ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋”มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศกร้าวตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งออกแบบรัฐธรรมนูญ ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง
ด้วยภาพนักการเมืองไทยที่เป็นตัวปัญหา ทำทุกอย่างแบบมีเงินทอน มีโครงการอะไรจะทำให้ชาวบ้าน ก็ต้องทอนเงินกว่าครึ่งเข้ากระเป๋าตัวเอง ทำให้ “ซือแป๋”วางกับดัก กระบวนการตรวจสอบไว้อย่างเข้มข้น ให้อำนาจองค์กรอิสระไว้สูงลิบ
ต่อไปใครอยากล้มรัฐบาลไปยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระ เอาหลักฐานจะๆไปให้ก็ล้มรัฐบาลได้ไม่ยาก ได้ผลชะงัดกว่าให้นักการเมืองฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไหนๆ เพราะยกมือในสภาฯทีไร ฝ่ายค้านบ่มิไก๊ทุกที
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องค์กรอิสระเดิมที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ส่วนใหญ่ยังให้รักษาการจนกว่ากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับองค์กรนั้นๆ เสร็จสิ้น แล้วว่ากันอีกทีว่าจะให้อยู่ทำหน้าที่จนครบวาระ หรือสรรหาใหม่กันทั้งหมด
แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าสรรหาใหม่จะสรรหาในขวบปีที่ยังมีนายกฯ และหัวหน้าคสช. ชื่อ“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จุดนี้เป็นประเด็นโจมตีของบรรดานักการเมือง ว่าจะเป็นการส่งมือส่งไม้ คนของตัวเองเข้าไปนั่งควบคุมบงการองค์กรอิสระ ที่จะเป็นองค์กรชี้เป็นชี้ตายนักการเมือง และรัฐบาลในอนาคตหรือไม่
ที่เห็นชัดองค์กรแรกที่จะเริ่มกระบวนการสรรหา คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทั้งหมดจะครบวาระช่วงเดือนก.ย. หน่วยงานนี้มีความสำคัญ คอยตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาล ที่ผ่านมาผลงานก็เห็นกันอยู่ว่าฟอกขาวฟอกดำ อย่างไร
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อำนาจองค์กรนี้ไว้อย่างเต็มที่ สามารถยับยั้งการใช้เงินที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเสนอเรื่องให้ คตง.ไปหารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากเห็นไปทางเดียวกัน สามารถแจ้งเรื่องไปยัง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรี ระงับยับยั้งได้
เหลือบไปมองที่องค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่ดูแลจัดการการเลือกตั้ง ที่กำลังจะถูกเซตซีโร สรรหาใหม่ยกกระบิ จนเป็นข่าวครึกโครม แม้รัฐธรรมนูญจะเพิ่ม กกต. จาก 5 คนเป็น 7 คน และเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องของคุณสมบัติด้วย แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ต้องสรรหาใหม่ทั้งหมด เมื่อไล่เรียงดูคุณสมบัติกกต. กับรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนใหญ่ก็ยังมีคุณสมบัติครบอยู่
แต่คนในแม่น้ำ 5 สาย มองว่าต่อไปการทำงานอาจลักลั่น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลยจัดแจงล้างบางมันเสียเลย ระบุว่าไหนๆ ภาระงานก็มากขึ้น คุณสมบัติก็ต้องเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ล้มกระดานเลือกกันใหม่ดีกว่า
“ซือแป๋”ถึงกับปรบมือรัว ชมเปาะ กมธ.เด็ดขาดกว่ากรธ. เสียอีก อุทานแบบนี้เหมือนงานเข้าเป้า ยืมมือกมธ.เชือด กกต.ไปแบบนิ่มๆ ขณะที่ วิษณุ เครืองาม ก็ออกมาหนุนเรื่องนี้เต็มที่ บอกว่าไม่อยากให้เกิดปัญหาปลา 2 น้ำ
“สมชัย ศรีสุทธิยากร”กกต.ด้านบริหารกลาง ทั้งเครียด ทั้งแค้น หลังพยายามต่อสู้ยื้อแย่งเก้าอี้ไว้เต็มเหนี่ยว มีข่าวกระเส็นกระสายว่าไปล็อบบี้ สนช. อีนุงตุงนัง แต่ไร้ผล โอดครวญสถานการณ์ของ กกต. เลวร้ายสุดประเมิน
ในเมื่อจะตายก็ขอตายตกไปตามกัน เลยทิ้งหมัดสุดท้าย หยิบเรื่องที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จอมร้องแห่งพรรคเพื่อไทย ยื่นให้ตรวจสอบการถือหุ้นของ 9 รัฐมนตรี เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ย้อนศรย้อนเกล็ดกันแบบแสบไปถึงทรวง
ร่องรอยความปริร้าวที่เกิดขึ้น น่าจะชัดเจนว่า กกต.โดนเซตซีโร ล้างบางแน่ เพราะออกอาการชัดเจนว่างอแง ดื้อดึง ต่อไปคงคุยด้วยยาก สรรหากันใหม่เอาคนที่คุยได้แบบใจถึงใจดีกว่า
ฝ่ายการเมืองที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ กกต.ชุดนี้ อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ใช่ว่าจะยิ้มได้เต็มแก้มกับการพ้นไปของกกต.ชุดนี้ แม้ช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโดนพิษอำนาจกกต.เข้าไปเต็มเปา อยากจะจัดเลือกตั้ง แต่กกต. ตอกหน้ากลับมาว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพราะมีม็อบก่อกวน ครั้นจะจ่ายเงินจำนำข้าว ที่ค้างชาวนาไว้ แต่กกต.ก็ไม่อนุญาต สุดท้ายพอ คสช.เข้ามา ก็จ่ายเงินจำนำข้าวเหมือนที่รัฐบาลเดิมอยากทำ กลายเป็นผลงานชิ้นแรกไปซะอย่างงั้น
กระนั้นก็ตาม ไม่มีอะไรมาการันตีว่า กกต. ชุดใหม่ ที่จะสรรหากันในยุคของ คสช. จะเป็นอย่างไร จะควบคุมการเลือกตั้งแบบไหน สถานการณ์สุ่มเสี่ยงส่งผลเลวร้ายต่อพรรคเพื่อไทย มากกว่าเก่าเสียอีก
นอกเหนือจากนี้ ยังมีองค์กรอิสระที่มีอำนาจโค่นล้มรัฐบาลอีกมาก และอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายลูก องค์การที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลและนักการเมืองสูงสุดนั่นก็คือ ป.ป.ช. ผลงานที่ผ่านมาปรากฏชัด ปัดกวาดนักการเมืองพ้นเส้นทางสายอำนาจมานักต่อนัก ระยะหลังถูกนักการเมืองอาชีพตราหน้าว่าเป็นเครื่องมือของคสช. ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม องค์กรนี้น่าจับตาว่า จะมีการสรรหาใหม่ทั้งหมดด้วยหรือไม่
เพราะตามโครงสร้างของป.ป.ช.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบรื้อนั่งร้าน แบบกกต. และคนในแม่น้ำ 5 สาย ก็ออกตัวมาแล้วว่า ไม่ได้มีบรรทัดฐานที่จะเซตซีโรองค์กรอิสระทั้งหมด จะดูเป็นแห่งๆไป
มองดูการทำงานของป.ป.ช. เท่าที่อยู่ในตำแหน่งตอนนี้ ก็ได้สเปกตรงตามความต้องการ คสช.ดีอยู่
แต่ถ้าสรรหาใหม่ทั้งหมดในยุค คสช. นักการเมืองคงหนาวสะท้านใจ จะเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ ขอคิดดูก่อน โทษถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่เท่าไหร่ อาจเดือดร้อนไปชดใช้ความผิดทางอาญาในคุกโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ก็รู้กันดีว่าใครใหญ่ อยากจะสรรหาองค์กรอิสระทั้งหมดในช่วงนี้ใครจะห้ามได้ อย่างเก่งก็ทำได้เพียงเพียงโหวกเหวกโวยวายแค่นั้น
กระนั้นก็ดี องค์กรอิสระต่างๆ ต้องทำหน้าที่กันอีกยาวนาน จึงอยากให้เอาคนที่ได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่ายในสังคมมาทำหน้าที่ เพราะถ้าองค์กรอิสระไม่อิสระสมชื่อ ทำงานเอียงข้าง ตัดสินอะไรออกมาไม่มีความน่าเชื่อถือ จะถูกคนนินทา หมาดูถูก ลามปามไปถึงคนแต่งตั้ง เป็นตราบาปแห่งยุคสมัย
ไหนๆ ก็บากหน้าเข้ามายึดอำนาจแล้ว อย่าให้คนด่าตามหลัง น่าจะทำผลงานเป็นที่โจทย์ขานเอาไว้บ้าง !!!