xs
xsm
sm
md
lg

STRONG Gov’t ที่ฝรั่งเศส WEAK Gov’t ที่อังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


อาทิตย์นี้ร้อนระอุกับการเลือกตั้งที่อังกฤษและฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศสนั้นยังเป็นแค่รอบแรก แต่ก็มองได้ทะลุปรุโปร่งไปถึงผล Final ในรอบ 2 ในอีก 6 วันข้างหน้า ส่วนที่อังกฤษนั้นทำเอาท่านนายกฯ May ได้ถูกเปลี่ยนเป็น Mayhem ไปแล้ว เพราะต้องพบกับสภาพที่สาหัสสากรรจ์ทีเดียว

เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส ที่จัดให้มีการเลือกตั้งรอบแรกสำหรับ ส.ส.ทั้งหมด 577 ที่นั่ง ถ้าผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนถึง 51% ก็ได้เป็น ส.ส.ไปเลย แต่ถ้าเขตใดไม่มีใครได้เกิน 51% บรรดาผู้สมัครที่ได้เกิน 12.5% จะได้เข้ารอบ 2 ซึ่งปรากฏผลออกมาเป็นไปตามคาดคือ

พรรคใหม่แกะกล่องของขบวนการ En March! ชื่อ La Republique en March (LREM) ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง ได้ไป 32% ตามด้วยพรรค Les Repubicaines (ขวา-กลาง) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะนายกรัฐมนตรี Phillippe มาจากพรรคนี้ ได้ 21% ตามมาด้วยพรรคขวาสุด National Front ของมารีน เลอ แปน ได้ไป 14% โดยพรรคแนวร่วมซ้าย (อดีตผู้นำพรรคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมได้อันดับที่ 4 ที่ 11% ส่วนพรรคสังคมนิยม (เป็นรัฐบาลมา 5 ปี ภายใต้ประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมต่ำสุด คือ Hollande) ได้ไป 9.5% เสียที่นั่งไปถึง 200 ที่

ดังนั้น ถ้ารวมพรรคของประธานาธิบดีมาครง และพรรคขวา-กลางของนายกรัฐมนตรี Phillippe ก็จะได้ ส.ส.ในรอบ 2 สูงถึง 32 + 21 = 53% และอาจสูงถึง 55-60% ก็เป็นไปได้ หรือประมาณ 455 ที่นั่ง ในสภา 577 ที่นั่งนับเป็นเก้าอี้ ส.ส.สูงมากถึง 2 ใน 3 ของสภา นั่นก็คือการชนะอย่างถล่มทลายของประธานาธิบดีมาครงดังเช่นโพลต่างๆ ที่ได้คาดการณ์ไว้

นับเป็นปรากฏการณ์ที่เดียวในโลกนี้ ที่พรรคใหม่เอี่ยมของมาครงจะได้บริหารประเทศฝรั่งเศสด้วยคะแนนมากมายในสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งก็มาจากการคำนวณอย่างชาญฉลาดของมาครงที่ไปคว้าเอา ส.ส.ของพรรคขวา-กลาง (ของอดีตนายกรัฐมนตรีฟรองซัวส์ ฟีญง) มาเป็นนายกฯ และเพราะมาครงสร้างความฮือฮาสั่นสะเทือนโดยเป็น “คนนอก” ที่ไม่ใช่นักการเมืองคร่ำหวอดมาตั้งใจทำงานเพื่อสร้างการปฏิรูป เขาก็เป็นคล้ายกับบารัค โอบามา ที่ไม่ใช่นักการเมืองคร่ำหวอดที่อยู่มานานในวงการเมือง และเมื่อชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ได้เลือกคนรุ่นใหม่ (ที่ไม่ใช่นักการเมืองเก่าๆ ที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วซ้ำซาก) เข้ามาร่วมรัฐบาล ถ้าเป็นคนอายุมากที่เป็นรัฐมนตรี ก็มีชื่อเสียงมากกว่าสัตย์ซื่อมือสะอาด

ทันทีที่ผลลงคะแนนรอบแรกเกิดขึ้น มีปฏิกิริยาจากพรรคใหญ่อีก 3 พรรค (คือสังคมนิยม, พรรคซ้ายสุด และพรรคขวาสุดของเลอ แปน) มาวิพากษ์วิจารณ์ว่า คณะรัฐบาลของมาครงกำลังจะเป็นเผด็จการในรัฐสภา ที่มีเสียง ส.ส.สนับสนุนถึง 2 ใน 3 ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง!

ส่วนความอลเวงที่อังกฤษนั้น เกิดขึ้นจากการเสียเก้าอี้ของพรรคอนุรักษนิยมที่นายกฯ May จงใจยุบสภาเมื่อ 50 วันก่อนเลือกตั้ง เพราะคะแนนนิยมในตัวเธอตอนนั้น สูงถึง 20-25% ที่สูงกว่าของนาย Jeremy Corbyn และเป็นคะแนนของพรรคเธอที่สูงกว่าพรรคแรงงานด้วย

ตอนที่นางเทเรซา เมย์ เข้ามามีตำแหน่งต่อจากนายเดวิด คาเมรอนนั้น เธอได้พูดว่า จะนำความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นให้ดีขึ้น หมายถึงจะดูแลคนที่ถูกทอดทิ้ง (จนมาลงคะแนนให้ Brexit ชนะไปอย่างเฉียดฉิวในการลงประชามติ) ไม่ให้ถูกหลงลืมต่อไป พูดง่ายๆ คือจะดูแลคนจน, คนแก่, เด็กๆ, นักศึกษา, คนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ไปลงคะแนนให้ Brexit ชนะ

แต่พอเขียน Manifesto ออกมา ปรากฏว่าจะไปตัดงบช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย, คนกลุ่มต่างๆ ที่เคย Vote ให้แก่ Brexit

ตรงนี้เป็นจุดที่ผู้นำพรรคแรงงาน นาย Corbyn เดินตามแนวทางสังคมนิยม คือต่อต้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ในขบวนการ Anti-Austerity คือ ถ้า Labor ได้เป็นรัฐบาลจะเพิ่มงบ (ที่ถูกตัดมาตลอดสมัยของ Cameron และของ May ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา) ให้กับนักเรียนต่างๆ เช่น นมเด็ก, อาหารเช้า + อาหารกลางวันนักเรียน, ทุนการศึกษา, การรักษาพยาบาล ทั้งคนแก่และเด็กๆ เช่นกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยที่คนจนไม่มีบ้าน/ห้อง คอนโดฯ เป็นของตนเอง

พรรคแรงงานเสนอเรื่องของปากท้องที่โดนใจผู้คน ทั้งพวกที่เคยลงคะแนนให้ Brexit เช่นพวก UKIP และหลายๆ เขตของพรรคอนุรักษนิยมก็เลยเปลี่ยนใจหันมากาให้พรรค Labor

จนทำให้พรรคแรงงานได้ ส.ส.ท่วมท้นจากที่คาดการณ์ไว้ คือเดิมมีอยู่แค่ 216 ก็เพิ่มมาเป็น 266 ทีเดียว

คนหนุ่มสาวก็สร้างปรากฏการณ์ไปลงคะแนนให้ Labor ถึง 70% กว่าของหนุ่มสาวทั้งหมด ทั้งๆ ที่ครั้งที่แล้วไปลงให้แค่ 40% ต้นๆ เป็นการพลิกคะแนนเลยทีเดียว

ขณะที่นายกฯ May ประกาศนโยบาย Hard Brexit คือจะเจรจาแบบไม่ยอมผ่อนปรนกับสหภาพยุโรป เธอไปตอบคำถามใน Town Hall Meeting (เธอไม่ยอมไปDebate 1 ต่อ 1 กับ Corbyn) ว่าถ้าการเจรจาของ EU ไม่ยอมตามอังกฤษ เธอจะเลิกเจรจาเลย! นั่นเป็น Hard Brexit ที่เหมือนการหย่านมแม่กับลูก “หรือหักดิบ” จะทำให้เกิด Shock ทันทีกับเศรษฐกิจอังกฤษ

ประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนครั้งนี้บอกกับรัฐบาลของนายกฯ May ว่าพวกเขาไม่ต้องการ Hard Brexit (แบบหักดิบ) ไม่ต้องการแบบหย่านมแบบทันที แต่ต้องการแบบ Soft Brexit คือ มีการอะลุ้มอล่วยกับเศรษฐกิจใหญ่ของอียู

ด้าน Corbyn นั้น ตอนไป Town Hall Meeting เขาได้ย้ำว่าการเจรจาต้องผ่อนปรนกับอียู ไม่ใช่ลุกเดินออกมาเฉยๆ Corbyn ได้คะแนนสูงกว่า May ในช่วงกึ่งDebate นั้น

นายกฯ May ต้องเผชิญกับผลงานที่กระทรวงมหาดไทยที่เธอตัดงบจ้างตำรวจถึง 2 หมื่นคน แล้วมาเจอกับการก่อการร้ายติดๆ กัน 3 ครั้งในช่วงหาเสียงพอดี ก็เลยเป็นตัวตัดเชือกทำให้เธอต้องเสียสิ่งที่ Cameron ทิ้งมรดกไว้ คือเสียงข้างมาก (Majority) ในสภา คือ ส.ส. 331 เสียง (กึ่งหนึ่งของสภา 650 คือ 325 ที่นั่ง)

พอคะแนนออกมา เธอก็ตีหน้าตาย กล้าหาญมากที่จะจัดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยไปรวมกับพรรค DUP ของไอร์แลนด์ที่ได้มา 10 ที่นั่ง

ตรงนี้มีหลายคนเป็นห่วงมากว่า รัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนแค่ 328 ที่นั่ง (เกินกึ่งหนึ่งแค่ 3 เสียง) จะเปราะบางมาก

ถ้าเป็นประเทศไทย คงไม่รอดชีวิตครม.ถึง 1 อาทิตย์เป็นแน่ แต่ที่สภาอังกฤษ อาจจะไปได้เป็นหลายเดือน จนถึงการขัดแย้งกันในการเสนอกฎหมายหรือการบริหารประเทศ

อดีตรัฐมนตรีคลังสมัย Cameron คือนาย George Osborne ขณะนี้เป็นบก.ของหนังสือพิมพ์ The London Evening Standard ออกมาชี้หน้า TV เลยว่า นายกฯMay เป็น A Dead Woman Walking คือ เดินไปแบบคนชะตาขาด เพราะพวก DUP นั้น ขวาสุดๆ จนอาจเกิดการแตกแยกกับนโยบายพรรคอนุรักษนิยมของนายกฯ May เช่น เรื่อง LGBT (ที่นายกฯ เดวิด คาเมรอน ได้ผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันได้) รวมทั้งเรื่องการทำแท้งที่ DUP ไม่เห็นด้วย

ขณะเดียวกัน ในพรรคของนายกฯ May ก็แตกเป็น 2 มุ้งใหญ่ๆ คือ Remain กับBrexit รอเวลาปะทุ เมื่อเริ่มเจรจากับ EU แม้นายกฯ May จะยังคงเก็บรัฐมนตรีสำคัญๆ คนเดิมเอาไว้ ไม่ให้พรรคกระเพื่อมหนัก และดึงเอาอดีตรัฐมนตรียุติธรรม Michael Gove ที่เคยหักหลังนาย Boris Johnson (ที่เคยประกาศจะลงสมัครแข่งกับนาง May ช่วงที่ Cameron ลาออก) ให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมก็ตาม

นาง May กำลังเดินอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ แม้พรรค DUP จะเห็นคล้องกับนโยบายของพรรคอนุรักษนิยมในเรื่อง (Hard) Brexit ก็ตาม แต่มีอีกหลายๆ ประเด็นทางสังคมที่กำลังรอเวลานับถอยหลังของการแตกแยกกับพรรคอนุรักษนิยมในอีกไม่นานเกินรอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น