xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพบุกพบนายกฯ แต่แห้วเจอ รปภ.สกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายภาคประชาชน 75 เครือข่าย บุกยื่นหนังสือนายกฯ “ประยุทธ์” ให้ยุติแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อเริ่มกระบวนการแก้ไขใหม่ที่มีภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม หวั่นลิดรอนสิทธิประชาชน แต่แห้วไม่ได้เจอนายกฯ ต้องยื่นศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.10 น.วันนี้ (21มิ.ย.) ที่บริเวณศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มข.ซึ่งเป็นสถานที่ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาปาฐกถาพิเศษเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต่างๆกว่า 70 องค์กรที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยตัวแทนอีกราว 5 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณการจัดงานไม่อนุญาตให้นายปฏิวัติ พร้อมพวกเข้าไป โดยแนะนำให้ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งจัดโต๊ะให้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ในบริเวณงานแทน

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนฯ กล่าวถึงการเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพครั้งนี้ว่า เนื่องจากภาคประชาชนไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขร่างกฏหมายหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งมีหลายประเด็นในการแก้กฎหมายที่ทำลายเจตนารมณ์ และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงต้องการสะท้อนปัญหาข้อกังวลของภาคประชาชนให้นายกรัฐมนตรี รับรู้ และนำไปพิจารณา


สำหรับรายละเอียดในหนังสือคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพที่ต้องการยื่นถึงมือนายกฯ มีหลายประเด็น ประกอบด้วย

1.องค์ประกอบคณะทำงานแก้ไขกฎหมายที่แต่งตั้งโดย รมว.สาธารณสุข ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสัดส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของฝ่ายผู้จัดบริการที่มีมากถึง 12 คน จากคณะทำงาน 26 คน ที่เหลือคือ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีสัดส่วนประชาชนเพียง 2 คน

2.ประเด็นเนื้อหาของกฎหมายหลายเรื่องมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ต่อผู้จัดบริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการบอร์ด สปสช.ที่เสนอกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน เท่ากับเป็นการทำลายหลักการสมดุล และการแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการ และผู้ให้บริการ ซึ่งการแก้ในประเด็นนี้ส่อให้เห็นเจตนาที่จะปล่อยให้ฝ่ายผู้จัดบริการเข้ามาแทรกแซง มีอำนาจในการกำหนดด้านการเงินที่ต้องจ่ายให้แก่หน่วยบริการ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนและ เป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

3.การไม่ยอมแก้ไขให้ระบบหลักประกันสุขภาพโดยสำนักงาน สปสช.สามารถบริหารจัดหายารวมบางรายการในยาที่มีราคาแพง หรือมีแน้วโน้มมีปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน เท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจในการบริหารกองทุนของสำนักงาน สปสช.

4.การกำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถซื้อบริการดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูบำบัด จากภาคส่วนอื่นๆ ได้ ด้วยการกำหนดให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ต้องส่งเงินให้แก่หน่วยบริการเท่านั้น

เท่ากับเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการทั้งในกองทุนส่งเสริมป้องกันโรค และกองทุนอื่น เป็นต้น

5.ด้านกระบวนการรับฟังความเห็นที่มีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ และมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ เพราะเมื่อดูกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งเกี่ยวข้องต่อประชาชนกว่า 48 ล้าน พบว่า วิธีการเปิดรับฟังความเห็นข้างต้นไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งมีคนที่สามารถเข้าถึงได้เพียงจำนวนน้อย หรือกรณีเวทีรับฟังทั้ง 4 จังหวัด แม้กระจายไปตามภูมิภาคแต่ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนไปร่วมได้ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมเวที ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง ในขณะผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการที่เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข กลับสามารถมาร่วมได้โดยสามารถเบิกจ่ายจากต้นสังกัด ย่อมส่งผลให้สัดส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อ พ.ร.บ.นี้ไม่มีความเป็นธรรม และไม่เท่าเทียม

6.กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันฯ ในครั้งนี้ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 เป็นการดำเนินการที่ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขกฎหมายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การมีเวทีรับฟังความเห็นเท่านั้น

ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชน 75 เครือข่ายตามรายชื่อแนบท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ให้ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่

โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายให้มีความสมดุล และต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น