xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเพิ่งด่าแรง! ฟังชัดๆ “หมอ” ไม่ได้พูดประโยคนี้เลย! ยันหนุนบัตรทองแต่มีปัญหาต้องแก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นพ.อภิวัฒน์” โดนด่าหนัก หลังภาพประโยคดูถูกคนไข้แพร่สะพัด ฟังชัดๆ ทั้งรายการไม่ได้พูดแบบนี้เลย ส่วนเนื้อหาดีเบต “หมอ” ยันบัตรทองมีคุณค่าไม่ได้เชียร์ให้ยกเลิก และประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินด้วย แต่มีปัญหาต้องแก้ไข แจงควรมีมาตรการให้คนไทยดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ส่วนวิธีรักษา - การเลือกยา หมอควรเป็นคนวินิจฉัย แต่ปัจจุบัน สปสช. มีข้อจำกัดมาเพียบทำให้ไร้ประสิทธิภาพ คนใช้สิทธิตายมากกว่าถึง 70 เปอร์เซ็นต์

ชมคลิปเต็มๆ



วันนี้ (8 มิ.ย.) ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา พร้อมด้วย นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมดีเบตในรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ช่วง “ดีเบต (Debate) โต้เหตุผล ค้นความจริง” ดำเนินรายการโดย สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) ออกอากศทางช่อง 3

โดย นพ.อภิวัฒน์ ได้กล่าวว่า ตนไม่ได้เชียร์ให้ยกเลิกบัตรทอง บัตรทองเป็นสิ่งมหัศจรรย์ไทยแลนด์ มีคุณค่าต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมาก แต่มองว่ามีปัญหาต้องแก้ไข ตอนนี้ในโลกออนไลน์โจมตีตน บอกว่า ใช้ฟรีทำให้คนป่วยไปโรงพยาบาลบ่อย ไม่ดูแลตัวเอง ตนเป็นคนพูดเร็วต้องขอโทษจริงๆ อาจทำให้คนเข้าใจผิด แต่ตนพูดว่าหลายๆ อย่างถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง สุขภาพก็จะดีขึ้น อย่างเช่น การได้ยา ถึงแม้จะป่วย แต่ได้ยายิ่งน้อยยิ่งดี เช่นเป็นเบาหวาน ออกกำลังกายด้วย ก็มีความต้องการใช้ยาน้อยลง แล้วมีหลายๆ อย่างที่รัฐไม่มีเครื่องมือควบคุม เช่น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยเบาหวานได้ยาอินซูลินเป็นหมื่น ให้ไปใช้เป็นเดือน แต่อีกอาทิตย์ทำหาย กลับมาเอาใหม่ ฟรีด้วย ตรงนี้มันไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวแย้งว่า กรณีทำยาหายแล้วมาเอาใหม่ไม่่ใช่ทุกราย ไม่ควรเหมารวมว่าคนไข้ไร้ความรับผิดชอบทั้งหมด ต้องเอาข้อมูลมาดูว่าคนที่ทำยาหาย หรือทิ้งยาไม่มีเหตุผลมีมากเท่าไหร่ หรือเป็นแค่ยกเหตุการณ์หนึ่งมาแล้วเหมารวมเป็นการดูถูกประชาชนมากเกินไป

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่เคยบอกว่าต้องเก็บเงินค่ารักษา คำนวนดูแล้วโรงพยาบาลทั้งประเทศขาดทุนหมื่นกว่าล้านบาท แล้วมีเงินหลายก้อนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่อยู่ในสัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา บทความที่ตนเขียนมีเพียงบทความแรกอันเดียวที่เขียนถึงการร่วมจ่าย จากนั้นดูตัวเลขคิดว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายตังค์ และตนไม่ได้ดูถูกคนไข้ แต่มองว่าตอนนี้ยังไม่มีมาตรการช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี ที่ถูกต้องต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้เขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นของเขา

ตอนนี้ปัญหามันหนักพอควร ไม่มีทางแก้ได้เลย ยกเว้นประชาชนต้องรับทราบปัญหา ตัวผู้ป่วยเอง การรักษาหลายอย่างที่เป็นแบบเหมาโหล เสียทั้งสิทธิทั้งคุณภาพ เช่นผู้ป่วยไตวายเลือกวิธีการรักษาได้ 2 อย่าง คือ เลือกล้างท้องที่บ้าน กับอีกอย่างคือ ฟอกเลือด ล้างท้องจะไม่สามารถทำงานได้เพราะทำ 4 ครั้ง ครั้งละชั่วโมงในเวลากลางวัน คนทำงานค้าขายไม่มีเวลามาโรงพยาบาล จะเลือกฟอกเลือดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ซึ่งฟอกเลือดเบิกไม่ได้ การที่ถูกระบุมาว่าต้องรักษาแบบนี้ควรแก้ไข

แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โต้แย้งว่า จริงๆ แล้ว หลักประกันสุขภาพเรื่องไตวาย ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าต้องฟอกเลือดก็สามารถทำได้ ระบบหลักประกันจ่ายให้ ที่บอกว่าระบบล็อกไว้แค่นี้ต้องไปดูเป็นรายกรณีไปว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร

นพ.อภิวัฒน์ กล่าวต่อถึงเรื่องการรักษาโรคไต ว่า มีการศึกษาแล้วทั้งสิทธิและอัตราการรอดชีวิต พบว่าในประเทศไทยคนอายุน้อยกว่า 60 ใช้วิธีล้างท้องตายมากกว่าคนอายุมากกว่า 60 แล้วฟอกเลือดอีก อัตราการตายสูงจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ตกใจ การเลือกยาและเลือกวิธีการรักษาตอนนี้ไม่ใช่หมอเป็นคนตัดสินใจ แต่อยู่ที่ สปสช. การที่ตายเยอะกว่านั่นคือปัญหาอยู่ที่วิธีการจัดการ รวมถึงการวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าโครงการ 30 บาท ตายเยอะกว่าถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง สปสช. บอกว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจต้องมีผลเลือดก่อน แต่ในแง่ปฏิบัติจริงเห็นคนไข้หายใจไม่ออกก็ต้องรีบใส่แล้ว แต่ถ้าไม่ตรวจเลือดก่อนก็เบิกไม่ได้

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงปัญหาที่ทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า มีบางรายไม่มีแรง ไม่มีแรงทุกวันเลย แล้วก็ได้นอนโรงพยาบาล อันนี้เป็นคำบอกเล่าของผม

จากนั้นพิธีกรกล่าวเสริมว่า คุณหมอจะบอกว่ามีคนที่ไม่ป่วย แต่ไปใช้สิทธิ

แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้กล่าวแย้งว่า คิดว่าเป็นเรื่องมโนเกินไปหน่อย โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว การที่ไปโรงพยาบาลแสดงว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นไปไม่ได้ที่จะไปพักอาศัย
ภาพจากเพจ bectero.tv
ภาพจากเพจ bectero.tv
โดยก่อนหน้านี้ นพ.อภิวัฒน์ ก็ถูกโจมตีหนักมากมาก่อน จากประโยคที่บอกว่า “ความฟรีทำลายสุขภาพคนไทย โดยการที่คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นจากที่เห็นว่าการรักษาพยาบาลเป็นของฟรี” จากบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ “คมชัดลึก” (www.komchadluek.net/news/edu-health/279956)

กำลังโหลดความคิดเห็น