ลำปาง - เป็นเรื่องชัวร์ อดีตเจ้าอาวาส 1 ใน 5 วัดดังลำปางบอกอะไรจะเกิดก็เกิด แฉชัด “เงินทอนงบอุดหนุนวัด..มีจริง” ต่อตรงจากส่วนกลาง ถามเอามั้ย ก่อนให้ตั้งแท่นขอ พร้อมส่งเลขบัญชีให้โอนจากงบก้อนสุดท้ายกลับ เสร็จยึดโทรศัพท์-เอกสารทั้งหมดไม่ให้เหลือหลักฐาน
หลังจากผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) นำเสนอข้อมูลออกมาในการเปิดยุทธการปราบโกง ครั้งที่ 1 ว่า มีวัดในลำปาง 5 วัด ได้แก่ วัดวัฒนาราม ต.สบปราบ, วัดบ้านอ้อ ต.แม่กัวะ, วัดอุ้มลอง ต.สมัย อ.สบปราบ, วัดทุ่งต๋ำ ต.เสริมกลาง อ.เสริมงาม และวัดหาดปู่ด้าย ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง เข้าข่ายทุจริตในลักษณะของเงินทอนที่ทางวัดต้องโอนเงินอุดหนุนคืนกลับไปสูงถึง 75% ตามที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ขณะนี้
ผู้สื่อข่าวลำปางได้เดินทางไปตรวจสอบที่วัดบ้านอ้อ ม.2 ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ก็พบว่าพระวิหารของวัดได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2541 อย่างสวยงาม แต่ขณะนี้ทางวัดยังคงมีการบูรณะกำแพงวัดอยู่เนื่องจากกำแพงเดิมทรุดโทรม
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบนายศิริวโรจน์ ปิยะรัตนเสรี หรือเบิ้ม อายุ 48 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านอ้อ ซึ่งลาสิกขาบทมาได้ประมาณปีเศษ และได้สร้างบ้านอยู่ท้ายหมู่บ้านอย่างสมถะ เพื่อสอบถามเรื่องเงินสนับสนุนการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์วัดในอดีตว่าได้มีการทอนเงินคืนให้ทางส่วนกลางจริงหรือไม่
นายศิริวโรจน์ หรือเบิ้ม เล่าว่า ตนขอเล่าในส่วนที่จำได้ แต่ไม่ขอลงรายละเอียดเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้เอาหลักฐานต่างๆ ไปหมดแล้ว และยอมรับว่ากลัวเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าหากเกิดอะไรขึ้นก็คงปล่อยไปตามนั้น คนเราเกิดมาครั้งเดียวตายครั้งเดียว และคิดว่าหากตนเป็นอะไรไปก็ถือว่าได้ทำดีแล้วเพื่อพระพุทธศาสนา ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทราบข่าวอะไรเพราะที่บ้านไม่มีทีวี ตนอยู่อย่างสมถะ และต้องรับประทานยาคลายเครียดด้วย
ผู้สื่อข่าวขอให้นายศิริวโรจน์ หรือเบิ้ม เล่าถึงวิธีการที่ทางวัดขอรับเงินสนับสนุนว่าดำเนินการอย่างไร และได้ทอนเงินอย่างไร นายเบิ้มได้เล่าคร่าวๆ ว่า สมัยที่ตนบวช ซึ่งก็อยู่ที่วัดนี้ร่วม 10 พรรษา ก็ได้บูรณะวัดในด้านต่างๆ เรื่อยมา โดยการรับบริจาคจากญาติโยม จนกระทั่งได้เริ่มสร้างวิหาร ก็สร้างมาเรื่อยๆ
และสุดท้ายก็เหลือประมาณ 70% ทางส่วนกลางก็ได้ติดต่อมาว่าต้องการเงินมาบูรณะให้เสร็จหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นตนก็อยากให้สร้างต่อให้เสร็จ จึงบอกไปว่า “อยากได้” ส่วนกลางก็ได้ส่งแบบฟอร์มในการเขียนโครงการมาให้ และส่งกลับไป ซึ่งหลังจากนั้นหลายเดือนก็มีการติดต่อกลับมาว่า “จะมีการอนุมัติงบประมาณให้เท่านี้จะเอาไหม” ตนก็บอกเอา
จากนั้นก็ได้มีการทยอยโอนเงินมาให้รวม 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งแรกอยู่ในวงเงินราวหลักแสนต้นๆ ไม่มีเงินทอน ส่วนครั้งสุดท้ายเงินก็หลักแสนแต่มากกว่าเดิมหน่อย ก็มีการติดต่อมาทางโทรศัพท์ พร้อมหมายเลขบัญชีธนาคารให้โอนเงินคืนให้
“ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งยอมรับว่ากลัวหลายอย่าง และก็ไม่เคยเข้าไปที่ส่วนกลาง คุยเฉพาะโทรศัพท์ เกรงว่าหากไม่มีการโอนอาจจะถูกแกล้ง หากวัดดำเนินงานเสร็จก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา และต่อไปวัดอาจจะไม่ได้รับการยกฐานะ ซึ่งก็คิดไปต่างๆ นานา สุดท้ายก็ต้องโอนเงินตามที่เขาบอกคืนไปให้ ซึ่งก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะส่วนที่ได้รับมาก็นำมาสร้างวิหารทั้งหมด”
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วเงินที่ได้รับมา หรือการทอนเงินคืนคณะกรรมการวัดฯ ทราบเรื่องไหม นายเบิ้มกล่าวว่า เงินส่วนนี้จะมีเพียงกรรมการบางท่าน และไวยาวัจกรวัดที่สนองงานเจ้าอาวาสเท่านั้นที่รู้ แต่เมื่อไม่ได้กระทบกับเงินที่นำมาสร้างทุกคนก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะหากไม่ได้รับเงินส่วนนี้มาช่วยก็ต้องจัดผ้าป่า แห่กลองไปเรี่ยไร ซึ่งก็คงได้ทีละนิดละหน่อยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยเห็นหน้าคนที่ขอเงินทอนหรือไม่ นายเบิ้มกล่าวว่า เคยเห็นหน้า เพราะก่อนหน้านั้นผู้หญิงคนนี้เคยมาทำบุญที่วัดก่อน และเห็นวัดกำลังก่อสร้างต่างๆ จึงมาสอบถามว่า หากจะมีเงินมาช่วยบูรณะทางวัดต้องการหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าทางวัดคงไม่ขัดศรัทธาหากจะทำให้งานที่กำลังทำอยู่สำเร็จโดยเร็ว จึงตกปากรับคำว่าต้องการ
หลังจากนั้นเขาก็ดำเนินการจัดส่งแบบฟอร์มในการเขียนโครงการขอรับเงินสนับสนุนมาให้ทางวัด เมื่อทางวัดเขียนก็ส่งกลับคืนไป รอประมาณ 4-5เดือน ก่อนที่จะอนุมัติก็จะติดต่อมาหาทางโทรศัพท์ เพื่อบอกว่าจะได้รับอนุมัติเป็นเงินเท่าไหร่ และส่งบัญชีธนาคารมาให้ ซึ่งทางวัดก็ไปโอนให้เท่านั้น
“ก็ไม่คิดว่าจะมีเรื่องราวตามมา ขณะนี้หลักฐานต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือของผม เจ้าหน้าที่ก็เอาไปหมด และมีโทรศัพท์ใหม่มาให้ใช้แทน”
เมื่อถามว่า แล้ววัดอื่นที่ต้องจ่ายเงินทอนเป็นลักษณะเดียวกันไหม นายเบิ้มกล่าวว่า เป็นลักษณะเดียวกัน เพราะแต่ละคนก็ไม่รู้จักเจ้าหน้าที่ทางส่วนกลาง ไม่เคยไปที่สำนักงานส่วนกลางเลย ก็จะมีมาสอบถามก่อนจะมีการส่งแบบฟอร์มมาให้ทางวัดฯ เพื่อของบไปเท่านั้น เมื่อเงินออกก็โทร.มาให้โอนเงินคืนไป