ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด “การสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่” หรือ “ดีดีคนใหม่ของการบินไทย” ก็ล้มไปตาม “ใบสั่ง” ของไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลัง ด้วยข้ออ้างของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมี นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ที่ว่าผู้สมัครทั้ง 4 ราย มีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะมาช่วยฟื้นฟูบินไทยที่นอนป่วยด้วยอาการขั้นโคม่า แถมยังส่อลากยาวแบบไม่มีกำหนดเวลา
ก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มีการยื้อเพื่อรอคนของตัวเองเข้ามาเสียบ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุใดที่ต้องยื้อนานขนาดนี้
ต้องบอกว่ากระบวนการสรรหาดีดีบินไทยรอบนี้มีกลิ่นทะแม่งๆ มาตั้งแต่ต้น เพราะหลังจากเปิดรับสมัครเมื่อกลางเดือนกันยายน 2559 และครบกำหนดยื่นสมัครเมื่อ 31 ตุลาคม 2559 แต่ทว่าผ่านไปเพียงสองวัน คณะกรรมการสรรหาก็ขยายเวลารับสมัครสรรหาออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีเหตุผลชัดเจนทั้งที่มีผู้มีสมัครเข้ารับการสรรหาที่มีคุณสมบัติเข้ามาถึง 6 คน คล้ายๆ กับตัดสินล่วงหน้าว่าไม่เอาผู้สมัครเหล่านี้ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาหรือเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมมีข่าวปล่อยสาดโคลนเตะตัดขาผู้สมัครบางคน เป็นเกมปาหี่ฉากแรก
จากนั้น หลังหมดเวลาต่ออายุ ปรากฏผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งหมด 9 คน แต่เหลือจำนวนที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพียง 4 คน เข้าสอบสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ชิงเก้าอี้ดีดีบินไทย ประกอบด้วย 1.นายดนุช บุนนาค ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย 2.นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 3.นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 4.นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 คณะกรรมการสรรหาฯ แจ้งผลการสรรหาว่าผู้สมัครทั้ง 4 รายไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด บอร์ดการบินไทย ที่มี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จึงมีมติให้ดำเนินการสรรหาดีดีใหม่อีกครั้ง ทั้งที่สภาพการบินไทยนั้นอาการหนักถึงขั้นโคม่าต้องการมืออาชีพเข้ามาผ่าตัดโดยด่วนเพื่อฟื้นฟูองค์กรที่จวนล้มมิล้มแหล่อยู่ในเวลานี้
แต่นายสมชัย ในฐานะประธานกรรมการสรรหาดีดีบินไทยคราวนี้ กลับแสดงท่าทีคล้ายไม่ยี่หระ หลังจากอ้างว่าผู้สมัครทั้ง 4 ราย มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ยังไม่ผ่าน จึงเปิดสรรหาใหม่ ส่วนจะได้ดีดีบินไทยคนใหม่เมื่อไหร่ คำตอบก็คือ “...ไม่ได้กำหนดเวลาว่าการสรรหาดีดีการบินไทยรอบใหม่จะต้องเสร็จเมื่อไหร่ แต่ได้สั่งให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด .... เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาดีดีคนใหม่จะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ในทางปฏิบัติก็ควรทำให้เสร็จก่อน....”
นั่นหมายความว่า ปีนี้ทั้งปีหรืออาจส่อลากยาวไปถึงปีหน้า 2561 ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้ดีดีบินไทยตัวจริงเข้ามาหรือไม่
ในความเห็นของ นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย มองว่า ผู้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ทั้ง 4 คน ล้วนเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และมีนักการตลาดที่มีความรู้ความสามารถที่น่าจะช่วยสร้างรายได้กอบกู้การบินไทย ซึ่งการบินไทยต้องการผู้บริหารตัวจริงที่เป็นมืออาชีพที่จะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร การสรรหาที่ล่าช้า และให้มีรักษาการตำแหน่งดีดีนานเกินไปส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการสรรหา ระบุถึงสเปกที่ต้องการสำหรับผู้บริหารเบอร์หนึ่งที่จะเข้าผ่าตัดบินไทย ก็คือ จะต้องดูภาพรวมการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน การบริหารปัญหาเร่งด่วน เช่น เรื่องการบริหารบุคคลากรภายในองค์กร รวมทั้งต้องมาดูเรื่องการตลาดที่เห็นว่า ควรมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ การเร่งตัดค่าใช้จ่ายระยะสั้นที่ไม่จำเป็น และต้องเป็นผู้นำที่มีความคิดไกล รวมทั้งมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจการบินอยู่บ้าง
แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เกมยื้อตั้งดีดีบินไทย ไม่ใช่เหตุผลสวยหรูอย่างที่ว่า แต่เป็นการยื้อเพื่อรอพวกพ้องกันเองที่เวลานี้ยัง “ขาดคุณสมบัติ” อยู่ เพราะหากดูท้ายประกาศหลักเกณฑ์การสรรหา คล้ายส่อเจตนาตรงที่เขียนเอาไว้ในหัวข้อยกเลิกการสรรหาว่า ในช่วงก่อนที่จะมีการตัดสินเลือกตัวผู้สมัคร บริษัทมีสิทธิที่จะยกเลิกการสรรหาเพื่อทำการสรรหาใหม่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด
ข่าววงในที่ว่ามีการเล่นเกมหลอกให้ผู้อื่นมาสมัครแล้วล้มเลิก เพราะงานนี้มีล็อกสเปกตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเอา “คนของตัวเอง” เข้ามา เพียงแต่ติดตรงที่ไม่ผ่านด้านคุณสมบัติเนื่องจากลาออกจาก “ธนาคาร” ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบินไทย ยังไม่ครบ 3 ปีตามเงื่อนไข ก็เลยยังมาสมัครรับการสรรหาด้วยไม่ได้ อาจยื้อออกไปให้มีรักษาการจนถึงกลางปีหน้า 2561
การล้มสรรหาดีดีบินไทยคนใหม่ที่จะมาแทนนายจรัมพร ที่หมดวาระลงไปแล้วนั้น จึงเหมือนแค่ภูเขาน้ำแข็งซึ่งหากสืบสาวลงไป จะมีคำถามตามมามากมายว่า บอร์ดการบินไทยกับ คณะกรรมการสรรหา มีการเล่นเกมฮั้วหรือไม่ มีขบวนการชักใยอยู่เบื้องหลัง ใช่หรือไม่ใช่
ความพิลึกในเกมยื้อสรรหาที่มีมาก่อนนายจรัมพร เกษียณ จนกระทั่งนายจรัมพร เกษียณไปแล้วกระทั่งต้องตั้งนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว มารักษาการดีดีบินไทย พร้อมกับมีการแต่งตั้งนายจรัมพร กลับเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการวางยุทธศาสตร์ให้กับบริษัท ซึ่งมีคำถามว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่
อย่าลืมว่า ระหว่างนี้ การบินไทย กำลังจะเสนอแผนการจัดเครื่องบินล็อตใหญ่ร่วม 3 แสนล้านบาท แต่ดันมาเจอข่าวสินบนโรลส-รอยส์ และการเปิดโปงต่อต้านการทุจริตต่อต้าน จึงชะลอแผนออกไปเสียก่อน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายพนักงานการบินไทย จิตอาสาต้านโกง พร้อมตัวแทนประชาชนผู้ถือหุ้นการบินไทยเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันหมักหมมภายในการบินไทย เช่นเดียวกับการล้างบางบอร์ดและผู้บริหารการรถไฟไปก่อนหน้า
รวมทั้งขอให้นายกฯ ใช้อำนาจเข้ามาจัดการกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยฯทั้งระบบ โดยยกตัวอย่างความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อหลายรายการ เช่น การจัดหาเครื่องบิน Airbus A340-500 การปรับเปลี่ยนฝูงบินตามแผนระยะยาวปี 2554-2565 จำนวน 75 ลำ การดัดแปลงเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า การจัดตั้งสายการบินร่วมทุนนกสกู๊ต ในปี 2557 การว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์
ขณะที่การบินไทย ก็ร่อนจดหมายชี้แจงถึงความโปร่งใสในทุกกรณี และอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อย่างเข้มงวดมาตลอด
การบินไทย จากที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่และมีกำไรที่สุด มีชื่อเสียงระดับสากล แต่หากย้อนดูผลประกอบการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยผลการดำเนินงานปี 2558 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,304 ล้านบาท ลดลงจาก 21,715 ล้านบาท ในปี 2557 หรือลดไปกว่า 94.3% มาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ลดลง แต่หากรวมผลการด้อยค่าของสินทรัพย์ โดยเฉพาะเครื่องบินพิสัยไกลที่รอจำหน่าย 10 ลำ และค่าใช้จ่ายพิเศษตามแผนปฏิรูป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 16,324 ล้านบาท สุดท้ายทำให้ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 13,047 ล้านบาท
ส่วน ปี 2559 ที่ผ่านมา แม้อวดโอ่ว่า มีรายได้จากการประกอบการสูงกว่า 200,000 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 180,000 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 4,071 ล้านบาท แต่หากดูไส้ในผลประกอบการ กลับพบว่า เป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันกว่า 18,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนในการบริหาร ซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่ควรต้องปรับลด กลับทะยานขึ้นมาถึง 4,773 ล้านบาท ยังผลให้การบินไทยและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิแค่ 47 ล้านบาทเท่านั้น
สถานะทางการเงินที่ง่อนแง่นของการบินไทย ทำให้ต้องแบกขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีมานี้กว่า 40,000 ล้านบาท
ยังมีประเด็นเรื่องสายการบินนกแอร์ ที่การบินไทยเคยถือหุ้นใหญ่แต่ไม่เคยมีอำนาจการบริหารงานนกแอร์ได้เลย มีแต่นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีอำนาจเพียงคนเดียว แม้นกแอร์จะขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และไม่มีวี่แววฟื้น แต่นายพาทีก็ยังเป็นซีอีโออยู่เช่นเดิม จนสุดท้าย การบินไทย ก็ต้องตัดใจลอยแพไม่อุ้มนกแอร์อีกต่อไป โดยหลังการเพิ่มทุนนกแอร์ครั้งล่าสุด โครงสร้างผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไปจากเดิม คือ การบินไทย ลดสัดส่วนจาก 39.20% เหลือ 21.57% ขณะที่นายทวีฉัตร จุฬางกูร และนายณัฐพล จุฬางกูร มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 15.64% และ 13.29% ตามลำดับ รวมกันเท่ากับ 28.93% มากกว่าการบินไทย
เบื้องหลังล้มสรรหาดีดีการบินไทย ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รับรู้ และไม่ใช่เรื่องที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะกระทรวงคลัง จะไม่รับรู้ แต่เหตุไฉนถึงไม่กล้าแตะ นี่สิ! เป็นเรื่องที่สังคมใคร่รู้อย่างยิ่งยวด