร่วมผสมโรงออกไปปลุกกระแสมวลชนเพื่อจ้องทำลายล้างรัฐบาลโดยที่มิได้สนใจในข้อเท็จจริงของการแก้กฎหมาย ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่า พรรคการเมืองไหนที่ดำเนินการในลักษณะนี้

“การแก้ไขกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่ช่วยแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขที่เรื้อรังมานานได้ส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น บทบาทของ สปสช.ที่ควรดูแลและกำกับหรือตรวจสอบให้ประชาชนได้รับสิทธิที่ควรจะเป็น แต่ในปัจจุบันกลับลงมาเล่นเองทุกอย่าง ทั้งการกำหนดเรื่องการใช้ยา กำหนดวิธีการรักษา กำหนดเกณฑ์การจ่ายเงิน ซึ่งหลายคนมองว่าสร้างปัญหาและควรต้องปรับปรุง แต่กลับมาเอาการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เล่นการเมืองมากเกินไป ต้องเอาการเมืองออกไป อำนาจจะอยู่ที่ใครก็ตาม ขอให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด”นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปให้ความเห็น

สอดคล้องกับสิ่งที่ ศ.คลินิก เกียรคุณ นพ.ปิยะสกลบอกว่า “ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในการปรับกฎหมายก็ให้ไปแสดงในเวทีประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ไปแสดงนอกรอบและปลุกปั่นให้เกิดความระส่ำระสาย”

ด้วยเหตุดังกล่าว การแก้ไขปัญหาระบบประกันสุขภาพของไทยจึงวนอยู่ในอ่างด้วยประการฉะนี้

แต่จะอย่างไรก็ดี สุดท้ายรัฐบาลจำต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะกล้าหรือจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ไม่ธรรมดา มีเครือข่ายโยงใยหยั่งรากลึก มีมวลชนเป็นของตัวเอง ซึ่งรัฐจำต้องพึ่งพิงในการเดินหน้าและขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ

ศึกอำนาจและผลประโยชน์ครั้งนี้ ไม่ธรรมดาจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น