เอเจนซีส์ - “ทรัมป์” เดินหน้าดิสเครดิต “โคมีย์” กล่าวหา “ขี้ขลาด” และอาจละเมิดกฎหมาย เรื่องที่อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอผู้นี้ “ปล่อยข่าว” การสนทนาตัวต่อตัวกับประธานาธิบดี ขณะเดียวกัน รัฐมนตรียุติธรรมยืนยันไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาในวันอังคาร (13 มิ.ย.) คาดประเด็นสำคัญที่จะถูกซักไซ้คือเรื่องการมีส่วนร่วมในการปลดโคมีย์ และความเป็นไปได้ในการปิดบังข้อมูลการติดต่อพูดคุยของตนเองกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของมอสโก
เจมส์ โคมีย์ เคยเป็นผู้นำการสอบสวนผู้ช่วยหลายคนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสมคบกับรัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกประมุขทำเนียบขาวปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เมื่อเดือนที่แล้ว
หลังจากนั้น โคมีย์ได้ปล่อยข้อมูลชวนตะลึงเกี่ยวกับการพบปะพูดคุยหลายครั้งกับทรัมป์ ซึ่งประธานาธิบดีที่ผันตัวเองมาจากวงการอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้ถูกกล่าวหาว่า ขอให้โคมีย์ “จงรักภักดี” และยังเรียกร้องให้ยุติการสอบสวนไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของตน ซึ่งพวกวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านทรัมป์ระบุว่า เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ประธานาธิบดีพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับนำไปสู่กระบวนการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง
ด้านทรัมป์พูดลอยๆ โดยไม่มีการยืนยันหลายครั้งว่า มีการบันทึกเสียงการสนทนาส่วนตัวระหว่างเขากับโคมีย์
ในวันอาทิตย์ (11) เจย์ เซคูโลว์ สมาชิกคนหนึ่งในทีมนักกฎหมายของทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีว่า ทรัมป์จะเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกเสียงนี้ในสัปดาห์นี้
ทำเนียบขาวนั้นทุ่มเทพยายามเบี่ยงเบนความสนใจให้ออกมาจากข้อกล่าวหาของโคมีย์ และหันมาเพ่งเล็งเกี่ยวกับลักษณะวิธีการที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกปล่อยให้รั่วไหลออกมาก่อนหน้านี้
ตัวทรัมป์เองก็ก่อติดกระแสนี้ โดยตื่นมาทวิตแต่เช้าตรู่วันอาทิตย์ (11) ว่า การปล่อยข่าวของอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอแพร่หลายกว่าที่จะมีใครคิดว่า เป็นไปได้ และการกระทำดังกล่าวขี้ขลาดอย่างยิ่ง รวมทั้งอาจผิดกฎหมาย
ด้านมาร์ก คาโซวิตซ์ ทนายความส่วนตัวของทรัมป์ รับลูกทันควันว่า จะร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับโคมีย์
ทั้งนี้ ระหว่างการให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (8) โคมีย์บรรยายลักษณะทรัมป์เป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ และยังยอมรับว่า ขอให้เพื่อนที่เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นำบันทึกการสนทนาระหว่างตนเองกับทรัมป์ไปให้สื่อมวลชน เพราะหวังว่า การกระทำนี้จะกระตุ้นให้คณะบริหารยอมแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม มารับผิดชอบการสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากแผนการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ โดยที่มีการแต่งตั้ง โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไออีกคนหนึ่ง ให้เข้ามาทำหน้าที่นี้แล้ว โคมีย์ยังให้ภาพทรัมป์ว่าเป็นจอมโกหก และบอกว่า ประธานาธิบดี “คาดหวัง” ซึ่งก็คือ “สั่ง” ให้ตนยกเลิกการสอบสวนฟลินน์
ด้านทรัมป์ แม้ประณามโคมีย์เป็น “คนปล่อยข่าว” แต่เขากลับยืนกรานว่า การให้การของอดีตบิ๊กเอฟบีไอเป็นแค่การแก้แค้น
อย่างไรก็ดี การโจมตีโคมีย์กลับกลายทำให้ทรัมป์ถูกเรียกร้องหนักขึ้น ว่าเขาควรออกมาให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเมื่อวันศุกร์ (9) เจ้าตัวแสดงท่าทีว่า พร้อมดำเนินการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ปกติอย่างยิ่งสำหรับประธานาธิบดีที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง และที่สำคัญกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงด้านกฎหมาย
นอกจากนี้ บรรดาผู้นำในคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เปิดการสอบสวนข้อสงสัยว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง ได้ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามดอน แมคกาห์น ที่ปรึกษากฎหมายทำเนียบขาว ว่า เทปการพูดคุยระหว่างทรัมป์กับโคมีย์มีจริงหรือไม่ และถ้ามี ขอให้ส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ภายในวันที่ 23 เดือนนี้
ซูซาน คอลลินส์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน ก็เรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ให้ทรัมป์ส่งเทปดังกล่าวโดยสมัครใจให้คณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาสูง และที่ปรึกษากฎหมายพิเศษมุลเลอร์
ในอีกด้านหนึ่ง เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ กำลังจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลที่ต้องไปให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภากรณีเกี่ยวกับรัสเซีย โดยที่มีกำหนดนัดหมายจะไปในวันอังคาร (13) นี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะเป็นการให้ปากคำแบบเปิดเผยต่อสาธารณชน หรือแบบปิดลับ โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมระบุว่า ต้องให้วุฒิสมาชิก ริชาร์ด เบอร์ ประธานคณะกรรมาธิการเป็นผู้ตัดสินใจ
ทั้งนี้ คาดกันว่า เซสชันส์จะถูกซักถามเกี่ยวกับการปลดโคมีย์ รวมถึงความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัสเซีย หลังจากที่การให้การของโคมีย์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า เซสชันส์อาจปิดบังข้อมูลการพบกับเจ้าหน้าที่รัสเซียที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เช่น เซียร์เกย์ คิสลียาค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน ทั้งช่วงระหว่างการหาเสียงและหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อยังรายงานว่า เซสชันส์เสนอตัวลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม เนื่องจากขัดแย้งกับทรัมป์เรื่องที่เขาตัดสินใจถอนตัวจากการสอบสวนกรณีรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม