(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Comey s statement weakens already weak obstruction of justice case
By Asia Unhedged
09/06/2017
ศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโต้แย้งว่า เมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดีคนก่อนๆ ตลอดประวัติศาสตร์อเมริกันแล้ว คำพูดการกระทำของทรัมป์ตามคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรของ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ ต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภานั้น ไม่ได้เข้าข่ายเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวโทษฟ้องร้องเพื่อถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้เลย
ก่อนหน้าที่ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ไปให้ปากคำด้วยตนเองต่อหน้าคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) เขาได้ส่งคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ถึงแม้คำแถลงนี้กำลังกลายเป็นกระสุนและยุทธภัณฑ์ทางการเมืองที่พวกศัตรูฝ่ายปรปักษ์ของ ทรัมป์ สามารถนำเอามาใช้งาน ทว่าแท้ที่จริงแล้วมันกลับทำให้น้ำหนักของการที่จะกล่าวโทษประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้ด้วยข้อหาขัดขวางความยุติธรรม มีอันอ่อนยวบลงไปมาก แอลเลน เดอร์โชวิตช์ (Alan Dershowitz) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีความคิดเห็นเช่นนี้ โดยเขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ของสถาบันเกตสโตน (Gatestone Institute) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคลังสมองของพวกฝ่ายขวา
คอลัมน์ “เอเชีย อันเฮดจ์” (Asia Unhedged) ของเอเชียไทมส์ ได้เก็บใจความสำคัญของข้อเขียนชิ้นนี้ (ดูรายละเอียดข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://www.gatestoneinstitute.org/10497/trump-comey-obstruction-justice ) มานำเสนอ ดังต่อไปนี้:
“คำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรของอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ เจมส์ โคมีย์ ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ล่วงหน้าก่อนที่เขาไปให้ปากคำในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ต่อหน้าคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา (Senate Intelligence Committee) ไม่ได้ให้หลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการอันเป็นการขัดขวางความยุติธรรม (obstruction of justice) หรืออาชญากรรมอื่นใดๆ แท้ที่จริงแล้วคำแถลงนี้กลับบ่งชี้ให้เห็นอย่างหนักแน่นว่า แม้กระทั่งวัดกันด้วยการใช้นิยามอันกว้างขวางที่สุดเท่าที่ยังมีความสมเหตุสมผลอยู่ ของคำว่าขัดขวางความยุติธรรม ก็มิได้มีการกระทำความผิดทางอาญาเช่นนั้นเกิดขึ้นเลย
[…]
โคมีย์มีความเข้าใจว่า “ประธานาธิบดีกำลังเรียกร้องต้องการให้พวกเรายุติการสืบสวนสอบสวนใดๆ เกี่ยวกับ (ไมเคิล) ฟลินน์ (Michael Flynn อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว) ในความเกี่ยวข้องกับคำแถลงที่เป็นเท็จของเขาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการสนทนาระหว่างเขากับเอกอัครราชทูตรัสเซียในเดือนธันวาคม (ปีที่แล้ว)”
[…]
เขา (โคมีย์) รู้สึกกังวลใจจากสิ่งที่เขาถือว่าเป็นการที่ทำเนียบขาวทำลายประเพณีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ในเรื่องความเป็นอิสระของเอฟบีไอ ถึงแม้เขายอมรับด้วยว่า “ตลอดช่วงประวัติสาสตร์ที่ผ่านมา มีประธานาธิบดีบางคนตัดสินใจว่า เนื่องจาก “ปัญหาต่างๆ” เกิดขึ้นมาจากกระทรวงยุติธรรม ดังนั้นพวกเขาจึงควรพยายามที่จะกำกับดูแลกระทรวงนี้อย่างใกล้ชิด”
การพูดเช่นนี้เป็นการกล่าวน้อยลงกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ
ตลอดประวัติศาสตร์อเมริกันทีเดียว –ตั้งแต่ (จอห์น) แอดัมส์ (John Adams ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐฯ) ไปจนถึง (โธมัส) เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ) ตั้งแต่ (อับราฮัม) ลินคอล์น (Abraham Lincoln ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ) ไปจนถึง (แฟรงคลิน ดี.) รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ) , (จอห์น เอฟ.) เคนเนดี (John F. Kennedy ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ), หรือ (บารัค) โอบามา— ประธานาธิบดีหลายต่อหลายคนต่างได้สั่งการ (ไม่ใช่เพียงแค่เรียกร้องต้องการเท่านั้นด้วยซ้ำ) ให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการสอบสวน, ฟ้องร้องกล่าวหา (หรือไม่ฟ้องร้องกล่าวหา) บุคคลหรือกลุ่มของบุคคลเฉพาะเจาะจงจำนวนหนึ่งกันทั้งนั้น
[…]
ในสหราชอาณาจักร, อิสราเอล, และประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ซึ่งเคารพหลักนิติธรรม (rule of law) อธิบดีกรมอัยการ (Director of Public Prosecution) หรือ อัยการสูงสุด (Attorney General) เป็นพวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่า มีความเป็นอิสระจากนายกรัฐมนตรี
ทว่ารัฐธรรมนูญของเราทำให้รัฐมนตรียุติธรรม เป็นทั้งหัวหน้าของอัยการ และก็เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาทางการเมืองของประธานาธิบดีในกิจการด้านยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย (หมายเหตุผู้แปล - ผู้บังคับบัญชาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ US Department of Justice ในภาษาอังกฤษใช้ชื่อตำแหน่งว่า Attorney General ซึ่งสำหรับ Attorney General ในประเทศอื่นๆ แล้ว ภาษาไทยแปลกันว่า อัยการสูงสุด แต่เฉพาะของสหรัฐฯ เนื่องจากมีฐานะ 2 ด้านเช่นนี้ ในภาษาไทยจึงนิยมแปลกันว่า รัฐมนตรียุติธรรม มากกว่า อัยการสูงสุด)
[…]
เพื่อใช้สำหรับการโต้แย้งแสดงเหตุผลความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ลองมาสมมุติกันดูว่า ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์พูดกับโคมีย์ดังต่อไปนี้: “คุณไม่ได้รับมอบอำนาจให้ทำการสอบสวนฟลินน์ต่อไปแล้ว เนื่องจากผมตัดสินใจแล้วที่จะให้อภัยโทษเขา” การที่ประธานาธิบดีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้อภัยโทษนั้น ถือเป็นการขัดขวางความยุติธรรมซึ่งเป็นความผิดทางอาญาหรือ ? ไม่ใช่อย่างแน่นอน ประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่าทำเช่นนี้กันอยู่ตลอดเวลา
ประธานาธิบดีบุชคนแรก ได้ให้อภัยโทษ แคสเปอร์ ไวน์เบอร์เกอร์ (Caspar Weinberger) รัฐมนตรีกลาโหมของเขา ในระหว่างกลางการสอบสวนซึ่งสามารถที่จะทำให้บุชเข้าข่ายทำความผิดทางอาญาได้ทีเดียว นั่นไม่ได้ถูกถือว่าเป็นการขัดขวางความยุติธรรม และการให้อภัยโทษฟลินน์ก็ไม่ได้เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมเช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีย่อมไม่สามารถที่จะถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม
และด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันนี้ ย่อมไม่สามารถกล่าวหาประธานาธิบดีทรัมป์ว่าขัดขวางความยุติธรรม จากการที่เขาไล่โคมีย์ออกจากตำแหน่ง ในเมื่อเขามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะกระทำเช่นนั้นได้”
หมายเหตุผู้แปล
เว็บไซต์เอเชียไทมส์ ยังได้เสนอรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่องการให้ปากคำของอดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) จึงขอเก็บความนำมาเสนออย่างต่อเนื่องในที่นี้:
‘โคมีย์’ ยืนยัน ‘ทรัมป์’ปลดเขาเพื่อบ่อนทำลายการสอบสวนเรื่องรัสเซียของFBI
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
Comey says Trump fired him to undermine FBI Russia investigation
By Reuters
09/06/2017
มาร์ค คาโซวิตช์ ทนายความส่วนตัวของทรัมป์แถลงว่า การให้ปากคำของโคมีย์ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้ไม่ได้กำลังถูกดำเนินการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เจมส์ โคมีย์ กล่าวหาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ว่า สาเหตุที่ปลดเขาออกจากตำแหน่งก็เพราะต้องการบ่อนทำลายการสอบสวนของทางสำนักงาน ในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีการสบคบคิดกันระหว่างทีมงานรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ กับรัสเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าพยายามส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันปี 2016
ในการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ซึ่งกลายเป็นรายการรับฟังความคิดเห็นของรัฐสภาอเมริกันครั้งที่ถูกคาดหมายรอคอยด้วยความกระตือรือร้นที่สุดในรอบระยะเวลาหลายๆ ปีคราวนี้ โคมีย์บอกกับเหล่าสมาชิกของคณะกรรมาธิการสภาสูงว่า คณะบริหารทรัมป์ได้พูดเท็จและใส่ร้ายป้ายสีทั้งตัวเขาและเอฟบีไอ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ปลดเขาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ระหว่างการให้ปากคำเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงครั้งนี้ โคมีย์บอกกับคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาว่า เขาเชื่อว่าทรัมป์ได้สั่งการเขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ให้เอฟบีไอยุติการสอบสวนเกี่ยวกับ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนเรื่องของรัสเซีย
โคมีย์ไม่ขอตอบว่า เขาคิดหรือไม่ว่าประธานาธิบดีมุงหาทางขัดขวางกระบวนการยุติธรรม แต่กล่าวเสริมว่ามันจะต้องเป็นหน้าที่ของ โรเบิร์ต มูลเลอร์ ที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม ผู้ซึ่งเวลานี้ได้รับมอบหมายหน้าที่สอบสวนเรื่องข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับรัสเซีย “ที่จะต้องสะสางเรื่องนี้ออกมา”
“ผมไม่คิดว่ามันจะต้องเป็นตัวผมหรอกที่จะเป็นคนพูดว่า การสนทนาที่ท่านประธานาธิบดีคุยกับผมกับคือความพยายามที่จะขัดขวางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ผมถือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากรบกวนใจมาก, ทำให้เกิดความวิตกกังวลมาก” โคมีย์กล่าวให้ปากคำ
อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอซึ่งนั่งอยู่เพียงคนเดียวที่โต๊ะตัวเล็กๆ หันหน้าเผชิญกับเหล่าวุฒิสมาชิกในคณะกรรมาธิการซึ่งยิงคำถามเข้าใส่คำถามแล้วครั้งถามเล่า สนองตอบด้วยคำตอบที่สั้นกระชับและผ่านการขบคิดตรึกตรอง เขาวาดภาพให้เห็นถึงประธานาธิบดีผู้ชอบบังคับครอบงำคนอื่น ผู้ซึ่งตัวเขาไม่ได้ไว้วางใจ และผู้ซึ่งบีบคั้นกดดันเขาให้ยุติการสอบสวนของเอฟบีไอในเรื่องฟลินน์
พวกวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์บอกว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามของประธานาธิบดีผู้นี้ที่จะกีดกันการสอบสวนของเอฟบีไอ ควรถือได้ว่าเท่ากับเป็นพฤติการณ์ขัดขวางความยุติธรรม การกระทำผิดในลักษณะเช่นนี้มีศักยภาพที่อาจจะทำให้ทรัมป์ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ถึงแม้เพื่อนสมาชิกพรรครีพับลิกันของเขาซึ่งควบคุมรัฐสภาอเมริกันทั้ง 2 สภาอยู่ในตอนนี้ แทบไม่ได้แสดงอาการว่าปรารถนาจะลงมือเดินหน้าความเคลื่อนไหวดังกล่าว
ตัวทรัมป์เองซึ่งไปกล่าวปราศรัยต่อพวกผู้สนับสนุนในอีกด้านหนึ่งของกรุงวอชิงตันในช่วงวันเดียวกันนี้ ประกาศที่จะต่อสู้ต่อไปอย่างไม่ยอมจำนน “พวกเรากำลังถูกปิดล้อม ... แต่เราจะฝ่าออกมาด้วยขนาดที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าที่เคยมา” เขาบอก
โคมีย์ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญใหม่ๆ ใดๆ ในเรื่องการพัวพันเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างทรัมป์หรือพวกผู้ช่วยของเขากับรัสเซีย อันเป็นประเด็นปัญหาที่เฝ้าไล่งับใส่ประธานาธิบดีผู้นี้แบบไม่ยอมปล่อยเรื่อยมา ตลอดช่วงเดือนแรกๆ ที่เขาเข้าดำรงตำแหน่ง และรบกวนหันเหความสนใจให้ออกห่างจากเป้าหมายต่างๆ ทางนโยบายของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเครื่องระบบดูแลรักษาสุขภาพของสหรัฐฯ หรือการปรับปรุงลดหย่อนอัตราภาษี
ทางรัสเซียนั้นได้ปฏิเสธเสียงแข็งเรื่อยมาว่าไม่ได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯอย่างที่ถูกกล่าวหา ขณะที่ทำเนียบขาวก็ปฏิเสธสุดฤทธิ์ว่าไม่ได้มีการสมคบใดๆ กับมอสโก
กระนั้นก็ตามที เรื่องเกี่ยวกับรัสเซียนี้ยังน่าที่จะกลายเป็นเงาดำทะมึนเหนือสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ต่อไปอีก ขณะที่การสอบสวนที่เอฟบีไอยังคงดำเนินการอยู่นั้น เวลานี้ไม่เพียงนำเอาตัวฟลินน์เข้ามาติดบ่วงเท่านั้น หากยังลามปามไปถึง จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์ซึ่งมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีอีกด้วย
รัฐมนตรียุติธรรม เจฟฟ์ เซสชั่นส์ ซึ่งโดยสายงานถือเป็นผู้บังคับบัญชาของเอฟบีไอด้วยนั้น ได้ประกาศนำตัวเองออกมาจากการสอบสวนเรื่องนี้ของเอฟบีไอ ภายหลังปรากฏข่าวฉาวว่าเขาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องรัสเซียด้วย อย่างไรก็ดี จากการให้ปากคำของโคมีย์ในครั้งนี้ ก็ก่อให้เกิดความเพ่งเล็งสนใจกันขึ้นมาใหม่ต่อตัวเซชชั่นส์ และความสัมพันธ์ของเขากับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ เซียร์เกย์ คิสลยัค
หลังจากทรัมป์สั่งปลดโคมีย์ออกจากตำแหน่งแล้ว บุคคลในคณะบริหารได้ให้เหตุผลของการที่จะต้องไล่ออกซึ่งปรากฏว่ามีความแตกต่างผิดแผกกัน ในเวลาต่อมาตัวทรัมป์ยังได้กล่าวขัดแย้งกับพวกทีมงานของเขาเองและยอมรับเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า เขาปลดโคมีย์ก็เพราะเรื่องเกี่ยวกับรัสเซีย
เมื่อถูกถามว่าตัวเขาเองคิดว่าทำไมทรัมป์จึงไล่เขาออกจากตำแหน่ง โคมีย์ตอบว่าเขาไม่ทราบแน่ชัดถึงเหตุผลของเรื่องนี้ แล้วเขาก็พูดต่อไปว่า “อีกครั้งหนึ่งครับ ผมต้องถือตามคำพูดของประธานาธิบดี ผมทราบว่าผมถูกปลดออกเนื่องจากอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการที่ผมกำลังใช้อยู่ในการสอบสวนเรื่องรัสเซียนั้น ในบางวิถีทางกำลังกลายเป็นการสร้างแรงกดดันบีบคั้นต่อตัวเขา ในบางวิถีทางกำลังทำให้เขารู้สึกโกรธเกรี้ยว และเขาจึงตัดสินใจปลดผมออกเพราะเหตุนั้น”
โคมีย์ยังพูดซ้ำๆ หลายครั้งว่า มีรายละเอียดหลายๆ อย่างที่เขาไม่สามารถนำขึ้นมาพูดจาถกแถลงในวาระที่เปิดให้สาธารณชนรับฟัง ซึ่งเท่ากับแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเขามีข้อมูลข่าวสารอันอ่อนไหวที่เขาสามารถเปิดเผยกับวุฒิสมาชิกเหล่านี้ได้เฉพาะในวาระการพูดจากันแบบปิดลับไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนเท่านั้น
“โกหกกันอย่างดื้อๆ และอย่างด้านๆ”
โคมีย์บอกว่าคณะบริหารของทรัมป์ได้ใส่ร้ายป้ายสีเขา ในการแสดงความคิดเห็นภายหลังจากเขาถูกไล่ออก ด้วยการพูดว่าเอฟบีไอกำลังอยู่ในอาการปั่นป่วนรวนเร และพวกเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้นำของตนเสียแล้ว “คำพูดเหล่านี้คือการโกหกกันอย่างดื้อๆ และอย่างด้านๆ” โคมีย์กล่าว
มีความเป็นไปได้ว่า การกล่าวหาต่างๆ ของเขาในครั้งนี้อาจจะทำให้คณะบริหารของทรัมป์ยิ่งจมลึกลงไปในบ่อเลนโคลนแห่งความลำบากยุ่งยากทางกฎหมาย เพราะไม่เพียงเอฟบีไอเท่านั้น แต่มูลเลอร์และคณะกรรมาธิการหลายชุดทั้งของสภาสูงและสภาล่าง ต่างกำลังลงมือสอบสวนว่า ทำไมพวกหน่วยข่าวกรองต่างๆ ของสหรัฐฯจึงมีข้อสรุปว่ารัสเซียได้ใช้ความพยายามเพื่อช่วยเหลือทรัมป์ให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว
“การสอบสวนเรื่องรัสเซียจะดำเนินต่อไปอีก มันไม่ใช่กำลังจะยุติลงเลย และประธานาธิบดีก็ควรทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว” ไดแอนน์ เฟนสไตน์ วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรอง บอกกับสื่อ เอ็มเอสเอ็นบีซี
ทางด้าน มาร์ค คาโซวิตช์ ซึ่งทรัมป์ว่าจ้างให้เป็นทนายความส่วนตัวของเขาเพื่อรับมือกับการสอบสวนเหล่านี้ กล่าวว่าการให้ปากคำในคราวนี้ของโคมีย์ คือข้อพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีไม่ได้ตกอยู่ใต้การสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีคะแนนเสียงแม้แต่คะแนนเดียวถูกเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นผลมาจากการที่รัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว คาโซวิตช์ยังปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริงเลยในเรื่องโคมีย์บอกว่า ทรัมป์ได้กล่าวกับโคมีย์ว่าเขามีความจำเป็นและก็มีความคาดหวังว่าโคมีย์จะจงรักภักดีต่อตัวเขา
ด้านเอ็นบีซีนิวส์ ซึ่งก็คือฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี รายงานในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ว่า คาดหมายกันว่าคุชเนอร์จะพบปะพูดจากกับพวกเจ้าหน้าที่ของทางคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้
โคมีย์บอกว่า เขารู้สึกว่าเขาจำเป็นที่จะต้องนำเอาการสนทนาระหว่างตัวเขากับทรัมป์จากปากคำของทางฝ่ายตัวเขา ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ด้วยความคาดหวังว่ามันอาจจะเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาจริงๆ โคมีย์กล่าวว่าเขาได้ให้สำเนาบันทึกช่วยจำของเขา ซึ่งเขาบันทึกเกี่ยวกับการพูดจาระหว่างเขากับทรัมป์ แก่บุคคลภายนอกกระทรวงยุติธรรมด้วย รวมทั้งได้ขอร้องเพื่อนคนหนึ่งให้ช่วยแลกเปลี่ยนแบ่งปันเนื้อหาของบันทึกนี้กับนักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่ง
ทั้งนี้ แดเนียล ริชแมน ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ออกมายืนยันกับรอยเตอร์ว่า เขาคือเพื่อนคนที่โคมีย์เอ่ยอ้างถึง
คาโซวิตช์ ทนายความส่วนตัวของทรัมป์กล่าวว่า เรื่องนี้ “เราจะปล่อยเอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของพวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอันถูกต้องเหมาะสม” ในการวินิจฉัยว่าการปล่อยข้อมูลรั่วไหลของโคมีย์เช่นนี้ “ควรที่จะถูกสอบสวน” ว่าอาจจะมีการกระทำความผิดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายรายตั้งคำถามเอากับข้อโต้แย้งของคาโซวิตช์ที่ว่า การพูดจากันเป็นการภายในของทรัมป์กับโคมีย์เช่นนี้ ควรถือเป็นการติดต่อสื่อสารที่พึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ให้นำออกไปเผยแพร่
“พระเจ้า! ผมหวังว่าจะมีการบันทึกเสียงเอาไว้นะ”
โคมีย์ให้ปากคำว่าเขาไม่ทราบเลยว่ามีการบันทึกเสียงการสนทนาของตัวเขากับทรัมป์เอาไว้หรือไม่ แต่ถ้ามี เขาก็เห็นว่าควรที่จะนำออกมาเผยแพร่
“พระเจ้า! ผมหวังว่าจะมีการบันทึกเสียงเอาไว้นะ” โคมีย์กล่าว
พวกรีพับลิกันในคณะกรรมาธิการตั้งคำถามใส่โคมีย์อย่างมุ่งมั่นจริงจัง ทว่าไม่ได้โจมตีเล่นงานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของเขา หรือพยายามที่จะปฏิบัติต่อเขาอย่างลวกๆ ฉาบฉวย แบบที่คาดหมายได้ว่าพยานผู้ซึ่งมาให้ปากคำกล่าวหาประธานาธิบดีชาวพรรครีพับลิกันที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ น่าจะได้รับกัน
โคมีย์ระบุว่า การที่เขาจัดทำบันทึกช่วยจำขึ้นมาภายหลังการพบปะหารือกับทรัมป์ ก็เพราะ “ผมมีความรู้สึกกังวลใจโดยสุจริตว่า เขาอาจจะโกหกเกี่ยวกับความเป็นไปของการพบปะพูดจากันของเรา ดังนั้นผมจึงคิดว่ามันสำคัญจริงๆ ที่จะต้องบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน”
ตั้งแต่ อาคารรัฐสภาอเมริกันที่ แคปิโทล ฮิลล์ (Capitol Hill) ในกรุงวอชิงตัน ไปจนถึงเขตคาสโคร (Castro district) ในนครซานฟรานซิสโก การปรากฏตัวให้ปากคำของโคมีย์ สามารถสร้างแรงดึงดูดให้เกิด “งานปาร์ตี้เฝ้าหน้าจอทีวี” อย่างคึกคัก โดยพวกคอการเมืองพากันไปชุมนุมกันตามร้านเหล้า, ร้านอาหาร, และห้องนั่งเล่นภายในบ้าน เพื่อรอชมเหตุการณ์คราวนี้ ที่มีบางคนเปรียบเทียบเรียกขานว่าเป็น “การแข่งขันซูเปอร์โบว์ลแห่งกรุงวอชิงตัน” (Super Bowl of Washington)
ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯพากันปิดสูงขึ้นเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) เมื่อตลาดแทบไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรต่อการให้ปากคำของโคมีย์ โดยมองกันว่าเฉพาะการให้ปากคำของเขาเพียงอย่างเดียวยังไม่น่าที่จะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงจุดจบแห่งยุคการครองอำนาจเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์
โคมีย์กล่าวว่า ทรัมป์ไม่ได้พยายามที่จะให้เขายุติการสอบสวนเรื่องรัสเซียไปทั้งหมด โดยต้องการให้หยุดเฉพาะส่วนที่อาจเกี่ยวข้องพัวพันกับฟลินน์ ผู้ซึ่งประธานาธิบดีผู้นี้เองได้ปลดออกจากตำแหน่งไปในเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยข้อหาให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จแก่รองประธานาธิบดีไมก์ เพรนซ์ เกี่ยวกับขนาดขอบเขตของการสนทนาระหว่างเขากับเอกอัครราชทูตคิสลยัคเมื่อปลายปีที่แล้ว
วุฒิสมาชิกมาร์โค รูบิโอ ของรีพับลิกัน ซักถามโคมีย์ว่า ใช่หรือไม่ว่าเขามีความรับรู้มีความเข้าใจว่า การเรียกร้องต้องการของประธานาธิบดีที่ให้ปล่อยเรื่องของฟลินน์ผ่านไปเสียคือการออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากการที่ทรัมป์มีตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี, สถานที่และสภาวะแวดล้อมของการสนทนาคราวนี้
“ครับ” โคมีย์ตอบ
ลอรา โดโนฮิว ศาสตราจารย์ศูนย์กฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ให้ความเห็นว่า ถ้าทรัมป์ปลดโคมีย์เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับรัสเซียแล้ว นั่นจะเท่ากับการขัดขวางความยุติธรรม
ทั้งการสนทนาระหว่างทรัมป์กับโคมีย์ในเรื่องเกี่ยวกับฟลินน์ และตัวการปลดโคมีย์เอง ต่างก็เป็นพฤติการณ์ขัดขวางความยุติธรรม เธอกล่าว “เขาต้องการที่จะทำลายการสอบสวน –มันเป็นเรื่องยากที่จะมองมันให้เป็นอย่างอื่นไปได้” เธอยืนยัน
ในส่วนเกี่ยวกับเซสชั่นส์ โคมีย์กล่าวว่าเขาไม่ได้นำเรื่องทรัมป์กดดันให้ยุติการสอบสวนฟลินน์ ไปหารือกับรัฐมนตรียุติธรรมผู้นี้ เพราะคณะผู้นำของเอฟบีไอเชื่อว่า ในเวลาต่อไปเซสชั่นส์จะยอมถอยตัวเองออกมาจากการสอบสวนเรื่องรัสเซีย
“เรายังมีความตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผมไม่สามารถที่จะหารือในบรรยากาศอันเปิดเผย ซึ่งจะทำให้การที่เขายังคงเข้าพัวพันอยู่ในการสอบสวนอันเกี่ยวข้องกับรัสเซียนั้น กลายเป็นปัญหาขึ้นมา” โคมีย์กล่าว โดยที่มิได้ให้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้
ในเวลาต่อมา กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำแถลงกล่าวว่า การที่เซสชั่นส์ถอนตัวไม่เข้าเกี่ยวข้องกับการสอบสวนเรื่องรัสเซียนั้น เหตุผลมีเพียงแค่ว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์เท่านั้นเอง
ทางด้าน ลินด์ซีย์ แกรแฮม วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าทรัมป์ได้ประกอบอาชญากรรม ถึงแม้ว่าสไตล์ ส่วนตัวของเขามักเต็มไปด้วยความหุนหันสะเพร่า เขากล่าวอีกว่า “ผมขอพูดเพียงว่า ถ้าหากการเป็นคนกระด้าง, หยาบคาย, และเป็นคนทำอะไรตึงตังขาดความรอบคอบ คือการประกอบอาชญากรรมแล้ว ทรัมป์ก็คงจะต้องรับโทษประหารชีวิตไปแล้ว”