หงุดหงิดกันเต็มทน เกิดเรื่องร้ายทีไรเป็นต้องกล้องวงจรปิดตรงนั้นเสียทุกที แล้วก็ไม่เคยเห็นว่ามีใครต้องรับผิดชอบ แต่ละแห่งแต่ละย่านใช้เงินเป็นสิบๆร้อยๆล้านติดกันไว้ แต่พอติดแล้วก็แล้วกัน กระตือรือร้นแค่ตอนซื้อเท่านั้น จากนั้นก็ไม่มีใครใส่ใจดูแล ไม่มีใครรับผิดชอบตรวจตราว่ามันยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า
เรื่องอย่างนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำชับไว้แล้วว่า ถ้าไม่ตรวจตรางานในบังคับบัญชาให้ลุล่วงไปด้วยดี ผู้บังคับบัญชานั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ แม้จะเป็นถึงเสนาบดีหรือพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม
ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๙) ถึงกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ มีความว่า
“ด้วยเพื่อจะให้เธอเป็นหลักฐานช่วยความจำ เรื่องที่ฉันได้พูดกับเธอที่วัดเบญจมบพิธ ด้วยการตอกเลขเรือนั้น มีความดังต่อไปนี้
คือเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ เดือนนี้ ฉันได้ไปโดยรถโมตอร์คาร์ลงเรือที่ถนนตก ไปดูสวนส้มที่แม่น้ำอ้อมที่ปากลัด ได้ทราบความจากผู้ซึ่งควรเชื่อได้ว่า การที่มาตีภาษีนั้นราษฎรมีความเดือดร้อน ไม่เห็นด้วยว่าจะเป็นการป้องกันโจรผู้ร้ายได้จริง แต่วิธีที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ยังเป็นการไม่ดีหลายอย่าง คือเรือที่จะมาตอกเลขนั้น ต้องมาคอยอยู่มากๆหลายร้อยลำ ทำการไม่สำเร็จได้ในวันเดียว เรือบางลำต้องรออยู่ถึง ๓ วัน เรือเหล่านั้นย่อมเป็นเรือทำมาหากิน ป่วยการเวลา บางทีสิ่งของก็เน่าเสียไป ครั้นละทิ้งไว้เสียไม่คอยอยู่ก็ถูกปรับ การที่เป็นทั้งนี้เพราะจัดการกำหนดที่จะให้เรือมาตอกเลขนั้นไม่ดี ไม่กะเรือแต่พอจุงานที่จะทำได้
อีกประการหนึ่ง เจ้าพนักงานที่เป็นผู้ตอกเลขนั้นวาจาร้ายแรง มีแต่ด่าบิดามารดาคนอยู่ยังค่ำ ไม่มีการอ่อนหวานเลย
อีกประการหนึ่ง ถ้ามีผู้ปรารถนาที่จะให้ได้ตอกเลขเร็ว ยอมเสียของกำนัลให้แก่เจ้าพนักงานรับไว้แล้วรีบตอกเลขให้ก็มี ถ้าปล่อยให้การเป็นที่ชอกช้ำติฉินยินร้ายไปเสียเช่นนี้ จะว่าผิดของผู้น้อยไม่ได้ ต้องเป็นผิดของเสนาบดี ผู้ได้รับพระบรมราชโองการไปจัดการให้สำเร็จ ไม่เป็นคุณความดีตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นให้ไปสอดส่องการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ถ้าเห็นระคายว่าผู้ใดประพฤติการทุจริตหรือหยาบคาย แม้แต่เป็นคำผรุสวาท ก็ให้คิดอ่านผลัดเปลี่ยนตัวเจ้าพนักงาน หรือลงโทษถอดถอนเสียตามโทษานุโทษ ถ้ามีคำติฉินยินร้ายอย่างนี้มาถึงหูอีก จะแก้ว่าไม่มีผู้ใดมาฟ้องร้องเป็นโจทย์นั้นไม่ได้ เพราะเหตุที่ผู้ให้ของกำนัลได้ประโยชน์สมปรารถนาแล้ว จะมาฟ้องทำไม ผู้ที่เสียเงินแต่เล็กน้อยหรือถูกผรุสวาทจะมาฟ้องอย่างไรได้ ด้วยป่วยการทรัพย์และป่วยการเวลา น่าที่ซึ่งจะระวังความทุกข์ร้อนเล็กน้อยเช่นนั้นก่อนเป็นอันมากนั้น แลเป็นน่าที่ของเสนาบดีที่จะรักษาราชการให้ดำเนินไปในทางที่ดี ตามที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ต่างพระเนตรพระกรรณโดยแท้ ถ้าการเรื่องนี้ยังเป็นที่เล่าลือติฉินยินร้ายอยู่สืบไป จะเอาโทษแก่เธอไม่ยอมให้หลีกเลี่ยง...”
หวังว่าต่อไปถ้ามีกล้องวงจรปิดเสียตอนเกิดเหตุร้ายอีก คงจะได้เห็นหน้าเห็นตาคนที่รับผิดชอบกันในกล้องข่าวบ้าง