อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
30 บาทรักษาได้ทุกโรค เป็นคำพูดที่เกินความเป็นจริง ในโลกนี้มีโรคมากมายที่หมอเทวดาก็ยังรักษาไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นคำพูดที่เกินเลยความเป็นจริง ในขณะที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่ได้รักษาอะไรได้ทุกอย่างถ้วนหน้าเช่นกัน ในโลกนี้มีโรคอะไรที่รักษาไม่ได้อีกมากมาย ยิ่ง สปสช. กำหนดแนวทางในการจ่ายเงินแบบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร โดยเฉพาะการกำหนดจ่ายเงินเฉพาะเพียงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ยาในบัญชียาหลักของชาติจะรักษาได้ถ้วนหน้าหรือรักษาได้ทุกโรค
กติกา ของ สปสช. มีว่า หากผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ (ซึ่งหลายครั้งก็มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของชีวิต หรือ คุณภาพชีวิต เช่น ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่สามารถรักษาโรคได้ทุกโรค และลางเนื้อชอบลางยา ผู้ป่วยบางคนอาจจะแพ้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ) หรือในบางกรณีผู้ป่วยเรียกร้องโดยไม่มีความจำเป็นก็มี
ถ้าผู้ป่วยร้องขอใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ผู้ป่วยรับผิดชอบเอง
ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นแต่แพทย์ยืนยันใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หน่วยบริการที่รักษา (โรงพยาบาล) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ประสานงานหน่วยบริการตามสิทธิ (คือ สปสช.) หาก สปสช. ไม่จ่ายก็เป็นว่าโรงพยาบาลต้องจ่ายเอง แต่ว่าเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ โรงพยาบาลก็ต้องจ่ายแล้วจะไปไล่บี้หักเงินเดือนหรือเก็บเงินจากแพทย์ผู้รักษาก็ว่ากันไป
ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและ สปสช. ยอมจ่ายให้โรงพยาบาลก็เป็นอันว่ายุติ
ปัญหาคือผู้ป่วยบางคนเป็น “งูเห่า” และแพทย์บางคนก็กลายเป็น “ชาวนา” เช่น ในตอนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และโน้มน้าวจนผู้ป่วยยอมจ่ายเองแล้ว ผู้ป่วยกลับไปฟ้อง สปสช. ซึ่งสปสช. ก็ใช้หลักการตามแผนภาพด้านล่างนี้ ทำให้วินิจฉัยมาว่า ให้โรงพยาบาลจ่ายยานอกบัญชียาหลักให้ผู้ป่วย พอเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น โรงพยาบาลก็ขาดทุนมากขึ้นจนไม่ไหว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ถอดยานอกบัญชียาหลักออกไปจากโรงพยาบาลจนหมด เป็นเช่นนี้หลายแห่ง และหมอที่รักษาก็ไม่กล้าจ่ายยานอกบัญชียาหลักและไม่มียาจะให้จ่ายรักษา และไม่กล้าบอกคนไข้ด้วยว่าหากจะรักษาให้รอดตายหรือหายต้องร่วมจ่ายเพราะกลัวจะเป็นชาวนากับงูเห่าดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงความเห็นว่า
กราบเรียน ท่านนายก และ คสช ต้องให้ สปสช ประกาศ ให้ประชาชนทราบทั่วกันว่า: ยาจะให้แก่คนป่วยได้ เท่าที่ สปสช. กำหนด เท่านั้น และเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีราชวิทยาลัยให้ความเห็น เพราะฉะนั้น สปสช. ต้องแจงให้คนป่วยทราบว่าได้เท่านั้นจริงๆ กรุณาอย่าให้คนรักษาบอก เพราะต้องใจเหี้ยมหาญจริงๆ เวลาเผชิญกับคนป่วยหนัก ที่ต้องใช้ยาอื่นๆ แต่ให้ไปแล้ว เบิก สปสช. ไม่ได้ สปสช. ส่งกลับมาให้ รพ. จ่าย รพ. เลยให้คนไข้ต้องจ่าย คนไข้ไม่มี แต่เห็นว่าเป็นสิทธิที่ควรจะได้ เพราะรัฐบาลบอกว่าได้ เลยเกิดปัญหา ควรต้องแจงงบ ที่มี ปัญหาหมักหมม ให้คนไทยทราบ ว่า 'แย่แล้วนะ' และเปลี่ยนระบบจัดการ และระบบป้องกัน และรักษาใหม่ |
คุณหมอ Trin Sudprasert แสดงความเห็นว่า
อ่านๆ มาถึงทำให้รู้ว่า ยังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจระบบ คือ สปสช.ให้ยาและการรักษาทุกอย่าง ไม่ว่าในหรือนอกบัญชียาหลัก ที่แพทย์คิดว่าจำเป็น โดยที่มีงบประมาณให้แบบตายตัว คือได้เท่านี้ รักษามากน้อย ก็ได้เท่านี้ สำหรับยา ราคาแพงในบัญชี จ.2 เลือกจ่ายเงิน เฉพาะยาในบัญชีหลัก ที่สั่งตรงตามข้อบ่งชี้ ของ สปสช.เท่านั้น และห้าม รพ.เรียกเก็บเงินกับ ผู้ป่วยทุกกรณี แปลว่า - ใช้ยาไรก็ได้ รักษาไงก็ได้ แต่ก็รับสภาพไป ถ้าใช้ของแพง - ยาจ.2 แม้ใช้ตามหลักฐานทางการแพทย์ แต่ไม่ตรงกฎสปสช. แม้แต่น้อย ก็ไม่จ่าย แม้ว่าจะอยู่ใน guideline ทั่วโลกก็ตาม - และ ห้ามเรียกเก็บกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะนอกบัญชี ไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะรวยขนาดไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเต็มใจจ่ายก็ตาม ไม่มีระเบียบเป็นตัวหนังสือ แต่ฟ้องร้องทีไร รพ.แพ้ทุกที โดนให้จ่ายคืนคนไข้ทุกที คุยสิบอกสิ บอกล่วงหน้าแน่นอน กลัวว่าคนไข้จะ มาฟ้องเอาคืน เพราะถ้าฟ้องรพ. รพ.ย่อมไม่ยอมจ่ายครั้งต่อไป โดยบังคับหมอ ไม่ให้รักษาในกรณีแบบนี้อีก สิ่งที่ตามมา ... หมอก็จะปรับตัว เจอเคสแบบนี้ แม้จะมียาใน รพ. แต่รู้แล้วว่าสั่งไปอาจเกิดปัญหา แม้คนไข้จะขอซื้อ แต่สุดท้ายอาจมาขอเงินคืนก็ได้ เบี่ยงไป โดยการไม่สั่งใช้ นานๆเข้า ยาหรือหัตถการนั้น ก็จะหายไปจากประเทศ เหลือให้แต่ข้าราชการใช้ มันไม่คุ้ม ถึงวันที่อยากจะได้อยากจะใช้ ...... มันคงไม่เหลือแล้ว สรุป ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในโรงพยาบาลรัฐ ตามนี้ครับ... ถ้าคนไข้ไม่ยอมจ่าย ตั้งแต่ตอนแรก หรือ ได้รับยาแล้วเปลี่ยนใจไม่ยอมจ่ายทีหลัง โรงพยาบาลต้นสังกัดต้องรับผิดชอบ (เป็นหมอ จะไม่รู้กฏหมายไม่ได้) แจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน...สวัสดี |
ตกลง สามสิบบาทรักษาได้เท่าที่สปสช จ่ายเงินตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ได้รักษาได้ถ้วนหน้าและทุกโรคอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด และการกระทำเช่นนี้กำลังทำให้ผู้ป่วยบัตรทองมีคุณภาพการรักษาที่แย่ เพราะแม้แพทย์จะทราบว่าผู้ป่วยมีฐานะพอที่จะร่วมจ่ายเพื่อให้ได้ยาที่จำเป็นในการรักษาก็ไม่อาจจะทำได้ เพราะอาจจะต้องควักเงินเองในภายหลัง แล้วแพทย์เองจะมีกำลังควักเงินตัวเองหรือแม้แต่โรงพยาบาลที่ขาดทุนไปแล้วเพราะจ่ายยาแล้วเบิกไม่ได้จะทำเช่นไร จดหมายของ สปสช. ที่เวียนไปหาสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศยืนยันการกระทำของ สปสช. ตามนี้
การใช้คำพูดแบบหาเสียงทางการเมืองและพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและทำให้คุณภาพการรักษาตกต่ำลง ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างยากลำบาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข จริงๆ เข้าใจความจำกัดด้านงบประมาณ แต่สปสช เองก็ไม่สมควรโฆษณาชวนเชื่อให้เกินความเป็นจริงเพื่อหาเสียงและความนิยมอย่างเดียวจนประชาชนหลงเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ได้ทุกสิ่งอย่างฟรีไปหมด
ขอสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิรูปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยอย่างเร่งด่วน