เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารพักอาศัยย่านคนจนกลางมหานครลอนดอน สะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของสุภาพสตรีสูงศักดิ์ 2 ท่านของเกาะอังกฤษ ระหว่างสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2, องค์กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษกับท่านนายกฯ เมย์ ที่เพิ่งเข้ามาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งเข้ามาหมาดๆ ด้วยคะแนนเสียง ส.ส.มากกว่าทุกๆ พรรค แต่จำนวน ส.ส. กลับมีไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ซ้ำยังมีจำนวน ส.ส.เข้าสภาได้น้อยกว่ารัฐบาลที่แล้วของเธอเสียอีก
นายกฯ เมย์ กำลังไปประชุมกับประธานาธิบดีมาครงที่ปารีส เรื่องความร่วมมือต่อต้านการเจาะระบบไอทีและการสร้างข่าวปลอมระบาดในสื่อ Social Media
ขณะนั้นก็เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง อาคาร Grenfell ที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยและผู้อพยพก็ลุกโชนด้วยไฟไปทั้งหลัง
ท่านนายกฯ เมย์ รีบเดินทางกลับลอนดอน เพราะมีภารกิจต้องรีบกลับมาประชุมกับหัวหน้าพรรค DUP ที่จะเข้ามาร่วมรัฐบาล เพื่อให้มีเสียง ส.ส.เกินกว่าครึ่งของสภา และจัดทำนโยบายของพรรคร่วมเพื่อเตรียมเปิดประชุมสภาและแถลงนโยบาย (ผ่านทางพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีที่เรียกกันว่า The Queen Speech)
นายกฯ เมย์ ได้(แอบ)เดินทางไปที่อาคาร Grenfell ในขณะที่ไฟได้ดับลงเกือบหมด
เธอได้นัดพบกับหัวหน้าหน่วยตำรวจและหน่วยดับเพลิงที่บริเวณข้างๆ กับอาคาร Grenfell เป็นการเดินทางไปอย่างเงียบๆ จนบรรดาผู้เคยพักอาศัยที่อาคารไฟไหม้ไม่ทราบว่า เธอเดินทางมา
เธอได้พูดคุยกับเหล่าตำรวจที่คอยให้การช่วยเหลือ + อพยพเหยื่อไฟไหม้ไปรักษาตัวที่รพ. หรือจัดหาที่พักให้ที่สนามกีฬาใกล้ๆ รวมทั้งโบสถ์คริสต์ และโบสถ์ศาสนาอื่นๆ (เช่น ซิกข์) ที่คอยดูแลผู้เคราะห์ร้าย
พูดคุยกันอยู่พักใหญ่ พอได้ถ่ายรูปและมีช่างกล้องทีวีถ่ายไปออกข่าว แล้วเธอก็กลับไปบ้านพักที่ทำเนียบ
เธอไม่ได้เฉียดกายไปเยี่ยมเยียนทั้งผู้เจ็บป่วยที่รพ. ซึ่งหลายคนมีอาการหนักเพราะถูกไฟลวก รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยผจญเพลิงที่บาดเจ็บหลายคน
พอผู้เคราะห์ร้ายเห็นข่าวในทีวีว่า ท่านนายกฯ เมย์ (แอบ) มาอย่างเงียบๆ ก็เกิดอารมณ์โมโหมาก เพราะพวกเขาเริ่มตระหนักว่าไฟไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยมีแผ่นฉาบด้านนอกอาคารที่กลายเป็นเชื้อเพลิงติดประกายไฟ ทำให้ไฟลามง่าย แผ่นฉาบเหล่านี้มองเห็นได้ชัดช่วงไฟกำลังโหมอยู่ ได้มีการหลุดร่วงลงมาเป็นก้อนใหญ่ๆ
ผู้เคราะห์ร้ายที่พอหนีเอาชีวิตรอดมาได้จากอาคารนรกนี้ หลายคนได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า อาคารนี้ไม่มีระบบ Sprinkler ที่จะคอยดับไฟถ้าเกิดในห้องใดห้องหนึ่ง เป็นการช่วยดับไฟที่อาจเพิ่งเริ่มลุก ไม่ให้ลามไปอีกห้องหนึ่ง
ประกอบกับระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ก็ไม่มี หรือมีแค่บางชั้น คนที่นอนหลับอยู่ก็ไม่ได้ยินสัญญาณ เพื่อรีบตื่นขึ้นมา แล้วรีบวิ่งหนีไฟลงมาข้างล่าง
โดยเฉพาะด้านสมาคมผู้พักอาศัยกับอาคารสูงก็เคยร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเคหะ ตั้งแต่สมัยนายกฯ โทนี แบลร์ โน่น และจนล่าสุดถึงรัฐบาลของนายกฯ เดวิด คาเมรอน และนายกฯ เมย์ในที่สุด
สมัยรองนายกฯ จอห์น เพรสคอต ของพรรคแรงงาน (ตอนนั้นมีโทนี แบลร์ เป็นนายกฯ) ก็ตั้งคณะศึกษาเพื่อหาทางป้องกันอัคคีภัย โดยออกกฎหมายเรื่องวัสดุที่ฉาบด้านนอกตัวอาคาร ก็ได้มีประกาศมาตรฐานที่จะต้องไม่มีส่วนผสมของพลาสติกที่จะทำให้ไฟลามได้ง่าย
วัสดุฉาบนี้มีหลายแบบ มีหน้าที่หลักๆ คือกันความร้อนจากตัวอาคาร (ในฤดูหนาว) ไม่ให้ความร้อนกระจายออกมาง่ายๆ คือ เป็นฉนวนทั้งป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคารได้ง่าย (ในฤดูร้อน) เช่นกัน
ช่วงที่มีการลดงบประมาณอย่างดุเดือดสมัยนายกฯ เดวิด คาเมรอน บรรดาโรงเรียนของรัฐบาลได้มีการตัดงบมากมายสำหรับติดตั้ง Sprinkler มากมาย ทั้งๆ ที่สมาคมนักดับเพลิงและพวกวิศวกรต่างลงความเห็นตรงกันว่า Sprinkler จะมีบทบาทป้องกันเพลิงลามได้ดีทีเดียว และทำให้พวกสมาคมผู้ปกครองหลายแห่งเป็นกังวลกับลูกหลานของตนเองที่ต้องไปโรงเรียน
ล่าสุด สมาคมด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย มีประสบการณ์ที่ไปแจ้งกับรัฐมนตรีเคหะ ในชุดของนายกฯ เมย์ เรื่องความกังวลว่าอาคารที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย
ปรากฏว่ารัฐมนตรีเคหะ ตอบมาอย่างสวยงามว่าพวกคุณนี่มาร้องเรียนอีกแล้วหรือ? กระทรวงของเราได้รับการร้องเรียนมาตั้งแต่รัฐมนตรีคนก่อนหน้าผมด้วยซ้ำ และทางกระทรวง กำลังศึกษาอยู่ ทำไมมาร้องเรียนบ่อยนักเล่า?
และทางกลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารนรก ยังมีตัวเลขว่าช่วงที่นายกฯ เมย์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย (ในสมัยนายกฯ เดวิด คาเมรอน + สมัยของเธอเองด้วย) ได้มีการลดจำนวนตำรวจลงถึง 2 หมื่นคน และลดจำนวนนักผจญเพลิงลงถึง 1 หมื่นคน (จนไม่มีพนักงานพอสำหรับออกไปดับเพลิง) รวมทั้งลดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ Counselor (ดูแลด้านจิตใจ) ของเหล่านักผจญเพลิงเหลือแค่ 2 คน จากเป็นสิบๆ คน
ผู้อยู่อาศัยที่อาคาร Grenfell หลายคนเสียสมาชิกในครอบครัวไปทั้งหมด ตัวเองรอดมาเพราะไปทำงาน พอกลับมาถึงบ้าน ก็เห็นไฟลุกโชนไปทั้งอาคาร และขึ้นไปช่วยพ่อ, แม่, ลูก, เมีย ก็ไม่ได้แล้ว!
พวกเขาไม่พอใจนายกฯ เมย์มาก ที่ตัดงบการป้องกันไฟไหม้อย่างมาก และรัฐบาลจัดงบช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้น้อยมาก ตลอดจนความช่วยเหลือด่วนเรื่องอาหาร, เสื้อผ้า มาถึงพวกเขาอย่างช้ามาก ในที่สุดพวกเขากลับไม่ได้แม้แต่เห็นหน้าของเธอที่แอบมายังที่เกิดเหตุ
ต่อมา นายกฯ เมย์มีคำเชิญให้ตัวแทนของพวกเหยื่อไฟไหม้ไปพบเธอที่ทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่ง เป็นการพบภายใน ไม่มีแถลงข่าว (แปลกมาก)
ขณะที่สมเด็จพระราชินี ซึ่งมีพระชนม์สูงถึง 90 ปี ได้เสด็จพร้อมพระราชนัดดา คือ Duke Of Cambridge (เจ้าชายวิลเลียม)
ได้เสด็จไปที่ศูนย์กีฬาที่ผู้เคราะห์ร้ายได้อาศัยเป็นที่พักชั่วคราว ท่ามกลางสิ่งของบริจาคมาช่วยเหลือมากมายจากชุมชนต่างๆ กองเป็นกล่องๆ เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า, อาหาร
ท่านทรงร่วมทุกข์กับประชาชน ได้มาฟังความโศกเศร้าของพสกนิกร จนพระเนตรปริ่มด้วยน้ำตา (เห็นชัดในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ)
ท่านทรงให้กำลังใจแก่ประชาชน รวมทั้งทรงชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่ทั้งนักผจญเพลิงและตำรวจที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยแบบถวายชีวิต
ก่อนเสด็จกลับ Duke Of Cambridge ได้มีรับสั่งด้วยว่า “I Will be back , I Will Comeback”
ช่างต่างกันเหลือเกินระหว่างสุภาพสตรีทั้งสอง
และในรัฐพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชินีปีที่ 91 ทรงยืนเคียงข้างพระราชสวามี Duke Of Edinburgh ที่ทรงเกษียณจากพระราชภารกิจ เพราะพระชนมายุมากถึง 96 ปีแล้ว และทรงมีปัญหาทางหัวใจที่เคยทำ Balloon มาหลายเส้นด้วย) ทรงยืนนิ่งสงบแสดงความอาลัยต่อความสูญเสีย (ในอาคารนรกและจากการก่อการร้าย) เป็นเวลา 1 นาที พร้อมมีพระราชดำรัสวันเฉลิมฯ ว่า ปีนี้เป็นปีที่มีเหตุการณ์เศร้าโศกมาก และทรงสวมฉลองพระองค์ด้วยโทนสีเรียบมาก ไม่ฉูดฉาดเหมือนปีที่แล้วที่ทรงฉลองพระองค์สีเขียวสดแบบใบตองทีเดียว เพื่อเป็นการร่วมทุกข์กับประชาชนเช่นกัน
คะแนนนิยมของท่านนายกฯ เมย์ กำลังลดลงเรื่อยๆ จนมีข่าวในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่ามีกลุ่ม ส.ส.ในพรรคของเธอ อาจเป็นกบฏเพื่อต้องการให้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคและนายกฯ คนใหม่ พวกเขาเพียงขอให้เลยเวลาการเปิดสภาและบริหารไปก่อนชั่วคราว ขณะนี้หลายคนเรียกรัฐบาลของนายกฯ เมย์ว่าเป็น Caretaker Gov’t หรือรัฐบาลรักษาการเสียแล้ว กำลังนับถอยหลังจริงๆ.