เปิด 16 มติ ครม.ในอดีตถึงปัจจุบัน รัฐสั่งแก้ปัญหา “หนี้ค่าไฟ-น้ำประปา-ค่าโทรศัพท์-ค่าเน็ต” ที่ส่วนราชการค้างรัฐวิสากิจ ไม่ต่างกัน! เผยตัวเลขหนี้ 3 ยุค พบปีงบฯ 60 หน่วยงานรัฐ ติดหนี้ 4,096 ล้านบาท ปีงบฯ 46 ติดหนี้ 4,372.6 ล้านบาท และปีงบฯ 43 ติดหนี้ 4,213 ล้านบาท ส่วนมาตรการฉบับใหม่ “บิ๊กตู่” กำชับให้ชำระแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนั้นๆ อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (9 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำหนังสือเวียนมติ ครม. ให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ รับทราบต่อ “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้าชำระของส่วนราชการ” ภายหลังสำนักงบประมาณ ได้เสนอให้ ส่วนราชการการของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอความเห็น
“ครม.เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560 ได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ยกเว้นกรณีที่จะให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถชำระหนี้สาธารณูปโภคได้ทันภายในปีงบประมาณที่เกิดค่าใช้จ่าย สามารถกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นค่าสาธารณูปโภคได้ทันภายในปีบประมาณที่เกิดค่าใช้จ่าย สามารถกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีเป็นค่าสาธารณูปโภคไว้อีก 3 เดือน หลังจากสินปีงบประมาณ (ตามความในหนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0728/13043 ลงวันที่ 26 พ.ค. 60) ให้ดำเนินการตามประเด็นของกระทรวงการคลัง ที่ให้หน่วยงานสามารถเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ในลักษณะค่าใช้จ่ายค้างเบิกข้ามปีโดยถือปฏิบัติได้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 040903/ว 14 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2548 (เรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายค้างเบิกข้ามปีในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์)
ทั้งนี้ยังให้ยกเลิกมติ ครม. 22 ก.ค. 2546 (เรื่องการปรับปรุงแนวทางมาตรการเกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระให้แก่รัฐวิสาหกิจ) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยให้สำนักงบประมาณ รายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแนวทางและมาตรการฯดังกล่าวข้างต้านต่อ ครม.ภายในเดือนกันยายน 2560 รวมทั้งให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการและแหล่งเงินที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้สาธารณูปโภคค้าชำรำเดิมที่ยังเหลืออยู่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นต่อไป
มีรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์
โดยปัจจุบันมีหนี้ค่าสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ที่หน่วยงานต่างๆ ค้างอยู่รวม 4,096 ล้านบาท เป็นหนี้ค้างตั้งแต่ก่อนปีงบประมาณ 60 จำนวน 595 ล้านบาท และหนี้ในปีงบประมาณปี 60 รวม 3,501 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ชำระหนี้ 1,250 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง 410 ล้านบาท การประปานครหลวง 52 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,229 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค 154 ล้านบาท
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ทุกส่วนราชการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ติดหนี้ค่าสาธารณูปโภค ต้องจ่ายหนี้ทั้งที่ค้างอยู่ และหนี้ที่ก่อขึ้นใหม่ให้หมดโดยเร็ว พร้อมกำชับต่อไปนี้ทุกส่วนราชการต้องไม่มีหนี้ค้างจ่ายอีกต่อไป และห้ามนำเงินที่ต้อองจ่ายหนี้ไปใช้อย่างอื่น” รายงานข่าวระบุ
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ แยกออกเป็นกรณีของหนี้ที่ค้างจ่ายก่อนปีงบประมาณ 60 ขอให้ทุกส่วนราชการปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบปี 60 มาจ่ายหนี้ไม่ต่ำกว่า 25% ของค่าสาธารณูปโภคในปีนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และหนี้ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 60ให้จ่ายให้เสร็จในปีงบประมาณนั้นๆ
1. หนี้ค่าสาธารณูปโภคของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ที่ค้างชำระก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1.) ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มาชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระได้ (2) ให้นำเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้หรือเงินที่ได้รับไว้เพื่อสวัสดิการไปชำระหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของค่าสาธารณูปโภคในปีนั้น ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ครม.มีมติเห็นชอบ เว้นแต่เงินนอกงบประมาณไม่เพียงพอ
2. ค่าสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนั้นๆ อย่างเคร่งครัด
3. เพื่อให้สามารถดำเนินการอย่างได้ผล ขอให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นผู้ใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนรัฐวิสาหกิจผู้ขายบริการ ดำเนินการดังนี้ (1) ให้รัฐวิสาหกิจผู้ขายบริการส่งใบแจ้งหนี้ของแต่ละเดือนไปให้อย่างสม่ำเสมอ อย่างช้าภายในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป และ (2) ให้รีบชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ (3) สำหรับค่าสาธารณูปโภคในระยะสองเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ (ส.ค.-ก.ย.) ไม่สามารถชำระได้ทัน เนื่องจากยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปีใหม่ได้ โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ (Cast Basis)
4. เพื่อให้การใช้สาธารณูปโภคเป็นไปอย่างประหยัด เหมาะสมกับความจำเป็นอย่างแท้จริง ควรกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนรัฐวิสาหกิจผู้ขายบริการถือปฏิบัติ ดังนี้
(1) การตั้งงบประมาณค่าสาธารณูปโภค ในแต่ละปี ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ร่วมกับรัฐวิสาหกิจผู้ขายบริการจัดทำประมาณการค่าสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ในแต่ละปี โดยพิจารณาจากความจำเป็นอย่างประหยัดและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น 2. จัดทำแผนการใช้สาธารณูปโภคไว้เพื่อควบคุมและการบริหารการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับเงินงบประมาณที่จะพิจารณาในแต่ละปี
(2) การควบคุมการใช้สาธารณูปโภค ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อติดตามและรายงานสถานภาพการใช้สาธารณูปโภคในหน่วยงาน และให้รีบดำเนินการแยกมิเตอร์หรือเครื่องวัดการใช้สาธารณูปโภคในส่วนที่มิใช้การใช้ในราชการ เช่น ที่พักอาศัย สโมสร ร้านค้าสวัสดิการ อาคารสวัสดิการ ฯลฯ ให้ชัดเจนและทั่วถึง และห้ามมิให้นำเงินงบประมาณจ่ายชำระค่าสาธารณูปโภคที่มิได้ใช้ในราชการ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของแต่ละส่วนราชการฯ รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบทุกไตรมาส ภายใน 55 วัน
มีรายงานว่า สำหรับมติ ครม.ที่มีการยกเลิก เช่น 22 ก.ค. 2546 เรื่องการปรับปรุงแนวทางมาตรการเกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระให้แก่รัฐวิสาหกิจ ประกาศในสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพรรคไทยรักไทย สำนักงบประมาณ ได้แจ้งหนี้ค่าสาธารณูปโภคฯ (ระบุ 31 มี.ค. 2546 - 22 พ.ค. 2546) มีจำนวน 4,372.600 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดก่อนปีงบประมาณ 2546 จำนวน 768.980 ล้านบาท และหนี้ที่เกิดในปีงบประมาณ 2546 จำนวน 3,603.680 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบประมาณปี 2543 สำนักงบประมาณ ได้แจ้งหนี้ค่าสาธารณูปโภคฯ (ระบุ 31 มี.ค. 2543 - 22 พ.ค. 2543) มีจำนวน 4,213 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดก่อนปีงบประมาณ 2543 จำนวน 597 ล้านบาท และหนี้ที่เกิดในปีงบประมาณ 2543 จำนวน 3,616 ล้านบาท
มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลในอดีตตั้งแต่ปี 2517 มีการปรับปรุงและแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสิ้น 16 มติ