xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ตระกูล ส.”จับมือ “ค่ายบางนา” เก้าอี้ “นายใหญ่ TPBS” ลงตัว!??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เผยโฉมกันครบหน้าทั้งหมดแล้วสำหรับผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส” หลังขยายเวลารับสมัครออกไปถึงเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากนี้ก็วัดฝีมือและความสามารถรวมทั้งคอนเนกชันที่เป็นแรงหนุนส่งอยู่เบื้องหลัง ใครจะเข้าวินมาบริหารทีวีสาธารณะแห่งนี้

ก่อนอื่นมาดูรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด 9 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนคร่ำหวอดอยู่ ในแวดวงสื่อ ทั้งจากค่าย เนชั่น-สปริงนิวส์-ทีเอ็นเอ็น และบางคนพกตำแหน่งอดีตรอง ผอ. ยุค “หมอกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” และ “สมชัย สุวรรณบรรณ” ที่ดูดีมีภาษีกว่าเข้าเสนอตัวร่วมคัดเลือก โดยทั้ง 9 คน ปรากฏรายชื่อและประวัติโดยย่นย่อ ดังนี้

1. นายอนุสรณ์ ศิริชาติ ผช.กก.ผู้อำนวยการใหญ่ และ ผอ.สำนักข่าวไทย อสมท ที่หมดสัญญาตั้งแต่ปี 2559
2. นายพัชระ สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสปริงนิวส์ ปี 2557 - 2559 ปัจจุบันเป็น กก.ผู้จัดการ บริษัทลูกสปริงนิวส์ บริหารสถานีวิทยุ 98.5 MHz
3. นายสุพจ จริงจิตร อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส สมัยที่ นายสมชัย สุวรรณบรรณ เป็นผู้อำนวยการ
4. นายวุฒิกร ทิวะศศิธร อดีตกรรมการ หจก.เชคเทค เคยสมัครเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
5. นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง NationTV22
6. นางสุวรรณา บุญกล่ำ รอง ผอ.ข่าวและรายการสถานีโทรทัศน์ TNN24
7. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธ์ อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส สมัยทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ
8. รศ.ดร. วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส สมัยทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ
9. นางสาวฐานุตรา สร้างสุขดี ไม่พบข้อมูลประวัติการทำงาน

ดูรายชื่อทั้งหมดจะเห็นว่าผู้ที่ต้องการเก้าอี้ตัวนี้ได้มาแล้วตั้งแต่การเปิดรับสมัครรอบแรกตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2560 และหมดเขตไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ที่มีรายชื่อ 8 คนแรก ส่วนการขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ก็มีมาเพิ่มเพียงชื่อเดียวสุดท้าย และถือว่า “โนเนม” ในแวดวงสื่อ ซ้ำยังค้นไม่พบประวัติการทำงาน ใน สาระบบการสืบค้นออนไลน์ แต่อย่างใด

เมื่อเพ่งพินิจจากรายชื่อทั้ง 9 คน คู่ชิงชัยที่มีเสียงเชียร์สูสีก็เห็นจะมีเพียง 2 คน เหมือนเคย คือ “ลูกหม้อเนชั่น” นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง NationTV22

กับอีกหนึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส สมัยทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งร่ำลือกันว่ามีสปอนเซอร์หลักให้การสนับสนุนอย่างเต็มเหนี่ยว คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. แหล่งเงินทุนของสถานีไทยพีบีเอส นั่นเอง

ตามกระบวนการคัดเลือกหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครให้ครบถ้วนตามข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการรับสมัคร และการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกต่อไป

การคัดเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส คราวนี้ ดูๆ ไป ไม่เร้าใจและคึกคักเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะอย่างน้อยๆ คู่ท้าชิงก็ไม่ตกคุณสมบัติสำคัญด้วยว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในแวดวงสื่อมาอย่างยาวนาน ต่างกับรอบที่แล้วที่มี “หมอฟัน” ทันตแพทย์ กฤษดา เข้าร่วมชิง และแหกโค้งเข้าวินชนิดค้านสายตาท่านผู้ชมทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่ก็ใช่ว่าการกำหนดหลักการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ครั้งนี้จะไม่มีคำถามถึงเรื่องการล็อกสเปกไว้ให้สำหรับใครบางคน อย่างที่ หทัยรัตน์ พหลทัพ ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส ตั้งข้อสังเกตในวงเสวนา “การสรรหา ผอ. ไทยพีบีเอส.. ซับซ้อน หรือซ่อนเงื่อน” จัดโดย มีเดีย อินไซต์ เอาท์ เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า

“.... ตอนนี้เท่าที่ฟังมีรายชื่อวินสองคน คนหนึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามภายในองค์กรเหมือนกันเพราะหากดูข้อบังคับที่กรรมการนโยบายตั้งขึ้นมามีข้อหนึ่งผิดแผก”

ผิดแผกตรงที่ข้อบังคับว่าด้วยหลักการสรรหา ผอ. ส.ท.ท. ปี 2560 มีข้อหนึ่งระบุว่า บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการต้องเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการศึกษา เทียบเท่าไม่ต่ำกว่าคณบดี เป็นเวลา 1 ปี

“ข้อบังคับนี้ปี 2558 ไม่มี จึงสงสัยว่า (การสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ครั้งนี้) จะมีความโปร่งใสหรือไม่ หรือมีการกำหนดใครไว้แล้ว”

แต่ไม่ว่าหวยล็อกจะออกที่ใคร ก็ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาและยากที่จะตอบโจทย์ความเป็นทีวีสาธารณะให้ถูกทางและถูกใจทุกฝ่าย

หากหวยล็อกไปออกที่ รศ.ดร. วิลาสินี ก็มีข้อห่วงกังวลกันอยู่ว่า อดีตรอง ผอ.ไทยพีบีเอส คนนี้ ไม่มีประสบการณ์ด้านรายการข่าวมากพอที่จะรับมือกับเสียงเรียกร้องของสาธารณะโดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทสูงต่อทีวีแห่งนี้ หรือความคาดหวังของคณะกรรมการนโยบายของสถานีที่เข้าใจความหมายของ “สื่อสาธารณะ” ไปคนละทิศละทาง ซึ่งปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด

โดยเฉพาะในยุคสมัยที่นายสมชัย สุวรรณบรรณ เป็น ผอ. ที่ต้องถูกเลิกจ้างก่อนครบวาระ ด้วยข้อหาไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของกรรมการนโยบาย ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลง และแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันและผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท กระทั่งนายสมชัย ยื่นฟ้องกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส เรียกค่าเสียหายและเรียกคืนศักดิ์ศรีของอดีตบก.ข่าวบีบีซีรุ่นเก๋า

หากหวยล็อกไปออกที่นายอดิศักดิ์ อดีตผู้บริหารทีวีเนชั่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “มืออาชีพ” ในวงการสื่อทีวี แต่ก็ใช่ว่าหนทางนี้จะราบรื่น เพราะว่าภายใต้ภาพความเป็นมืออาชีพของนายอดิศักดิ์ หาได้สร้างความประทับใจในผลงานซึ่งฉายชัดผ่านการล้มลุกคลุกคลานของเนชั่นทีวีที่ยังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยู่จนถึงวันนี้

ความพิลึกพิลั่นนับแต่ก่อเกิดจนถึงโครงสร้างและความคาดหวังของไทยพีบีเอส โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า คณะกรรมการนโยบาย กับ ผอ.คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายอดิศักดิ์ หรือ รศ.ดร.วิลาสีนี จะขับเคลื่อนสื่อสาธารณะแห่งนี้ไปทางไหน จะไปด้วยกัน หรือจะพายกันไปคนละทาง ขวางลำกันเองซ้ำรอยประวัติศาสตร์เหมือนยุคสมัยนายสมชัยหรือไม่

ปัญหานี้ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้เคยมีส่วนร่วมการสรรหากรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมาแล้ว 2 สมัย มองว่า ความซับซ้อนของการสรรหาผอ.คนใหม่ไทยพีบีเอส เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาพร้อมกับการก่อเกิดของตัวองค์กร ที่ให้กรรมการนโยบายเป็นกลุ่มคนที่อยู่บนสุด มีอำนาจควบคุมความเป็นอิสระขององค์กร รวมถึงทำหน้าที่สำคัญในการสรรหาผู้อำนวยการ

“.... กรรมการนโยบายหลายคนที่มีอิทธิพลในไทยพีบีเอส ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อสาธารณะชัดเจน มันก็เหมือนลูกระนาดไล่มาจากผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร จนถึงฝ่ายปฏิบัติการ” มุมมองจากสายตานายจักร์กฤษ ที่เฝ้ามองดูสถานีทีวีสาธารณะแห่งนี้มาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้

สรุปง่ายๆ ก็คือ เมื่อกรรมการนโยบาย ไม่ชัดเจนในทิศทาง ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เข้าใจความเป็น “สื่อสาธารณะ” แล้ว ผอ.ที่สรรหามาใหม่ ก็จะนำพาไทยพีบีเอสไปแบบไม่มีทิศทางชัดเจน ไล่เป็นลูกระนาดอย่างว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2560 นี้ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของไทยพีบีเอส เพราะถึงรอบการทบทวน พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสื่อสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีการทบทวนทุก 10 ปี ของการดำเนินงาน ทบทวนที่มารายได้ ฯลฯ
เพราะนี่เป็นโอกาสและเปิดช่องให้รัฐบาลทหาร ที่ต้องการ “คุมสื่อ” ทั้งสื่อรัฐ สื่อเอกชน และสื่อสาธารณะ เข้ามาแทรกแซง ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาไล่เช็กบิล “องค์กรอิสระ” ทั้งหลาย เช่น กสทช. ที่กลายสภาพเป็นองค์กรของรัฐ หรือ สสส. ที่ถูกตรวจสอบผลงานและการใช้งบมาแล้ว

ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ จะเป็นใคร ไทยพีบีเอสโฉมใหม่ จะเดินไปทางไหน เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องเฝ้าติดตามสถานีสาธารณะของประชาชนที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวแห่งนี้

แต่ก่อนที่จะมีบทสรุปอย่างเป็นทางการ ดูเหมือนว่า การเจรจาความเมืองจะลงเอยกันด้วยดี เพราะ 2 ตัวเต็งคุยกันรู้เรื่องผ่านความเห็นดีเห็นงามของสปอนเซอร์หลักที่ทรงอิทธิพล และถ้าไม่ผิดพลาดอะไร นายใหญ่ของ “ทีวีตระกูล ส.” คนใหม่จะชื่อ “อดิศักดิ์” โดยมี “รศ.ดร.วิลาสินี” กลับเข้ามาในเก้าอี้เบอร์ 2 อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น