เชียงใหม่ - เครือข่ายประชาชนภาคเหนือสุดทน จวกยับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ไม่เป็นธรรม-ไร้ธรรมาภิบาล เกิดมาเพราะ ม.44 จ่อวอล์กเอาต์เวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 กลางคัน พร้อมนัดชูป้าย-ตั้งโต๊ะแถลงการณ์เรียกร้องรัฐเลิกดัน ขู่ฟ้องศาลปกครองซ้ำ
วันนี้ (11 มิ.ย.) คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับร่างใหม่ ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใน พ.ร.บ.ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมืองเชียงใหม่
นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวเปิดประชาพิจารณ์ และชี้แจงวัตถุประสงค์การเปิดเวที โดยว่า เป็นการจัดกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมการเพิ่มเติมปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด และจะทำให้การบริหารงานสวัสดิการสุขภาพของชาติมีความเข้มแข็งขึ้น ได้มีการปรับแก้ได้ตามความต้องการของประชาชน ตลอดจนนำข้อเสนอจากที่ประชุมจัดทำเป็นเอกสารวิเคราะห์ และสรุปความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
โดยมีตัวแทนภาคประชาชน-ภาคราชการ หรือหน่วยบริการ ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมกว่า 500 คน ซึ่งที่ประชุมกำหนดเวลาให้พูดแสดงความคิดเห็นคนละ 3 นาทีเท่านั้น และสามารถกรอกความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้ พร้อมทั้งมีให้กรอกความคิดเห็นทางออนไลน์ด้วย
นายแพทย์ พลเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศแล้ว จากนั้นจะมีเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เวทีพูดคุยเพิ่มเติม เป็นการเรียนรู้ไป พัฒนาไป เป็นกระบวนการทางปัญญา และการมีส่วนร่วม ซึ่งเวทีทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ส่งมอบบทสรุปวิเคราะห์ต่างๆ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ภายใน 30 มิ.ย.
“เมื่องานมาเร็ว และต้องการคุณภาพเราก็ต้องทำให้ได้ ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อต่อรอง ดูจากการสมัครเข้ามาร่วมเวทีทางออนไลน์กว่า 300 คน ถือว่าประชาชนให้ความสนใจมาก ถือเป็นปัจจัยทางบวก ให้ฝ่ายทำกฎหมายต้องพิถีพิถันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่มากที่สุด”
ซึ่งบรรยากาศในที่ประชุมค่อนข้างคึกคัก มีการขานชื่อผู้ที่ลงทะเบียนตามลำดับอย่างเคร่งครัด สลับกันไปทั้งฝ่ายประชาชน หน่วยบริการ และนักวิชาการ ขณะที่นอกห้องประชุม กลุ่มนักสื่อสารสุขภาพก็ได้ตั้งจุดถ่ายทอดความเห็นทางเฟซบุ๊ก เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียคู่ขนานกับเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะ และนำเสนอถึงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่า การปรับปรุงกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นธรรมาภิบาล ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของการออกกฎหมายปกติ แต่เกิดจากผู้บริหารประเทศใช้มาตรา 44 เพื่อให้มีการยกร่าง
ขณะที่คณะอนุกรรมการยกร่างก็ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งหมด 28 คน แต่มีภาคประชาชนเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขความเห็นของภาคประชาชน จึงกลายเป็นเสียงส่วนน้อย หลายคนจึงขอให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ตั้งแต่ความไม่เป็นธรรมในการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.
นายวิฑูรย์ สุรจิต เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดแพร่ ซึ่งได้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า เนื้อหาของร่างมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญคือ การจ่ายเงินดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมาสามารถจัดสรรผ่านองค์กรท้องถิ่น ให้ประชาชนไปร่วมจัดกิจกรรมสร้างสุขภาพได้ ซึ่งในแนวคิดให้ประชาชนนอกจากเป็นผู้รับบริการแล้ว ยังสามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยชุมชนของตนเอง เรียกว่าสามารถเป็นผู้ให้บริการได้
แต่ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่มีนิยามของ “ผู้ให้บริการ” เป็นภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพเชิงรุก หรือที่เรียกว่า “สร้าง นำ ซ่อม” ได้ อนาคตอาจทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะประชาชนต้องไปรอให้ภาครัฐจัดการสุขภาพให้แต่เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมเวทีบางส่วนเริ่มไม่พอใจการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวมากขึ้น พากันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านและนัดหมายกันเดินออกจากห้องประชุมกลางคัน เตรียมตั้งโต๊ะถือแผ่นกระดาษเขียนข้อความ “แก้แล้วแย่ ไม่แก้ดีกว่า” ก่อนให้แกนนำกล่าวแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว และถ้ายังไม่ฟังจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือการฟ้องศาลปกครองต่อไป