"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
นานกว่า 3 เดือนแล้วที่ การบินไทย ไม่มี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ “ ดีดี” และเป็นไปได้สูงว่า จะเป็นองค์กรที่ “ขาดหัว” เป็นเครื่องบินที่ขับโดยพนักงานบริการ ภาคพื้นดิน เพราะยังหากัปตันไม่ได้ ไปอีกนาน
การบินไทย เปิดรับสมัคร ดีดี คนใหม่ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อให้มารับตำแหน่งแทน นายจรัมพร โชติกเสถียร ที่จะครบวาระการทำงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 มีผู้สนใจสมัคร 8 คน
เวลาผ่านไป 4 เดือน การสรรหาหาดีดี การบินไทย คนใหม่ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จน นายจรัมพร พ้นตำแหน่งไปแล้ว ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ บอร์ดการบินไทย ต้องตั้งนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจบริการการบิน ให้มารักษาการตำแหน่ง ดีดี ไปก่อน มีวาระ 3 เดือน
วันที่ 15 มี.ค.2560 คณะกรรมการสรรหาดีดีการบินไทย ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 4 คน คือ นาย ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีต กรรมการผู้จัดการ บริษัททีโอที นาย วิสิฐ ตันติสุนทร อดีต เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. นาย ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีต ผู้ว่าการ รถไฟฟ้ามหานคร และนาย ดนุช บุนนาค ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย
ทั้ง 4 คน ที่ผ่านรอบคัดเลือก เข้าสอบสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ กับคณะกรรมการสรรหา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม แต่แล้ว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง คณะกรรมการสรรหาก็ประกาศว่า ทั้ง 4 คน ไม่มีใครมีคุณสมบัติเข้าตากรรมการเลยสักคนเดียว จึงล้มการสรรหา ว่ากันใหม่
รวมระยะเวลาในการหาตัวดีดีคนใหม่ 8 เดือนเต็ม จบลงด้วยการล้มกระดาน และนางอุษณีย์ รักษาการ ต่อไปอีกหนึ่งวาระ จนกว่า จะได้ตัวดีดีคนใหม่ ซึ่งจะเป็นเมื่อไร ไม่มีใครรู้
การบินไทย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อยุ่ในธุรกิจสายการบิน ซึ่งมีการแข่งขันสูง และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในตัวองค์กรเองก็มีปัญหา การขาดทุน ที่แม้จะกลับมาทำกำไรในช่วงปลายยุคของนายจรัมพร แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นๆ ด้วยการลดค่าใช้จ่าย มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน มีปัญหาว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่ย่างไร มีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างฯลฯ ถือว่า ยังไม่พ้นวิกฤติ
ตามหลักการบริหารที่ดีแล้ว เรื่องเร่งด่วนคือ ต้องหาผู้บริหารตัวจริง ที่มีฝีมือ ความสามารถ มาเป็นกัปตัน ขับเคลื่อนองค์กรให้พ้นวิกฤติโดยเร็ว แต่การบินไทย ฉีกตำราบริหารทุกตำราทิ้ง ให้พนักงานต้อนรับมาขับเครื่องบิน บินวนไปก่อน น้ำมันยังเหลืออยู่ ไม่เป็นไร
การบินไทย หาคนมารับตำแหน่ งดีดี ไม่ได้ เพราะไม่มีคนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ หรือ คนที่อยากได้ เขาไม่มา เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วว่า จะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ตั้งแต่การบินไทยเริ่มใช้กระบวนการสรรหาดีดี ตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 จนถึงขณะนี้ผ่านมา 17 ปีแล้ว ยังไม่มีดีดีจากการสรรหาคนใด อยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระ ไม่ว่าจะเป็นดีดีที่มาจากลูกหม้อการบินไทยโดยตรง หรือดีดีที่มาจากคนนอกองค์กร ยกเว้น นายจรัมพร ดีดีคนล่าสุด ที่ครบวาระเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ดีดี คนแรก ที่มาจกาการสรรหาคือ นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ ลูกหม้อการบินไทย ยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล แต่อยู่ได้ไม่นาน เพราะมีปัญหาขัดแย้งกับนักบินกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้วิธี หยุดบิน กดดันให้นายพิสิฐต้องลาออก
คนต่อมาคือ นายกนก อภิรดี เป็นดีดี ช่วงเดือนพฤษภาคม 2545 ถึงเดือนสิงหาคม 2548 ไม่ครบ 4 ปี ตามสัญญาจ้าง ต้องลาออกไปเงียบๆ เพราะถูกรัฐบาลทักษิณ ยึดอำนาจ เหลือแต่ตำแหน่ง โดยตั้งนายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ซึ่งเป็นรองประธาน การบินไทยด้วย เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยให้มีอำนาจเทียบเท่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทุกประการ
นายกนก ออกจากการบินไทยไปสิบปีแล้ว กรณีสินบนข้ามชาติ โรลส์รอยส์ ตามมาหลอกหลอน ถูก คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแหง่ชาติ ตั้ง กรรมการไต่สวน อยู่ในขณะนี้
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่มาจากการสรรหาคนที่ 3 คือ เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้บริหารระดับสูง การบินไทย เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2549 ถึงวันที่ 27 มิ.ย.2551 ช่วงที่มีการยึดอำนาจ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ไม่ได้อยู่ครบวาระสัญญาจ้าง 4 ปี เพราะมีผลงานไม่เข้าเป้า คือ การบินไทยขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้าน
คนต่อมา ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้รับการทาบทามให้มาแก้ไขปัญหาการบินไทย ยอมลาออกจาก บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มาสมัคร ผ่านการสรรหาเป็นดีดี ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.2552 ใช้เวลาไม่นาน ก็พลิกการบินไทย จากขาดทุนหมื่นล้าน ให้มีกำไรได้ แก้ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้อภิสิทธิ์ ของผู้บริหาร และพนักงาน กำหนดยุทธศาสตร์ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม
นายปิยสวัสดิ์ ผ่านการประเมินผลงานจากบอร์ดการบินไทย ด้วยคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ถูกบอร์ด ที่มีนายอำพล กิตติอำพน เป็นประธาน ในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ปลดกลางอากาศ ด้วยข้อหา สื่อสารกับบอร์ดไม่รู้เรื่อง เมื่อวันที่ 21 พ.ค.55
นายสรจักร เกษมสุวรรณ เป็นดีดี คนต่อมา รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 แต่อยู่ได้ปีครึ่ง ก็ไม่ไหว เพราะผลประกอบการที่มีกำไร กลับไปขาดทุนอีกแล้ว จนต้องลาออกไปเอง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ
นายจรัมพร อดีต ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งดีดี ในยุค คสช. ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สามารถทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรได้ แต่ก็ถูกโจมตี โดยอดีตผู้บริการการบินไทย ในยุคที่เป็นสายการบินผูกขาด ไม่ต้องแข่งกับใคร มาเป็นระยะๆ
ผลการดำเนินงานการบินไทย ปี 2560 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของนายจรัมพร มีกำไรสุทธิ 4 พันกว่าล้านบาท ในขณะที่การบินไทย เมื่อสามปีก่อน ขาดทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ตามหลักการบริหารทั่วไป บอร์ดการบินไทย ควรจะให้นายจรัมพร เป็นดีดี ต่อไปอีกวาระหนึ่ง เพื่อสานต่อ การปฏิรูปองค์กร ตามแผน แต่ไม่รู้ว่า บอร์ดไม่เอา หรือ นายจรัมพรไม่เอา
การบินไทย แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าตลาดหลักทรัพย์ มา 25 ปีแล้ว แต่วัฒนธรรม การบริหารองค์กร นยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ในรุปแบบต่างๆ จากขาประจำ และขาจร ยามใดที่ปัญหาหนักหน่ว ง ก็ต้องเรียกหามืออาชีพจากภายนอกมากอบกู้ เมื่อดีขึ้น ก็หาเรื่องถีบหัวส่ง เอาคนที่อยุ่ในโอวาท มาเป็นดีดี
คนดี คนเก่ง ใครเขาจะยอมเสี่ยง มาเป็นกัปตันตัวจริง