เอพี/เอเจนซีส์ - สหราชอาณาจักรจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ภายหลังช่วงการหาเสียงซึ่งทีแรกกร่อยสนิท ก่อนที่บรรยากาศจะกลับกลายเป็นชวนเซอร์ไพรส์จากการดำเนินการผิดพลาดอย่างคาดไม่ถึงหลายอย่างของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม แถมตอนใกล้ปิดฉากยังเกิดเหตุโจมตีก่อการร้าย 2 ครั้งที่ทำให้ความมั่นคงของชาติกลายมาเป็นวาระร้อนในทันใด อย่างไรก็ตาม ผลโพลหยั่งเสียงวันสุดท้ายบ่งบอกว่า นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ อาจจะได้รับผลอย่างที่หวังไว้ตอนเคลื่อนไหวยุบสภาก่อนครบวาระ กล่าวคือพรรคของเธอน่าจะได้ครองเสียงข้างมากเพิ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองเพื่อหย่าขาดจากสหภาพยุโรป (อียู)
**ทำไมต้องรีบเลือกตั้ง**
ชาวสหราชอาณาจักรมากมายถามคำถามนี้หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเมย์ ประกาศเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาว่า จะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง 3 ปี
หลังจากเพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2015 และกลางปีที่แล้วก็ต้องไปใช้สิทธิ์ลงประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ดังนั้น สิ่งสุดท้ายที่ชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากต้องการเห็นก็คือแคมเปญหาเสียงที่สร้างความแตกแยกรอบใหม่
แต่สำหรับเมย์ นี่คือฤกษ์งามยามเหมาะ เมย์คว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ด้วยชัยชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม หลังจากเดวิด คาเมรอน ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการลงประชามติ “เบร็กซิต” ดังนั้น การเลือกตั้งก่อนกำหนดจะทำให้เธอมีโอกาสได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และด้วยผลสำรวจความคิดเห็นที่บ่งชี้ว่า พรรคอนุรักษนิยมจะได้ชัยชนะเป็นกอบเป็นกำ จึงมีแนวโน้มที่เมย์จะมีเสียงข้างมากในสภาเพิ่มขึ้น และเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองในกระบวนการนำอังกฤษออกจากอียู กับผู้นำในบรัสเซลส์
**คู่แข่งขัน**
ฝ่ายมุมน้ำเงินซึ่งเป็นสีของพรรคอนุรักษนิยม คือเมย์ ส.ส.หญิงวัย 60 ปี ที่สมาชิกพรรคเดียวกันรู้จักดีว่า เธอเป็นนักปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพแต่เงียบขรึม หลังจากมีจุดยืนสนับสนุนการคงอยู่กับอียูก่อนหน้านี้ ภายหลังประชามติ “เบร็กซิต” เมย์ให้สัญญาว่า จะผลักดันเดินหน้าเรื่องนี้, ลดจำนวนผู้เข้าเมือง, และสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับเพื่อนบ้านยุโรป
ส่วนฝ่ายมุมแดง คือ เจเรมี คอร์บิน วัย 68 ปี ผู้สนับสนุนแนวทางสังคมนิยมและได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คอร์บินเป็นความผิดหวังของลูกพรรคแรงงานหลายคนที่อยากได้หัวหน้าที่มีแนวทางสายกลาง
คอร์บินนั้นสนับสนุนนโยบายการโอนกิจการต่างๆ เข้าเป็นของรัฐและนโยบายโบราณอื่นๆ ของฝ่ายซ้าย พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาโจมตีว่า เขาเป็นตัวแทนของพรรคแรงงานรุ่นเก่าที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ยังหลงเหลืออยู่ในยุค “แรงงานใหม่” ภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนยกให้คอร์บินเป็นตัวเลือกตัวจริงเพื่อสู้กับพรรคอนุรักษนิยมที่ส่งเสริมธุรกิจและชูนโยบายลดการใช้จ่าย
สำหรับพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรคขนาดเล็กๆ นั้น ที่โดดเด่นคือพรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ “สกอตติช เนชั่นแนล ปาร์ตี้” ที่สนับสนุนให้สกอตแลนด์แยกตัวจากอังกฤษ และกำลังพยายามทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเมื่อสองปีก่อนที่พรรคกวาดที่นั่งในสกอตแลนด์ได้เกือบหมด
นอกจากนี้ยังมีพรรคยู.เค. อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ที่สนับสนุนการแยกตัวจากอียู และหวังว่า จะได้กลับเข้าสู่สภาอีกครั้งหลังจากเสียที่นั่งที่มีอยู่เพียงที่เดียวไปก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้
**ประเด็นสำคัญในการหาเสียง**
เบร็กซิตที่เคยถูกคาดหมายว่า จะเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง กลับมีบทบาทน้อยมากอย่างน่าแปลกใจ ทั้งพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยมต่างบอกว่า จะเดินหน้าจัดการเรื่องการแยกตัวจากอียูและพยายามรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้กับบรัสเซลส์ แต่ไม่มีพรรคไหนที่ให้รายละเอียดว่า จะดำเนินการอย่างไร
ในระยะแรกของการหาเสียง บรรยากาศดูเหมือนบ่งชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมสถานะของเมย์และพรรคอนุรักษนิยมซึ่งหาเสียงโดยใช้คำขวัญว่า “รัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ”
แต่ผ่านไม่นานกลับปรากฏชัดเจนขึ้นว่า นโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัดของคอร์บินโดนใจประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะหนุ่มสาว พรรคแรงงานยังประสบความสำเร็จในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างสังคมสองแบบ และให้คำมั่นว่า จะเป็นรัฐบาล “เพื่อคนหมู่มาก ไม่ใช่คนส่วนน้อย”
สไตล์การหาเสียงที่มีการควบคุมเคร่งครัดของเมย์ที่เน้นการปราศรัยกับผู้สนับสนุนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้คนมากขึ้นทุกที มิหนำซ้ำพรรคอนุรักษนิยมยังออกมาเสนอให้ผู้รับบำนาญต้องจ่ายสมทบเพิ่มสำหรับสวัสดิการด้านสุขภาพระยะยาว ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้โอกาสโจมตีว่า ข้อเสนอนี้เป็น “ภาษีสมองเสื่อม”
เมย์ตัดสินใจยกเลิกข้อเสนอดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นการบ่อนทำลายสโลแกน “เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ” ของพรรคอย่างช่วยไม่ได้
**ก่อการร้ายขโมยซีน**
เหตุโจมตีอันร้ายแรง 2 ครั้งทำให้การก่อการร้ายและความมั่นคงกลายเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงของอังกฤษโดยปริยาย
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในคอนเสิร์ตของ อเรียนา แกรนเด ที่แมนเชสเตอร์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 22 คน ทำให้การหาเสียงต้องพักไปหลายวัน มิหนำซ้ำเมย์ยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลงานสมัยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยปี 2010-2016 ที่มีการตัดงบประมาณตำรวจ และลดจำนวนผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถึงเกือบ 20,000 คน
และหลังจากผู้ก่อเหตุ 3 คนขับรถพุ่งชนและไล่แทงคนในย่านลอนดอนบริดจ์เมื่อวันเสาร์ (3 มิ.ย.) เมย์ประกาศว่า อังกฤษจะต้องจัดการลัทธิสุดโต่งอย่างเข้มข้น แม้อาจต้องผ่อนปรนกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ต้องทำ
แต่ฝ่ายต่อต้านบอกว่า เมย์ถือเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงภายในประเทศอยู่แล้ว จึงต้องรับผิดชอบกับเหตุโจมตีแมนเชสเตอร์และลอนดอน เนื่องจากคนร้ายในทั้งสองคดีล้วนเป็นที่รู้จักของทางการแต่กลับเล็ดลอดการติดตามและก่อเหตุสะเทือนขวัญ
**ว่าที่ผู้ชนะ**
ตอนที่เริ่มต้นหาเสียง โพลต่างๆ ชี้ว่าพรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนนำถึง 20 จุด และการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ส่วนใหญ่ชี้ว่า เมย์จะยังได้ชัยชนะแต่คงไม่ถึงขั้นถล่มทลายแบบที่คาดหมายกันแต่แรก
ทว่าโพลช่วงท้ายๆ แตกเป็นสองทาง นั่นคือระหว่างพรรคอนุรักษนิยมนำขาดกับชนะเพียงเฉียดฉิว บางโพลบอกรัฐบาลจะได้เสียงข้างมากเกิน 100 ที่นั่ง ทว่าบางโพลบอกว่าพรรคอนุรักษนิยมย่ำแย่ถึงขนาดไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจครั้งสุดท้าย นั่นคือโพลของอิปซอส โมริ ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ลอนดอน อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด ในวันพฤหัสบดี (8) บ่งชี้ว่า พรรคอนุรักษนิยมได้เสียง 44% และพรรคแรงงานได้ 36% นำเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนอย่างชัดเจน แต่ยังไม่ใช่นำแบบขาดลอย นอกจากนั้นยังมีผู้ออกเสียงถึง 1 ใน 5 กล่าวในสัปดาห์นี้ว่ายังไม่ได้ตัดสินใจจะเลือกใคร
การเลือกตั้งครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 7.00 น. จนถึง 22.00 น. (13.00 น.วันพฤหัสบดี จนถึง 04.00 น.วันศุกร์ตามเวลาไทย) โดยจะมีการเผยแพร่ผลเอ็กซิตโพลกันภายหลังเวลาปิดหีบลงคะแนน ขณะที่ผลเลือกตั้งที่นั่ง ส.ส.เขตแรกๆ น่าจะประกาศกันในเวลา 24.00 น. (06.00 น.วันศุกร์ เวลาเมืองไทย) ส่วนผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่สุดของเขตเลือกตั้งทั้ง 650 เขตนั้น น่าจะประกาศกันในช่วงระหว่าง 01.00-04.00 น.วันศุกร์ (07.00-10.00 น. เวลาเมืองไทย)