“หมออภิวัฒน์” แจงให้ความเห็นจริง “บัตรทอง” รักษาฟรี ทำคนเข้า รพ. มากจริง แต่โซเชียลสื่อสารไม่ครบ ย้ำ ปชช. ต้องมีส่วนร่วม ดูแลสุขภาพตัวเอง ลดเจ็บป่วย ย้ำระบบ 30 บาทต้องอยู่ต่ออบบคุณภาพสูงและยั่งยืน
ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีมีการส่งต่อข้อความทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นความเห็นของตน ว่า ความฟรีทำลายสุขภาพคนไทย โดยการที่คนเข้า รพ. มากขึ้นจากที่เห็นว่า การรักษาพยาบาลเป็นของฟรี ว่า การที่ตนให้ความเห็นว่า ของฟรีทำให้ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมาก เพราะฟรี และควรให้เข้ายิ่งน้อยยิ่งดี สื่อได้ตัดเหตุผลไป ประโยคเต็มคืออยากให้มีประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสุขภาพ และป้องกันโรค จะได้ป่วยน้อยก็จะทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อย นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนบางครั้งต้องใช้มาตรการบางอย่าง เช่น หากป่วยเพราะหาเรื่องใส่ตัว เช่น บาดเจ็บเพราะทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การออกค่ารักษาอาจจะมีส่วนช่วยปรับปรุงพฤติกรรมสุขภาพได้
“การให้ความคิดเห็นทุกๆ ครั้งในเรื่อง 30 บาท เป็นการเสนอแนวทางให้งานบริการดีขึ้น คนไทยทุกคนได้รับการรักษาด้วยยาและวิธีการที่มีคุณภาพดีทัดเทียมมาตรฐานสากล และโรงพยาบาลในระบบ 30 บาทอยู่ได้ โดยสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งการที่ผมให้ความเห็นเกี่ยวกับ 30 บาท ก็เพราะมีรายงานข้อมูลตามที่ต่างๆ บ่งบอกว่า มีปัญหาในโรงพยาบาลหมักหมม รุนแรง ในทุกๆ ด้าน เช่น คนไข้ไตวายร้องเรียนว่า เขาทำงานค้าขายไม่สามารถล้างไตโดยวิธีล้างท้องได้ และได้ขอให้ใช้วิธีฟอกเลือด ปรากฏว่า คนไข้แทนที่จะได้ ฟอกเลือดฟรีต้องจ่ายเงินค่าฟอกเลือดเองทั้งหมด แถมมีการศึกษาพบว่า หากท่านป่วยด้วย โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง หากท่านรักษาด้วยสิทธิ 30 บาท มีโอกาสตายสูงมากกว่าสิทธิอื่น ถึง 70% น่าเป็นห่วงมาก” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า หากตามข่าวจะพบว่า ปัญหามีมากโรงพยาบาลขาดทุน ไม่มีเงินซื้อยา แพทย์พยาบาลทำงานหนักจนหมดสภาพ ป่วยและตายไปหลายราย ถึงแม้รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณมากเท่าใดก็ตาม ปัญหาต่างๆ กลับยิ่งสะสมและหนักหน่วงขึ้น เห็นได้จากสภาพโรงพยาบาลที่ทุกๆ ท่านเข้ารับการรักษา และสถานการณ์ใกล้ล้มละลายในระบบที่คล้ายคลึงกันในประเทศอังกฤษ ดังเช่นอดีตเลขา สปสช. ของประเทศอังกฤษก็เสียชีวิตจากระบบ 30 บาท ที่ไร้ประสิทธิภาพของอังกฤษ
“ทุกๆ ครั้งที่ชี้ให้เห็นปัญหาผมจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไปด้วย โดยเน้นความพอเพียงในทุกๆ มิติ และเน้นที่บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ให้หมอเป็นหมอ และ สปสช. มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงิน ผมสนับสนุนให้ 30 บาท ฟรี เพราะทำให้คนเข้าถึงโรงพยาบาล ที่สำคัญ ผมได้เน้นว่าระบบจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การดูแลรักษาสุขภาพตนเอง และสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม มีความรู้ว่าการป่วยแบบใด ควรมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน หรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้หมายถึงการจ่ายค่ายาหรือค่ารักษาแต่อย่างใด เพราะสิ่งนั้นจะทำให้ประชาชนในภาวะเจ็บป่วยลำบากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว