xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปิดดีล “พศ.” เรียกรับเงินทอนวัด 75%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผู้กรณี “ทุจริตเงินทอนวัด” ที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมนั้นถือเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเมื่อบรรดา “บิ๊กๆ” ระดับ “อดีต ผอ.-รอง ผอ.” ของหน่วยงานภาครัฐอย่าง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)” ที่สมควรจะตระหนักรู้ถึง “บาปบุญคุณโทษ” กระทำผิดด้วยการเรียกรับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเสียเอง

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับเบาะแสการทุจริตและตรวจสอบพบความผิดปกติ ในเส้นทางการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจพบปมทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของ พศ. ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 โดยมีการเบิกจ่าย 33 วัด พบวัดที่เข้าข่ายทุจริต 12 วัด ในพื้นที่ภาคเหนือ 6 วัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 วัด, ภาคกลาง 2 วัด, และภาคใต้ 1 วัด มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท

เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกส่งไปยัง กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) ประจวบเหมาะกับการเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.พศ. คนใหม่ เมื่อช่วงต้นปี 2560 ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ของ “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ความจริงจึงปรากฏ และนำไปสู่ยุทธการปราบโกงบุกรังเครือข่าย อดีตข้าราชการระดับบิ๊กใน พศ.

โดยความคืบหน้าล่าสุด การตรวจสอบการทุจริตกรณี “เงินทอนวัด” พบว่ามีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกว่า 8 ราย โดยมี “อดีตผู้อำนวยการ” และ “รองผู้อำนวยการ” ของ พศ. ส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย

สำหรับจุดตรวจค้นสำคัญ 3 จุด ประกอบด้วย 1. บ้านเลขที่ 89/5 หมู่ 6 หมู่บ้านธนาภิรมย์ ถนนศรีนครินทร์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบ้านของ “นางประนอม คงพิกุล” รอง ผอ.พศ. ซึ่งติดราชการต่างประเทศ เบื้องต้นพบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีเงินฝาก และใบฝากเงินจำนวนมาก 2. บ้านเลขที่ 72/2 หมู่บ้านอาภากร 2 อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นบ้านของ “นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์” ข้าราชการระดับ 8พศ. ตรวจพบสลิปการรับโอนเงิน สมุดบัญชีเงินฝาก มีเงินเข้าบัญชีครั้งละ 200,000 - 700,000 บาท อย่างต่อเนื่อง และ3. บ้านเลขที่ 95 หมู่ 11 ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พบความเชื่อมโยงกับ “นางชมพูนุท จันฤาไชย” ภรรยาคนที่ 2 ของ “นายนพรัตน์ เบญวัฒนานันท์” อดีต ผอ.พศ. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุจริตเงินอุดหนุนวัดแห่งหนึ่ง มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เมื่อปี 2557

กล่าวสำหรับพฤติกรรมในการกระทำความผิดนั้น พบว่า มีการใช้อำนาจในการจัดสรรเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด เพื่อสนับสนุนให้วัดทำโครงการต่างๆ จากนั้น “เรียกรับเงินคืนจากวัด” ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของ พศ. รู้เห็นกับทางวัดที่ตรวจพบ ทั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเบียดบังเอาเงินของรัฐไปเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการบุกรังเครือข่ายทุจริตเงินทอนวัดที่มี “หัวหน้าแก๊ง” เป็นถึง “อดีต ผอ.พศ.” ความว่า กรณีที่เกิดขึ้นคล้ายกับธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบกันมาของคนใน ส่วนวิธีการจะโอนเงินจากส่วนกลางไปวัด จากนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไปขอคืนโดยการโอน ตามตกลงกับทางวัดก่อนว่าต้องการเท่าไหร่ ก็จะดำเนินการจากส่วนกลางโอนไปเป็นจำนวนที่มากกว่า จากนั้นจะมีคนตามไปรับเงินคืน หรือเรียกว่า “เงินทอน” ซึ่งทอนเงินส่วนนี้มี สัดส่วน 3 ใน 4 หรือ 75 % โดยเป็นงบอุดหนุนที่จ่ายให้กับวัดใน 3 กรณี คือ 1. เพื่อไปปฏิบัติบูรณะซ่อมแซม 2. เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และ 3. เพื่อการเผยแผ่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

"จากที่ดูงบประมาณที่ผ่านๆ มา และที่กำลังจะขอใหม่ใน 1 ปี งบอุดหนุนทั่วประเทศจะอยู่ที่หลัก 100 ล้าน ถึง 1,000 ล้าน ซึ่งอำนาจการจัดสรรงบเป็นของหัวหน้าส่วนราชการผู้ถืองบฯ แต่ พศ. ไม่ใช่กรม และไม่ใช่กระทรวง ดังนั้น ผอ.พศ. จึงทำหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการ โดยหลักการจะจัดสรรตามความจำเป็น พิจารณาจากวัดแจ้งความประสงค์มา ผ่านไปยังจังหวัดและรวบรวมมาที่ พศ. ซึ่งที่ได้ยินมาการทอนเงินจะอยู่ในอัตรา 3 ใน 4 คือ ทอน 75 % ของเงินที่ได้จ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 - 2559 ส่วนใครจะเกี่ยวข้องก็ให้พิจารณาว่าใครอยู่ในระหว่างนั้น แต่เรื่องเงินทอนคนใน สำนักพระพุทธเขารู้กันว่ามีการทำแบบนี้ ผมเพิ่งมาผมยังรู้เพราะเขาเล่าให้ฟัง" พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเสียหายข้างต้น ยังไม่รวมวัดที่ต้องสงสัยที่กำลังตรวจสอบอีกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดการว่าสร้างความเสียหายแก่ประเทศสูงกว่า 500 - 600 ล้านบาท

นายศิริวโรจน์ ปิยะรัตนเสรี หรือ เบิ้ม อายุ 48 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ซึ่งลาสิกขาบทมาได้ประมาณปีเศษ เล่าให้ฟังว่า สมัยที่บวชเป็นพระได้บูรณะวัดในด้านต่างๆ เรื่อยมา โดยการรับบริจาคจากญาติโยม จนกระทั่งได้เริ่มสร้างวิหาร ก็สร้างมาเรื่อยๆ และสุดท้ายก็เหลือประมาณ 70% ทางส่วนกลางก็ได้ติดต่อมาว่าต้องการเงินมาบูรณะให้เสร็จหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นตนเองก็อยากให้สร้างต่อให้เสร็จ จึงบอกไปว่า “อยากได้” ส่วนกลางก็ได้ส่งแบบฟอร์มในการเขียนโครงการมาให้ และส่งกลับไป

หลังจากนั้นหลายเดือนก็มีการติดต่อกลับมาว่า “จะมีการอนุมัติงบประมาณให้เท่านี้จะเอาไหม” เมื่อบอกว่าเอาก็ได้มีการทยอยโอนเงินมาให้รวม 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งแรกอยู่ในวงเงินราวหลักแสนต้นๆ ไม่มีเงินทอน ส่วนครั้งสุดท้ายเงินก็หลักแสนแต่มากกว่าเดิมหน่อย ก็มีการติดต่อมาทางโทรศัพท์ พร้อมหมายเลขบัญชีธนาคารให้โอนเงินคืนให้

“ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งยอมรับว่ากลัวหลายอย่าง และก็ไม่เคยเข้าไปที่ส่วนกลาง คุยเฉพาะโทรศัพท์ เกรงว่าหากไม่มีการโอนอาจจะถูกแกล้ง หากวัดดำเนินงานเสร็จก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา และต่อไปวัดอาจจะไม่ได้รับการยกฐานะ ซึ่งก็คิดไปต่างๆ นานา สุดท้ายก็ต้องโอนเงินตามที่เขาบอกคืนไปให้ ซึ่งก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะส่วนที่ได้รับมาก็นำมาสร้างวิหารทั้งหมด”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเชื่อมโยงปม “ทุจริตเงินทอนวัด” ของคนระดับบิ๊กใน พศ. ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 การวางแผนบุกจับกุมแบบสด “นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์” ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. สงขลา กรณีเรียกรับเงินคืนจากวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ วงเงิน 3.2 ล้านบาท

ข้อเท็จจริงเผยว่า นายเสถียร ได้ดีลเรื่องเงินอุดหนุนฯ กับวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ โดยวัดแห่งหนึ่งของบประมาณ 8 แสนบาท ขณะ พศ. โอนเงินไป 4 ล้านบาท จากนั้น นายเสถียร ติดต่อไปยังเจ้าอาวาสขอให้ถอนเงินสดจำนวน 3.2 ล้านบาท เพื่อให้นำมาคืนพร้อมนัดส่งมอบเงินที่ลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งนั้นนำสู่การจับกุม นายเสถียร เวลาต่อมา นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ. ออกโรงป้องว่าการกระทำของ นายเสถียร เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ อ้างว่า วัดแห่งนั้นได้รับจัดสรรเงิน 8 แสน แต่มีการโอนผิดไป 4 ล้านบาท จึงต้องคืนเงิน 3.2 ล้านบาท พร้อมทั้ง นายเสถียร ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. สงขลา มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงงบประมาณอย่างถูกต้อง เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่ฟ้องคดีต่อ นายเสถียร

แต่พฤติการดังกล่าวสร้างความเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เป็นต้นว่า หากโอนผิดเหตุใดจึงไม่โอนคืนไปยัง พศ. มีส่วนกลาง เหตุใดจึงให้ถอนเงินสดมาคืนแทน ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อปฏิบัติการจับกุมบิ๊ก พศ. ในครั้งนั้นโดยแย้งว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่มีการโอนผิด” และได้สืบสวนขยายผลต่อไป

กระทั่ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจหน้าที่เรียกสำนวนการไต่สวนจากตำรวจ โดยร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทำการไต่สวนเชิงลึกและได้ตั้งข้อกล่าวหากับ “นางประนอม คงพิกุล” ร่วมกับ “นายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์” ใช้อำนาจหน้าที่จัดสรรเงินอุดหนุนโดยมิชอบ ตรวจสอบพบว่าให้วัด 3 แห่ง แห่งละ 4 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท จากนั้นให้ทางวัดถอนเงินสดส่วนหนึ่งคืนนายเสถียร พร้อมอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้สำนักสงฆ์ที่ไม่ได้จดทะเบียน

จวบจนปลายปี 2559 มีคำสั่งตามมาตรา 44 สั่งพักงานนายเสถียร เนื่องจากถูกตรวจสอบพบ “มีพฤติการณ์เรียกรับเงิน” วัดชลธาราวาส จ.นราธิวาส เป็นจำนวนเงิน 3.2 ล้านบาท หลังถูกบุกจับกุมตัวเมื่อช่วงปี 2558

รายงานข่าวระบุว่า ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและได้สรุปผลเพิ่มเติมว่า นางประนอม และนายเสถียร มีความบกพร่องในการทำงาน นายเสถียรผิดพลาดกรณีโอนเงินให้วัด มีความผิดทางวินัยและโดนมาตรา 44 สั่งพักงาน จึงถือว่าถูกลงโทษทางวินัยแล้ว ส่วนนางประนอมผิดพลาดตามขั้นตอนของการจัดสรรเงินแต่ไม่มีเจตนากระทำผิด จึงไม่มีบทลงโทษทางวินัยให้ติดทัณฑ์บน และห้ามกระทำผิดอีก มิฉะนั้นจะถือว่ากระทำผิดโดยเจตนา

โดย ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนเชิงลึกและขยายผลไปทั่วประเทศ กระทั่งกรณี “ทุจริตเงินทอนวัด” กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง

ที่สำคัญคือ ผลพวงจากกรณีดังกล่าวได้ทำให้เกิดคำถามดังอึงมี่ให้สังคมตั้งคำถามถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในแวดวงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการควบคุมทรัพย์สมบัติของวัดซึ่งในระยะหลังเกิดปัญหาจำนวนมาก และมิได้มีการตรวจสอบอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งหน่วยงานที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ชัดเจนก็คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)

นายบวรเวท รุ่งขจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สปท.เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางการจัดการทรัพย์สินของวัดว่า มติที่ประชุม กมธ. เห็นชอบ รายงานเรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ

ทั้งนี้ ให้มหาเถรสมาคม (มส.) หรือ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กำหนดหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง รูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ

รวมทั้ง ให้ พศ. นำเสนอ มส. เรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505, กฎกระทรวงปี 2511, กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่างๆ ให้ทันสมัยบังคับใช้ได้จริง อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้ มส. นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบและไม่เคยมีบทลงโทษ

อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบพบ 92 วัด มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20 - 30 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติยังมีเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปว่าวัดต่างๆ จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบสอบทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งทางด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร ผอ.พศ. เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเรียกร้องให้เปิดเผยทรัพย์สินของวัดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาไม่มีบทบังคับว่าวัดต้องส่งบัญชีรายรับ รายจ่าย เนื่องจากมติ มส. แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ในประเด็นนี้ตนเห็นควรให้ออกเป็นกฎหมาย ส่วนจะมีบทลงโทษอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณา

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ มีการผลักดันเรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนา มีการเสนอร่าง “พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ” โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ วัดเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนองค์กรต่างๆ จะต้องทำบัญชีทรัพย์สินตามมาตราฐานบัญชี ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีและสามารถเปิดเผยได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าวัดและพระภิกษุสงฆ์ มีทรัพย์สินมากน้อยเพียงไร แม้กระทั่งมีการยักยอกเงินวัดเป็นทรัพย์สินของตนเองหรือไม่?

ดูเหมือนประเด็นฉาว “ทุจริตเงินทอนวัด” ของคนระดับบิ๊กในสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ จะเข้าสำนวนไทย “มือถือสากปากถือศีล” และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “การปฎิรูปวงการสงฆ์” ในยุคที่คนไทยฝากความหวังไว้กับ “รัฐบาลลุงตู่” จะเป็นเช่นไร?

การผลักดันแนวทางต่างๆ ดังกล่าว จะสร้างบรรทัดฐานความโปร่งใสเรื่องผลประโยชน์มหาศาลภายในวัดได้หรือไม่? แต่ก่อนอื่นคงต้องหาวิธีกำจัดเหลือบไรในแวดวงพระพุทธศาสนาให้สิ้นซากเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น