xs
xsm
sm
md
lg

เหตุใด พนักงาน-ผู้บริหาร สปสช. จึงไม่ใช้สิทธิบัตรทอง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและ NGO ตระกูล ส พูดอยู่เสมอว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ล่าสุด สปสช. ซึ่งดูแลบัตรทองทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน มีการได้รับโบนัส มีการนำเงินส่วนลดค่าจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมในนามของเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ได้เงินไปดูงานต่างประเทศ ได้ซื้อรถตู้ ได้เงินสวัสดิการอันเป็นลาภที่ควรได้

นอกจากนี้พนักงานและผู้บริหาร สปสช. ยังเป็นชนชั้นสูงได้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหนือกว่าประชาชนผู้ถือบัตรทอง 30 บาทที่โฆษณาว่า 30 บาทรักษาได้ทุกโรคนั้นไม่จริง ไม่รู้จะสรรหาคำใดมาบรรยาย

เวลาจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ประชาชนผู้ถือบัตรทอง ใช้การเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) สำหรับการรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) และใช้การจ่ายเงินแบบจำกัดในการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) โดยใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic related group: DRG) มีการจำกัดรายการยาผ่านรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ กำหนด protocol ในการรักษา ประหยัด จำกัด ทุกสิ่งอย่าง

แต่พอจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ตัวเอง เบิกได้ฟรีทุกอย่างตามที่จ่ายจริง (Fee for service) ทั้ง OPD และ IPD ซึ่งดีกว่าทั้งสิทธิประกันสังคมซึ่งใช้การเหมาจ่ายรายหัวสำหรับ OPD และ DRG สำหรับ IPD และสิทธิรักษาพยาบาลราชการซึ่งใช้ Fee for service สำหรับ OPD และใช้ DRG สำหรับ IPD สรุปง่ายๆ คือสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานและผู้บริหาร สปสช. นั้นเหนือกว่าทั้งสิทธิราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง

ถ้าบัตรทองดีจริงทำไม พนักงานและผู้บริหาร สปสช. ไม่ใช้บัตรทองด้วย หรือประชาชนเป็นชนชั้นล่าง และพนักงานและผู้บริหาร สปสช. เป็นชนชั้นสูง จึงสองมาตรฐานเช่นนี้ มีการส่งจดหมายเวียนนี้ออกไปตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์เพื่อให้พนักงานและผู้บริหาร สปสช. สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบ Fee for service ตามที่จ่ายจริง

นี่คือปัญหาตัวการ-ตัวแทน Principal-Agent Problem และเป็นการใช้อย่างบิดเบือน (Moral Hazard) ของ สปสช. โดยที่ สปสช. เป็นตัวแทนที่ต้องการทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์สูงสุด

สปสช. เลือกใช้วิธีจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ดีที่สุดให้ตัวเองคือ Fee for service กลุ่ม NGO สปสช. บอกให้รวมกองทุนทั้งประกันสังคมและสิทธิ์ราชการ ให้มาใช้บัตรทองเหมือนกันหมด สนับสนุนการยุบรวมกองทุนบังคับประชาชนให้ใช้ OPD แบบเหมาจ่ายรายหัว และสำหรับ IPD ให้ใช้ Disease related group หรือ DRG ซึ่งคือการบีบให้เงินรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยในจำกัดตามความจำเป็น แต่ตัวเองใช้วิธีจ่ายตามจริง ได้ทุกอย่าง ดีสุด เลิศสุด

นี่คือความเหลื่อมล้ำอย่างที่สุด แล้ว NGO ตระกูล ส พอได้เงินแล้วหายไปไหม นี่ไงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พวกคุณพูด ทำไมไม่ออกมาต่อสู้ ไม่ออกมาถล่ม

แล้วที่ออกมาต่อต้านการแก้กฎหมายบัตรทองกันอีก เหตุผลคืออะไรคงพอทราบกันอยู่แล้ว เมื่อสุนัขบางตัวถูกทุบชามข้าว มันจะเห่าอาละวาดไม่หยุด

ตกลงทำเพื่อตนเอง หรือ ทำเพื่อประชาชน? ตกลงเป็นนายหน้าค้าความตายหรือนายหน้าค้าความจน? นี่เงินแผ่นดินประชาชนย่อมมีสิทธิ์ถามได้ ว่าคุ้มค่า มีธรรมาภิบาล

ร้อยเอก นายแพทย์ บรรพต หัวใจ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“บัตรทองด้วยกันเอง ยังมีความเหลื่อมล้ำเลย...รับไม่ได้ สปสช. บอกว่า ตัวเองก็ใช้บัตรทอง เหมือนกัน

(บางคนใช้สิทธิ์ข้าราชการของลูกหรือสามีภรรยาหรือ เกษียณออกมา ใช้สิทธิ์ข้าราชการ ก็มี) หลักฐานนี้...บอกว่า คนใน สปสช. มีอภิสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษาได้ฟรี ที่โรงเรียนแพทย์ได้เลย อ้าว คนจนล่ะ คนจน บ้านไกลๆ ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ต้องกลับไปขอใบส่งตัว เพื่อเอามารักษาตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเอง ก็เข้ามาทำงาน ในเมือง ในกรุงเทพแล้ว แต่ไม่มีใครรับรอง ให้ย้ายสิทธิ์บัตรทองเข้ามา บัตรทอง 15 ปีมานี้

ไหนบอกว่าคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าสิทธิ์ข้าราชการ ถ้าจะให้ดีจริง บัตรทองต้องใช้โรงพยาบาลไหนก็ได้ มันถึงจะแฟร์กับคนจน เพราะคนจน ไม่มีปัญญามีบ้านมีที่ดินในเมือง คนเมือง เข้าถึงการรักษาโรงเรียนแพทย์ได้เลย ...มันไม่ยุติธรรม แล้วมีคนใน สปสช. เถียงด้วยนะ ถ้าปล่อยให้ทุกคนรักษาที่ไหนก็ได้ ศิริราช รามา จุฬา คงต้องมีสาขา 2 ,3,4

คนจนที่อาศัยในกรุงเทพกล่าวว่า “เขาจะมีกี่สาขา มันก็เรื่องของเขา ทีพวกนี้ยังเข้ารักษาฟรีได้เลย
เงินเดือนพวกมึง ก็ภาษีประชาชน ประชาชนลำบาก พวกนี้กลับตอบแบบปัดภาระ ถ้าตั้งใจทำงานจะมีปัญญาแก้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ลาออกไป ให้คนที่แก้ได้ มาทำงานแทน จุฬา รามา ศิริราช เขามีจำกัดคิว และถ้าผมพักอยู่รังสิต ผมก็ไม่ไปเข้าหรอก มันไกล ผมรักษาบัตรทองที่ธรรมศาสตร์ก็ได้ ไม่ต้องคิดแทนใคร...”

ดังนั้น ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าบัตรทอง ไม่ได้เข้าถึงคนไทยทุกคนจริงๆ ไม่งั้น โรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิกหมอตามต่างจังหวัด คงไม่รวยอู้ฟู่ เพราะมีคนไข้บัตรทอง ที่ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ได้ เพราะทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ที่กำลังพักอาศัยทำมาหากิน

เมื่อบัตรทอง ไม่ใช่งบที่เข้าถึงคนไทยทั้งประเทศได้จริง ก็จะไปตีวัวกระทบคราด สิทธิ์อื่นๆ ไม่ได้
ย้ำอีกครั้ง...ถ้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้คนไข้บัตรทองไม่ได้ ง่ายๆ...ลาออกไป แล้วเขาจะได้หาคนใหม่ มาทำแทนเพราะเงินเดือนคุณ ก็มาจากภาษี ประชาชน
#ชมรมพิทักษ์สิทธิ์คนไข้ไทย


แพทย์หญิงลักษณะพรรณเจริญวิศาล ได้กล่าวว่า

ทำไมเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของ สปสช. จึงมีสิทธิพิเศษมากกว่าประชาชนคนธรรมดา? ผู้ปฏิบัติงาน สปสช. เป็นกลุ่มคนพิเศษหรือ? จึงออกกฎทำข้อตกลงกันใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้บัตรทองเมื่อ เจ็บป่วยหรือว่าบัตรทองไม่ดี

เคยได้ยิน เรื่องนี้ไหม ?

ชาวสวนปลูกถั่วฝักยาวไว้ขาย แต่ชาวสวนจะไม่กินถั่วฝักยาวที่วางขายนี้เลยอย่างเด็ดขาด เพราะ ชาวสวนรู้ว่าถั่วฝักยาวที่วางขายนี้เต็มไปด้วยสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่ชาวสวนฉีดไว้ ส่วนถั่วฝักยาวที่ชาวสวน กินจะปลูกแยกต่างหากโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ฉันใด ก็ ฉันนั้น...คน “ใน” เท่านั้นที่ รู้ว่า สิ่งใด ดีกว่า


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิชพงศ์ พงศ์ภัทรชัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ประจําภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอความคิดเห็นว่า

ขอเสนอแก้ พ.ร.บ.บัตรทอง ให้ผู้บริหารและพนักงานของ สปสช. รวมทั้งครอบครัว จะต้องยกเลิกสิทธิการรักษาพยาบาลดั้งเดิมของตน และใช้สิทธิบัตรทองของ สปสช. เท่านั้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการที่แท้จริงและนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กำลังโหลดความคิดเห็น