เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - พวกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มองว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มีโอกาสสูงมากขึ้นที่จะถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญา ว่า ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม จากการให้ปากคำอย่างเจ็บแสบของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เจมส์ โคมีย์
ทว่า ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มมากกว่านี้ ในการพิสูจน์อย่างหนักแน่น ว่า ประธานาธิบดีผู้นี้ พยายามที่จะสกัดกั้นการสอบสวนเรื่องรัสเซียแอบเข้าแทรกแซงยุ่งเกี่ยวการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ซึ่งพวกผู้ช่วยในทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์หลายรายตกเป็นเป้าหมายว่าอาจกระทำความผิด
หากมีหลักฐานหนักแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ทรัมป์ก็อาจเผชิญกับการถูกกล่าวหาในคดีอาญา ทำนองเดียวกับที่ได้เคยบังคับกดดันให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งในปี 1973 และทำให้ บิลล์ คลินตัน ถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติกล่าวโทษเพื่อถอดถอนเมื่อปี 1998 ทว่า รอดมาได้เมื่อการสอบสวนโดยวุฒิสภาลงมติไม่ปลดเขาออกจากการเป็นประธานาธิบดีในปี 1999
พวกนักวิเคราะห์ด้านกฎหมายสันนิษฐานกันว่า อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ โรเบิร์ต มูลเลอร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯนี้ เวลานี้ได้ขยายการสอบสวนให้ครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่าทรัมป์ได้เข้ามาแทรกแซงในหนทางที่ผิดกฎหมายใดๆ หรือไม่
การให้ปากคำของโคมีย์ต่อหน้าคณะกรรมาธิกาiข่าวกรองวุฒิสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (1 มิ.ย.) เป็น “คำแถลงที่มีพลังแรงมาก” ในการสนับสนุนให้สอบสวนเรื่องทรัมป์อาจขัดขวางความยุติธรรม มาร์ก ทุชเน็ต ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย กล่าวให้ความเห็น
สิ่งที่โคมีย์พูดออกมาเกี่ยวกับการเข้าพบหารือกับทรัมป์เป็นการส่วนตัวในเดือนกุมภาพันธ์ และการที่ทรัมป์ไล่เขาออกจากตำแหน่งในวันที่ 9 พฤษภาคม “เป็นการให้เหตุผลอันถูกต้องเหมาะสมแก่อัยการพิเศษ (มูลเลอร์) ในการเดินหน้ารุกอย่างแข็งกร้าว”
ทางด้านทรัมป์นั้น เมื่อวันศุกร์ (2) ได้ตอบโต้อย่างโกรธเกรี้ยว โดยบอกว่า โคมีย์ “โกหก” และกล่าวด้วยว่าตัวเขาพร้อมอยู่แล้ว “100 เปอร์เซ็นต์” ที่จะให้ปากคำแก่มูลเลอร์
โคมีย์ยืนยันว่า ทรัมป์ “สั่ง” เขาให้ยุติการสอบสวน
ระหว่างการให้ปากคำของโคมีย์ คำๆ หนึ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากว่าควรที่จะตีความอย่างไร คำๆ นั้นคือ “ความหวัง” (hope) โคมีย์ กล่าวว่า ในตอนที่เขาเข้าพบประธานาธิบดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้น ทรัมป์ได้แสดง “ความหวัง” ว่า เอฟบีไอจะยุติการสืบสวนสอบสวนอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ไมเคิล ฟลินน์ ในเรื่องการติดต่อระหว่างฟลินน์กับพวกเจ้าหน้าที่รัสเซีย
โคมีย์ บอกว่า เขาถือว่าคำพูดในคราวนั้นของทรัมป์คือคำสั่งของประธานาธิบดี “ผมหมายความว่า นี่คือประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่พูดกับผมขณะอยู่กันตามลำพัง” โคมีย์ กล่าว โดยที่มุ่งชี้ว่าทรัมป์ได้บอกให้พวกผู้ช่วยของเขาทั้งหมดออกไปจากห้องก่อนที่จะหารือกับโคมีย์ในเรื่องนี้
“เมื่อมันมาจากประธานาธิบดี ผมจึงถือว่ามันเป็นการสั่งการ” เขากล่าว ครั้นถูกสมาชิกคณะกรรมาธิการซักว่า เขามองว่านี่เป็น “คำสั่ง” ของประธานาธิบดีหรือเปล่า โคมีย์ ก็ตอบว่า “ใช่”
โคมีย์ กล่าวว่า ตัวเขาเชื่อว่าการถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอ ก็เพราะการสอบสวนเรื่องรัสเซีย ทั้งนี้ การสอบสวนของเอฟบีไอในเรื่องนี้ได้คืบหน้าเข้าไปใกล้ทำเนียบขาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเวลานี้คณะเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนกำลังตรวจสอบ จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์ซึ่งมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดี
“ผมถือเอาตามคำพูดของประธานาธิบดี ที่ระบุว่า ผมถูกไล่ออก เนื่องจากการสอบสวนเรื่องรัสเซีย” เขาบอก โดยที่เป็นการอ้างอิงถึงคำกล่าวของทรัมป์ระหว่างการให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี โคมีย์ยังขยายความต่อไปว่า “ผมทราบว่าผมถูกปลดออกเนื่องจากอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการที่ผมกำลังใช้อยู่ (ในการสอบสวนเรื่องรัสเซีย) ท่านประธานาธิบดีรู้สึกว่า ได้สร้างแรงกดดันบีบคั้นต่อตัวเขา จนกระทั่งเขาต้องการที่จะบรรเทา (แรงกดดันบีบคั้นนี้) ”
คำให้การที่สร้างความเสียหายหนัก
เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียงของโคมีย์ในเรื่องเป็นพนักงานสอบสวนที่เน้นระเบียบวิธี และระมัดระวังตัวสูงยิ่ง คำให้การของเขาครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง ทนายความผู้หนึ่งในกรุงวอชิงตันซึ่งเคยรับตำแหน่งระดับสูงในคณะบริหารของประธานาธิบดีคนก่อนๆ กล่าวให้ทัศนะ
“มันกำลังจะถูกนำไปสอบสวนขยายผลต่อแน่ๆ ถ้าผมเป็นทนายของทรัมป์นะ เวลานี้ผมต้องทราบทีเดียวว่าทางสำนักงานของที่ปรึกษากฎหมายพิเศษต้องเปิดแฟ้มสำหรับเรื่องการขัดขวางยุติธรรมเอาไว้แล้ว” เขากล่าวโดยที่ขอไม่ให้ระบุชื่อ
คำถามจึงกำลังอยู่ที่ว่า ทางทีมงานของมูลเลอร์จะสามารถค้นพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดๆ ว่า ทรัมป์มีเจตนาความตั้งใจที่จะให้เอฟบีไอหยุดการสอบสวนนี้หรือไม่ ทนายความผู้นี้แจกแจง
หลักฐานที่ว่านี้อาจจะมาจากแง่มุมต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้นว่า มูลเลอร์น่าที่จะหาทางวินิจฉัยออกมาว่า มีใครในหมู่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหรือไม่ที่ได้หารือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ว่าทรัมป์กำลังจะพูดอะไรกับโคมีย์ หรือกำลังจะทำอะไรต่อโคมีย์
เรื่องที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วยเช่นกัน ก็คือ ทรัมป์ได้บันทึกเสียงการพบปะหารือครั้งต่างๆ กับโคมีย์เอาไว้หรือไม่ โดยที่ในข้อความหนึ่งซึ่งเขาทวิตภายหลังการปลดโคมีย์นั้น ดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการบันทึกเสียงเช่นนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น สื่อมวลชนด้านข่าวหลายสำนักเพิ่งรายงานว่า ทรัมป์ได้ขอให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ หลายรายเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ด้วย
หนึ่งวันก่อนหน้าโคมีย์ไปให้ปากคำ หัวหน้าสูงสุดด้านสปายสายลับของอเมริกาในปัจจุบัน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ไมก์ โรเจอร์ส และผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ แดน โคตส์ ได้ขึ้นให้การต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาก่อน โดยทั้งคู่ต่างปฏิเสธไม่ขอตอบเมื่อถูกสมาชิกของคณะกรรมาธิการซักถามว่า ทรัมป์ได้เคย “ขอ” ให้พวกเขาช่วยลดทอนการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้หรือไม่ ถึงแม้บุคคลทั้งสองต่างกล่าวด้วยว่า พวกเขาไม่เคย “รู้สึกว่าถูกกดดันบีบคั้น” ให้ต้องทำเรื่องเช่นนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ทนายความที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะบริหารของประธานาธิบดีคนก่อนๆ ผู้นั้นชี้ว่า เรื่องที่พวกเขารู้สึกอย่างไรนั้น มีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องที่ว่าพวกเขาถูกขอให้ทำหรือไม่ โดยหากเป็นอย่างหลังแล้ว “นั่นก็จะเป็นหลักฐานเพิ่มเติมในเรื่องเจตนาความตั้งใจ”
แค่มีความผิดเพราะกระทำสิ่งซึ่งถือว่าเป็น “บาปในทางการเมือง”
แอลเลน เดอร์โชวิตซ์ ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์อีกคนหนึ่งของฮาร์วาร์ด และก็เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลยในคดีอาญาซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมาก กล่าวให้ความเห็นโต้แย้งของเขาเอาไว้ในข้อความยาวเหยียดที่โพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า ทรัมป์นั้นอย่างเลวร้ายที่สุดก็เพียงแค่มีความผิดเนื่องจากกระทำสิ่งต่างๆ ที่ถือว่าเป็น “บาปในทางการเมือง” เท่านั้น พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีมีอะไรที่พอฟังขึ้นเลยสำหรับการตั้งข้อกล่าวหาทรัมป์ว่าขัดขวางความยุติธรรม
“คุณไม่สามารถบอกว่ามีการขัดขวางความยุติธรรมได้ ในเมื่อประธานาธิบดีไม่ได้กระทำความผิดทางอาญาเลย” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “ประธานาธิบดีย่อมต้องมีอำนาจอยู่แล้วที่จะบอกผู้อำนวยการเอฟบีไอให้ยุติการสอบสวนเสีย”
ทว่า บ็อบ อิงกลิช อดีต ส.ส.พรรครีพับลิกัน กล่าวสรุปขนาดความร้ายแรงของสถานการณ์ในตอนนี้เอาไว้ในทางตรงกันข้าม เมื่อเขาย้อนระลึกถึงบทบาทของตัวเขาเองเมื่อครั้งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการยุติธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมติให้ดำเนินการกล่าวโทษเพื่อถอดถอน บิล คลินตัน ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1998 ด้วยข้อหาขัดขวางความยุติธรรมและให้การเท็จ
คลินตันถูกส่งต่อไปให้วุฒิสภาดำเนินการสอบสวนเพื่อถอดถอน “ด้วยเรื่องซึ่งมีความร้ายแรงน้อยกว่าเรื่องที่อยู่ต่อหน้าเราในตอนนี้” อิงกลิชบอก