xs
xsm
sm
md
lg

สลค.เวียนหนังสือ ปรับแนวทาง “ของบกลางปี 60 ใหม่”- ยกเลิกมติ ครม.4 ฉบับ ว่าด้วยการของบกลาง/ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สลค.เวียนหนังสือ ยกเลิกมติ ครม.4 ฉบับ ว่าด้วยการของบกลาง พร้อมกำหนดระเบียบการใช้จ่ายงบกลาง/ฉุกเฉิน ปี 60 แทนเป็นการเฉพาะ แยกออกจากระเบียบการบริหารงบฯ 58 พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการของบกลาง/ฉุกเฉินของ “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ระบุหากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลาง ให้เสนอ ครม.อนุมัติหลักการ ก่อนส่งให้ “สำนักงบประมาณ” พิจารณาจัดสรร

วันนี้ (5 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 267 แจ้งหน่วยราชการ ในประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ที่นายกรัฐมนตรี และครม.เห็นชอบ

“ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 4 ฉบับ ประกอบด้วย ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 16 ก.ย. 2557 ว่าด้วยแนวทางทางปฏิบัติกรณีการขออนุมัติการใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 12 พ.ค. 2558 เรื่องแนวทางการเสนอเรื่องงบประมาณต่อ ครม. และ ยกเลิกมติ ครม. 23 มิ.ย. 2558 เรื่องขอความเห็นชอบหลักการกรณีที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร เสนอเรื่องขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการ และยกเลิกมติ ครม.วันที่ 7 ก.ค. 2558 เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับของฝ่ายบริหาร”

ก่อนหน้านั้น ในเดือนพฤษภาคม 2560 สำนักงบประมาณยังได้เวียนหนังสือถึงหน่วยงานราชการเพื่อถือปฏิบัติ กรณี นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ กำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ขึ้นเป็นการเฉพาะแยกออกจากระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยราชการฯ เกิดความชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

มีรายงานว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ระบุในข้อ 9 ของระเบียบนี้ ว่า “สำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับของฝ่ายบริหาร ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย หรือกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการก่อน และจึงส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้ต่อไป”

ยกเลิกมติ ครม.7 ก.ค. 58 “องค์กรอิสระฯ เสนอของบวงเงินเกิน/ไม่เกิน 10 ล้านบาท”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 ครม.ได้มีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชา หรือกำกับของฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการ สามารถขอใช้งบฯ กลางได้ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องหลังจาก ครม.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2558 เห็นชอบในหลักการเรื่องดังกล่าวไปแล้วตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ และที่ประชุมครม.วันนั้นได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณกลับไปกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน

โดยแนวทางที่สำนักงบประมาณเสนอให้ ครม.รับทราบนั้นมี 2 กรณี คือ กรณีที่องค์กรอิสระฯเสนอขอวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยหน่วยงานเป็นผู้เสนอเรื่องมายังสำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดเพื่อพิจารณาว่าเห็นควรอนุมัติหรือไม่ และจากนั้นสำนักงบประมาณจะส่งเรื่องต่อให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และนำเข้าให้ ครม.รับทราบ และสุดท้ายสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณหากได้รับการอนุมัติหรือแจ้งให้หน่วยงานทราบว่าทำไมถึงไม่ได้รับการอนุมัติ

ส่วนกรณีที่องค์กรอิสระขอวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ก็มีขั้นตอนคล้ายกับกรณีแรก ต่างเพียงในส่วนขั้นตอนหลังจากหน่วยงานส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณ และหากสำนักงบประมาณเห็นควรอนุมัติจะส่งเรื่องต่อให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ และส่งเรื่องให้ ครม.มีมติเห็นชอบอีกครั้ง และหาก ครม.มีมติเห็นชอบสำนักงบประมาณจึงจะจัดสรรงบประมาณให้ต่อไป

ยกเลิกมติ ครม.12 พ.ค. 58 องค์กรอิสระของบฉุกเฉินผ่านรองนายกรัฐมนตรี

ส่วนมติ ครม. 12 พ.ค. 2558 ที่ยกเลิกเช่นเดียวกันนั้น ได้กำหนด แผนผังขั้นตอนการขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และขั้นตอนการขออนุมัติงบประมาณหรือเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ กรณีการขออนุมัติงบกลางฯ แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่

1. วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้เสนอเรื่องสำนักงบประมาณพิจารณาเห็นชอบ/สำนักงบประมาณพิจารณาให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจปรับแผน ต่อมาเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบ หลังจากนั้นสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณ/แจ้งส่วนราชการทราบ

2. วงเงินเกิน 10-100 ล้านบาท ให้เสนอเรื่องสำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสม และเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ต่อมาหากนายกฯ ให้ความเห็นชอบ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยให้สำนักงบประมาณแจ้งส่วนราชการ ให้เสนอรองนายกฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ หลังจากนั้นให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ให้สำนักงบประมาณแจ้งส่วนราชการต่อไป

3. วงเงินเกิน 100 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมและเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ หากนายกฯ เห็นชอบ ให้สำนักงบประมาณแจ้งส่วนราชการให้เสนอรองนายกฯเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ หลังจากนั้นให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ให้สำนักงบประมาณแจ้งส่วนราชการต่อไป

“ระเบียบตามมติ ครม. 12 พ.ค. 58 ไม่รวมองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร และไม่รวมการขออนุมัติงบประมาณกลางรายการเงินสำรอง่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในส่วนที่เป็นอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี ในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค”

กรณีขออนุมัติงบประมาณหรือเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ให้ส่วนราชการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (แล้วแต่กรณี) ต่อมาส่งให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จัดทำความเห็นและแจ้งส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจเจ้าของเรื่อง หลังจากนั้นให้ส่วนราชการเสนอรองนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น พ.ศ. 2560



กำลังโหลดความคิดเห็น