4 คำถามนายกฯ เป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องยาวนานกว่าสัปดาห์ เมื่อ"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ตั้งคำถามโยนให้สังคมตอบ ช่วยกันระดมความเห็นคิดออกมา
เหตุผลที่ต้องมีคำถาม 4 ข้อของนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องคาบเกี่ยวกับเรื่องบ้านเมือง การเมือง อ้างว่าประชาธิปไตยไทยต้องไม่ล้มเหลว จึงตั้งประเด็นคำถาม 4 ข้อถึงประชาชนก่อนพาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ทั้ง4ข้อมีอะไรบ้างคอการเมืองทราบกันดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงกันหมด
แต่หลายคนงงกับคำถามดังกล่าว เพราะในเมื่อคสช.เข้ามายึดอำนาจ ตั้งคณะขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 2-3 รอบก็แล้ว ใช้กฎหมายปรุงแต่งหลายสิ่งหลายอย่างก็แล้ว โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ผ่าทางตันทุกปัญหา การตั้งคำถามแบบนี้หมายความว่าที่รัฐบาลและคสช. ทำมาย่างเข้าปีที่4คืออะไร?
คือยังไม่ได้ดั่งใจ ยังไม่ไว้วางใจสถานการณ์ใช่หรือไม่? และจะต้องปรับแต่งประเทศกันไปอีกนานแค่ไหน หลังจากบริหารบ้านเมืองมานานกว่า 3 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงไปตามที่บอกว่า "จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน"
นักการเมืองเจอคำถามทั้งสี่จุกเสียดกันไป และมีเสียงสะท้อนจากแวดวงนักการเมือง ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา สามัคคีรุมยำนายกฯและคสช. ตั้งแง่ข้อสงสัยว่าเป็นคำถามเชิงหาความชอบธรรม เพื่อยื้ออยู่ยาว เพื่อกลับมาเป็นนายกฯอีก กับอีกหลายประเด็นที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตไว้ และก็หนีไม่พ้นเรื่องไม่ยอมคายอำนาจ
ทางด้านวิชาการ ล่าสุดสำนักโพลอย่างสวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชนบางส่วนระบุว่า 4 คำถามของนายกฯจะนำไปสู่การเลือกตั้ง ร้อยละ 77.38 บอกว่าเป็นคำถามที่กลั่นมาจากใจนายกฯ ถามตรงไปตรงมา ขณะที่ร้อยละ 53.59 เห็นว่าเป็นคำถามชี้นำ อาจทำให้เกิดความแตกแยก
ส่วนนิด้าโพลไปสำรวจเจาะไปที่ 4 คำถามของนายกฯ ได้รับคำตอบโดยสรุปตามเสียงส่วนใหญ่ว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ส่วนวิธีแก้ไขคือให้มีบทลงโทษอย่างจริงจัง เช่น ให้ลาออก ตัดสิทธิทางการเมือง ยุบสภา เลือกตั้งใหม่
ส่วนคำถามในข้อ 3 ของท่านนายกฯ ที่ว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง แน่นอนว่าคนตอบว่าไม่ถูกต้องมากถึงร้อยละ 73.52 ส่วนที่บอกว่าถูกต้องมีเพียง 14.96 เท่านั้น
คำถามข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นจุดที่ทำให้ถูกโจมตีว่าเป็นการชี้นำ เพราะคำตอบที่ได้ก็ชัดเจนแน่นอน ตามผลโพลที่ออกมา คงยากที่จะตอบเป็นอื่น เช่นเดียวกับคำถามข้อ 4 ที่พุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นนักการเมือง
ส่วนคำตอบของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศยังไม่เฉลย อยู่ในระหว่างระดมกำลังไปให้คำตอบกันอยู่ ซึ่งรัฐบาลดูเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สั่งลุยเต็มที่ ประชุมผู้ว่าฯ นายอำเภอ เรื่อยไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำชับให้ตรวจสอบศูนย์ดำรงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
เป้าหมายคือต้องให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ไม่มีการบิดเบือน ปรุงแต่ง สั่งการถึงขนาดให้ลง "เลขที่บัตรประชาชน"ของผู้มาให้ความเห็นเอาไว้ด้วย เมื่อตั้งเงื่อนไขเอาไว้แบบนี้ ประชาชนคนไหนจะกล้าตอบคำถามแบบทิ่มแทงใจท่านผู้นำ
ก็มีคำถามกลับไปว่า รัฐบาลจะเอาคำตอบจากใจ หรืออะไรกันแน่ หรือสุดท้ายเมื่อไม่มีใครมาตอบ ก็ต้องใช้กลไกทางปกครอง โดยกระทรวงมหาดไทยนี่แหละสั่งไปตามสายงานบังคับบัญชา ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พาคนออกมาตอบคำถาม ถามว่าแบบนี้จะได้ประโยชน์อะไร? คำตอบที่ออกมาจะเป็นแบบไหนก็พอเดากันได้
หรือว่าสุดท้ายแล้วท่านนายกฯ และรัฐบาลต้องการให้เป็นแบบนั้น คำถามที่ถามไปก็คงอยากได้คำตอบที่ออกมาเหมือนผลโพล หากเป็นอย่างนั้นแล้วจะได้อะไร?
การยิงคำถามจากนายกฯไปยังประชาชนครั้งนี้ มีกลเม็ดทีเด็ดแยบยล มองได้หลายมิติ อาจจะเป็นหมากหนึ่งในเกมยื้ออำนาจ สร้างความชอบธรรม เรียกแต้มหาคะแนนเสียงให้ตัวเองไว้ล่วงหน้า พร้อมกับปรามาสนักการเมืองไปในคราวเดียวกัน เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ล้ำลึกจริงๆ