xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธา : ปัจจัยในการสร้างและทำลาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ศรัทธาได้แก่ความเชื่อ ความภักดีในบุคคล วัตถุ และคำสอน เป็นต้น แล้วบูชานับถือบุคคลหรือสิ่งที่ตนศรัทธานั้น

ในคำสอนของพระพุทธศาสนาได้แบ่งเหตุที่ทำให้เกิดศรัทธาออกเป็น 4 ประการคือ

1. รูปัปปมาณิกา ศรัทธาในรูป

2. โฆสัปปมาณิกา ศรัทธาในเสียง

3. ลูขัปปมาณิกา ศรัทธาในสิ่งเศร้าหมอง

4. ธัมมัปปมาณิกา ศรัทธาในธรรม

ศรัทธาหรือความเชื่อ เป็นทั้งกุศลธรรมคือธรรมฝ่ายดี เมื่อเกิดในบุคคลใด จะนำบุคคลนั้นคิดดี พูดดี และทำดี ตามบุคคลหรือสิ่งที่ตนศรัทธานั้น ในทางกลับกัน ถ้าเป็นศรัทธาฝ่ายอกุศลธรรมคือธรรมฝ่ายเลว เมื่อเกิดขึ้นในบุคคลใด ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้บุคคลนั้นคิด พูด และทำในสิ่งไม่ดีหรือที่เรียกว่า สิ่งที่เป็นทุจริต ทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ตามบุคคลหรือสิ่งที่ตนศรัทธานั้น

ส่วนว่าศรัทธาจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแห่งศรัทธา กล่าวคือ ถ้าเป็นศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา ตามนัยแห่งพุทธพจน์ตรัสสอนไว้ในกาลามสูตร ก็เป็นกุศลธรรมทำให้ผู้มีศรัทธา คิด พูด และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยรวม ในทางกลับกัน ศรัทธาที่ประกอบด้วยโมหะคือความหลง ก็จะเป็นเหตุให้บุคคลผู้มีศรัทธาประเภทนี้คิด พูด และทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและสังคมรอบข้าง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อแห่งการถูกหลอกลวงจากบุคคลซึ่งตนศรัทธานั้น ด้วยเหตุนี้ศรัทธาจึงเป็นทั้งปัจจัยแห่งการสร้าง และเหตุแห่งการทำลาย

หลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 ประการดังนี้

1. มา อนุสฺสเวน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา

2. มา ปรมฺปราย อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา

3. มา อิติกิราย อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ

4. มา ปิฎกสมฺปทาเนน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

5. มา ตกฺกเหตุ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ

6. มา นยเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

7. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

8. มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้

9. มา ภพฺพรูปตาย อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะ น่าจะเป็นไปได้

10. มา สมโณ โน ครูติ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าสมณรูปนี้เป็นครูของเรา

ต่อเมื่อเข้าใจด้วยตนว่าธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

จากเนื้อหาสาระของพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ห้ามมิให้ปักใจเชื่อหรือปลงใจเชื่อ ด้วยเหตุ 10 ประการ แต่สอนให้นำเรื่องที่ได้รับรู้มาไตร่ตรองใคร่ครวญด้วยตนเอง จนเป็นที่ประจักษ์แจ่มแจ้งว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่จริง มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ มีโทษหรือไม่มีโทษ แล้วละสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และให้โทษทิ้งเสีย และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มายึดถือและทำตาม

แต่ผู้คนในสังคมไทยในปัจจุบันไม่คิดถือและปฏิบัติตามพระสูตรนี้ จึงตกเป็นเหยื่อแห่งการหลอกลวงด้วยคำพูดและข้อมูลง่ายๆ เพียงคำพูดที่อ้างผลตอบแทนที่ดีก็จ่ายเงินลงทุนกันเข้าไป และแถมไปชักชวนญาติและเพื่อนฝูงนำเงินมาลงทุน จะด้วยความหวังดีให้เพื่อนฝูงและญาติร่ำรวยไปด้วยกัน หรือจะด้วยหวังผลตอบแทนจากส่วนแบ่ง จากค่าสมัครเป็นสมาชิกหรือเปอร์เซ็นต์จากเงินลงทุน ก็ยากที่จะคาดเดาภาวะจิตของแต่ละคน แต่โดยรวมบอกได้ว่าทุกคนที่เชื่อในลักษณะนี้เป็นเหยื่อแห่งความโลภ และเดือดร้อนทุกราย เพราะสุดท้ายไม่ได้ผลตอบแทนแถมเงินต้นก็ไม่ได้คืน จบลงด้วยการฟ้องร้องเป็นข่าวเกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน และที่เป็นเช่นนี้นอกจากเชื่อง่ายไร้ข้อมูลแล้ว น่าจะมีปัจจัยอื่นอนุมานได้ดังนี้

1. สภาพเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ย่ำแย่ลง ข้าวของแพง และเงินทองหายาก ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแทบจะเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ จึงทำให้ผู้ที่มีเงินเก็บเล็กน้อย เช่น คนในวัยเกษียณก็อยากมีรายได้จากการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เมื่อมีคนมาชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างว่าได้ผลตอบแทนสูงถึง 10% ต่อเดือนก็แห่กันไปลงทุน ทั้งๆ ที่ไม่รู้รายละเอียดของธุรกิจ แต่ลงเงินไปด้วยศรัทธาหรือความเชื่อซึ่งมีโลภะและโมหะเป็นองค์ประกอบ

2. ในปัจจุบันสื่อออนไลน์ทำให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและทั่วถึง จึงง่ายที่นักต้มตุ๋นหลอกลวงจะใช้ช่องทางนี้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งยากแก่การตรวจสอบสำหรับคนปกติทั่วไป

3. เมื่อเกิดการฟ้องร้องน้อยรายจะได้เงินคืนครบเท่าที่ลงทุนไป ถึงแม้จะจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จึงทำให้คนที่คิดจะหลอกลวงต้มตุ๋นกล้าที่จะเสี่ยงคุก เสี่ยงตะรางเพื่อแลกกับเงินก้อนโตที่จะได้จากการหลอกลวง

อีกประการหนึ่ง ศรัทธายังเป็นปัจจัย 1 ใน 3 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ตามนัยแห่งคำสอนของขงจื๊อที่ว่า เศรษฐกิจย่ำแย่ กองทัพแตกแยก ไร้ระเบียบวินัย และประชาชนไม่ศรัทธาในผู้ปกครอง 3 ประการนี้คือเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง

ดังนั้น ถ้าประเทศใดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อนเพราะค่าครองชีพสูงแต่รายได้ต่ำ กองทัพไม่มีเอกภาพแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า และประชาชนไม่ศรัทธาในตัวผู้นำ เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น