เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เจมส์ แคลปเปอร์ อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ชี้คดีวอเตอร์เกตกร่อยไปถนัดใจเมื่อเทียบกับเรื่องอื้อฉาวของโดนัลด์ ทรัมป์กับรัสเซียที่กำลังพัวพันอีรุงตุงนังในขณะนี้ และสำทับว่า วิธีการที่อดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้หมกมุ่นกับเรตติ้ง ปลดเจมส์ โคมีย์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอนั้น เป็นสิ่งที่ “อภัยให้ไม่ได้” ขณะที่ด้านประมุขทำเนียบขาวฝากข้อความถึงโคมีย์ซึ่งเตรียมขึ้นให้ปากคำในสภาวันพฤหัสบดีนี้ (8 มิ.ย.) ว่า “ขอให้โชคดี”
แคลปเปอร์ที่ทำงานในหน่วยงานข่าวกรองมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี จนถึงบารัค โอบามา ยืนยันว่า ตนจงรักภักดีกับประมุขทำเนียบขาวจากทุกพรรค แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับทรัมป์
อดีตนายใหญ่ด้านข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ผู้นี้ แจงว่า ในฐานะพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง เขากังวลที่สถาบันของอเมริกากำลังถูกรุมโจมตีจากทั้งภายนอก ซึ่งหมายถึงรัสเซีย และภายใน ซึ่งก็คือทรัมป์
เมื่อถูกซักถามขณะไปแสดงปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งชาติของออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์ราเมื่อวันพุธ (7) ว่า คดีวอเตอรเกตที่ทำให้ริชาร์ด นิกสัน หลุดจากทำเนียบขาว กับเรื่องอื้อฉาวของทรัมป์กับรัสเซียในขณะนี้ต่างกันอย่างไร แคลปเปอร์ตอบว่า ในมุมมองของเขา วอเตอร์เกตกร่อยไปถนัดใจเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่อเมริกาเผชิญอยู่ขณะนี้
ปัจจุบัน คณะบริหารของสหรัฐฯ กำลังเป็นจุดศูนย์กลางของการสอบสวนกรณีการแทรกแซงของรัสเซียต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว และความเป็นไปได้ที่ทีมหาเสียงของทรัมป์รู้เห็นเป็นใจด้วย
แคลปเปอร์เสริมว่า เขาไม่เข้าใจว่า ทำไมทีมทรัมป์จึงดูเหมือนกระตือรือร้นคบหากับมอสโกนัก แต่ถ้าถามว่า มีหลักฐานที่มัดตัวประมุขทำเนียบขาวแน่นหนาหรือไม่ เขาคงไม่สามารถตอบได้
เขายังวิจารณ์ว่า แผนการแทรกแซงของมอสโกต่อการเลือกตั้งของสหรัฐฯ “ตรงไปตรงมาและก้าวร้าวอย่างไม่เคยมีมาก่อน”
แคลปเปอร์ร่ายยาวว่า พวกเกรียนคีย์บอร์ดช่วยกันสร้างและประโคมข่าวปลอมที่องค์กรข่าวบางแห่งหยิบไปใช้และขยายความทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม นอกจากนั้น รัสเซียยังใช้อาร์ที ซึ่งเป็นหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อ ของแดนหมีขาว เป็นผู้แพร่ข่าวโจมตีฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดมแครต และอวยทรัมป์ไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ บ่มเพาะความคลางแคลง ความไม่พอใจ และความขัดแย้งเกี่ยวกับระบบการเมืองของอเมริกา ซึ่งเขาเชื่อว่า เครมลินทำสำเร็จกว่าที่หวังไว้หลายเท่า
ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดี (8) นี้ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) มีกำหนดไปให้ปากคำในฐานะพยานปากสำคัญ กับคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ที่กำลังสอบสวนการแทรกแซงของมอสโก และความเป็นไปได้ที่ทรัมป์ได้พยายามกดดันให้โคมีย์ยุติการสอบสวนไมค์ ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวที่มีความเชื่อมโยงกับรัสเซีย ซึ่งหากเป็นจริงจะถือว่า ผู้นำสหรัฐฯ ขัดขวางการสอบสวนของเอฟบีไอ
ก่อนหน้านี้มีรายงานระบุว่า โคมีย์เขียนบันทึกอย่างละเอียดบอกเล่าบทสนทนาระหว่างตนเองกับทรัมป์ 3 ครั้งก่อนถูกปลด ซึ่งระบุถึงความพยายามของประมุขทำเนียบขาวในการกดดันให้เอฟบีไอยุติการสอบสวนฟลินน์
โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวซึ่งเป็นคนใกล้ชิดว่า โคมีย์จะโต้แย้งคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า เขาให้การยืนยันหลายครั้งหลายหนว่า ทรัมป์ไม่ได้เป็นเป้าหมายการสอบสวนของเอฟบีไอ
แคลปเปอร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งสำคัญคือการรอฟังว่า โคมีย์จะให้การอย่างไร และคำถามใดบ้างที่เขาจะไม่ยอมตอบ และว่า การที่โคมีย์ถูกทรัมป์ปลดออกด้วย “วิธีการที่อภัยให้ไม่ได้” สะท้อนถึงการไม่แยแสโดยสิ้นเชิงต่อความเป็นอิสระและอำนาจในการตัดสินใจของเอฟบีไอ ซึ่งเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายสำคัญของอเมริกา
การให้การของโคมีย์ในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนครั้งแรกนับจากถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 เดือนที่แล้ว กำลังเป็นที่จับตาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวอชิงตัน ด้วยเหตุนี้จึงมีบาร์อย่างน้อย 2 แห่งในเมืองหลวงของอเมริกา ที่เตรียมเปิดให้บริการก่อนกำหนดเวลาให้ปากคำคือ 10.00 น.ของวันดังกล่าว (ตรงกับ 21.00 น.ตามเวลาไทย) เพื่อให้ชาววอชิงตันเข้าไปนั่งดูการถ่ายทอดสด
ทางด้านทรัมป์ดูเหมือนไม่ค่อยสบอารมณ์นักที่คนมากมายให้ความสนใจการให้การของโคมีย์ โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากอะไรถึงอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอหรือไม่ อดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ที่หมกมุ่นกับเรตติ้งผู้นี้ตอบกลับทันทีว่า “ขอให้โชคดีแล้วกัน”
ก่อนที่โคมีย์จะขึ้นให้การ คณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาจะอุ่นเครื่องด้วยการเชิญแดน โคตส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน, ไมค์ โรเจอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ), แอนดริว แม็กคาบี รักษาการผู้อำนวยการเอฟบีไอ และร็อด โรเซนสไตน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงยุติธรรม ขึ้นให้การในวันพุธ (7)
การปลดโคมีย์ทำให้ทำเนียบขาวถูกกดดันอย่างหนักจนต้องตัดสินใจปลดชนวนความตึงเครียดด้วยการแต่งตั้งโรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ เป็นที่ปรึกษากฎหมายพิเศษเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการแทรกแซงของรัสเซียและการสมรู้ร่วมคิดของทีมหาเสียงทรัมป์
สื่อรายงานว่า มุลเลอร์พบกับโคมีย์เพื่อหารือเกี่ยวกับการสอบสวน และโคมีย์ยังขออนุญาตจากมุลเลอร์ในการไปให้ปากคำต่อรัฐสภา