xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อย ชาวบ้านหวังเพิ่มรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - บ.อุบลเพาเวอร์เปิดเวทีรับฟังความเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 54 เมกะวัตต์ต่อวัน คู่กับการตั้งโรงผลิตน้ำตาลมูลค่ารวมราว 1 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีหน่วยงานสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่แสดงความห่วงใยการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ แต่หากโรงงานมีความพร้อมตามที่อ้างจริงก็เห็นด้วยให้ตั้งได้ เพราะต้องการมีรายได้จากปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว และการจ้างแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทยเขมราฐ ตั้งอยู่บ้านบาก ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี บริษัทไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท อุบลเพาเวอร์ จำกัด

โดยมีประชาชน หน่วยงานท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในรอบรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าจากพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เขมราฐ นาตาล กุดข้าวปุ้น และโพธิ์ไทร กว่า 300 คนเข้าร่วมแสดงความเห็นนานกว่า 3 ชั่วโมง

นายทม ขจรบุญ วิศวกรที่ปรึกษาจากบริษัทซูเทคเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Sutech Engineemy) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้า กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเป็นพลังงานเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 54 เมกะวัตต์ต่อวัน แต่จะเดินเครื่องเพียง 45 เมกะวัตต์ในช่วง 120 วันของฤดูเปิดหีบอ้อย และเดินเครื่องผลิตในช่วงละลายน้ำตาลวันละ 23 เมกะวัตต์ อีก 120 วัน ส่วนช่วงปิดหีบอ้อยจะเดินเครื่องเพียงวันละ 19 เมกะวัตต์


โดยไฟฟ้าทั้งหมดจะนำไปใช้กับโรงงานผลิตน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และขายส่วนที่เหลืออีกวันละ 16 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อนำไปเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าว

ขณะผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและส่วนท้องถิ่นได้แสดงความห่วงใยถึงแหล่งน้ำดิบ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง ตั้งอยู่บ้านดอนโด่ ต.หัวนา อาจได้รับผลกระทบจากการนำน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้าในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งผู้ทำประชาพิจารณ์ชี้แจงว่าได้มีการวางแผนทำบ่อกักเก็บน้ำดิบจากน้ำฝนพื้นที่กว่า 100 ไร่ จึงไม่มีการดึงน้ำจากอ่างมาใช้เพราะปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้มีอย่างเพียงพอ

ด้านผลกระทบจากฝุ่นละอองระหว่างการลำเลียงชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลเข้าสู่โรงไฟฟ้า ก็ใช้วิธีการลำเลียงแบบท่อสายพานลำเลียงคลุมปิด มีการกางสแลนรอบลานเก็บชานอ้อยสูง 15 เมตร พร้อมมีการปลูกต้นไม้รอบลานใช้เก็บชานอ้อย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและดักฝุ่นของเศษชานอ้อย

ส่วนผลกระทบด้านเสียงระหว่างเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โรงงานยืนยันว่ามีระดับเสียงไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ราชการกำหนดไว้ และจะมีการตรวจวัดระดับการได้ยินของพนักงานและประชาชนรอบข้างโรงงานเป็นประจำทุกปี

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอให้โรงไฟฟ้าช่วยลงทุนเดินสายไฟแรงต่ำให้กับหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันตามหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าฝนจะเกิดไฟฟ้าตามหมู่บ้านดับบ่อย เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยให้ทำ MOU กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจ่ายเงินคืนให้กับโรงงานที่จะเป็นผู้ลงทุนเดินสายไฟฟ้าแรงต่ำให้ก่อน

ซึ่งการรับฟังความเห็นครั้งนี้ ตัวแทนหน่วยงานและตัวแทนชาวบ้านเห็นด้วยที่จะให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ชานอ้อยเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าจะทำให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องราคาข้าวในแต่ละปี และการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะมีความมั่นคงขึ้น

สำหรับการเสนอขอตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท อุบลเพาเวอร์ จำกัด สืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนมีนาคม 2556 บริษัท น้ำตาลอุบล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นในพื้นที่บ้านบาก ต.หัวนา อ.เขมราฐ แต่ทางกรมโรงงานมีเงื่อนไขให้บริษัท น้ำตาลอุบล จำกัด ต้องสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้กำจัดกากคือชานอ้อยไม่ให้เหลือตกค้างในพื้นที่ และเพื่อไม่แย่งไฟฟ้าจากระบบปกติมาใช้ จึงเกิดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ขึ้น

โดยคาดว่าหากผ่านความเห็นชอบจากการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งมีกำลังการผลิตเต็มกำลังวันละ 28,000 ตันอ้อยต่อวัน และจะมีชานอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลวันละกว่า 8,000 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ล้านตันต่อปี มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ปัจจุบันบริษัทผลิตน้ำตาลแห่งนี้มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านรอบรัศมี 50 กิโลเมตรของโรงงานกว่า 10,000 ครอบครัวปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เพื่อส่งมาขายให้โรงงาน ซึ่งรับซื้อและส่งอ้อยไปขายต่อให้เกษตรกรมานานหลายปีแล้ว

ซึ่งหลังการก่อสร้างโรงงานคาดจะมีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ เพื่อส่งเข้ามาขายให้กับทางโรงน้ำตาลที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงราว 1 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น