xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลาสองน้ำ: ยอดน้ำแข็งแห่งความอ่อนแอในการใช้เหตุผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในช่วงที่ผ่านมามีการใช้สำนวน “ปลาสองน้ำ” เป็นเหตุผลในการอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดเดิมทั้งหมดหรือที่เรียกกันว่า “เซ็ทซีโร่” จนกลายเป็นวิวาทะของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่หลายวัน ผมเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะว่าทำให้เกิดการกระตุ้นความคิดสืบเนื่องหลายมิติ สำหรับในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นการเลื่อนไหลของความหมายของวลี “ปลาสองน้ำ” และการใช้ตรรกะภายในบริบทของการนำวลีนี้มาใช้

วลี “ปลาสองน้ำ” มีการใช้ทั่วไปในกลุ่มคนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ที่มีแม่น้ำเชื่อมติดกับ ทะเล เป็นคำที่ใช้อธิบายลักษณะของปลาบางชนิดที่สามารถอาศัยได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ความหมายของวลีนี้เมื่อนำมาใช้การอธิบายเชิงอุปมากับพฤติกรรมของคนมีทั้งเชิง บวกและเชิงลบ

ความหมายเชิงบวกของวลีนี้คือ การมีความสามารถสูงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้สิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เช่น นักกฎหมายบางคนมีความสามารถในการปรับตัวสูง โดยทำงานได้ทั้งกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ส่วนความหมายเชิงลบคือ การลื่นไหล ใจโลเล กะล่อน ขาดอัตตลักษณ์และจุดยืน โดยมีเป้าหมายคือ การขออยู่รอดปลอดภัยตลอดกาล ความหมายนี้มีนัยใกล้เคียงกับสำนวนข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย นั่นเอง

แต่การนำวลี “ปลาสองน้ำ” มาใช้เพื่อเป็นเหตุผลในการยุบเลิก กกต. เดิมทั้งชุดนั้นเป็นการใช้ที่ทำให้เกิด “การเลื่อนไหล” ของความหมายขึ้นมา ที่แตกต่างจากเดิม ความหมายในบริบทนี้คือ “การที่กลุ่มคนสองกลุ่มซึ่งมีแหล่งที่มาแตกต่างกัน แต่ต้องมาทำงานร่วมกัน” ความเชื่อเรื่องความแตกต่างของแหล่งที่มาว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงานอย่างไรแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าความแตกต่างของแหล่งที่มาจะทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น มักจะเกิดความขัดแย้ง และทำให้งานไม่บรรลุประสิทธิผล ส่วนกลุ่มที่สองเชื่อว่าความแตกต่างของแหล่งที่มา ทำให้ได้คนที่มีประสบการณ์หลากหลาย ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และไม่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน

ฐานคิดของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (กมธ.) ที่มีมติยุบเลิก กกต.ชุดเดิมทั้งชุดมาจากความเชื่อที่ว่า กลุ่มคนสองกลุ่มที่มีแหล่งที่มาแตกต่างกันจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการทำงานของ กกต. ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้

เพื่อให้เข้าใจความคิดของ กมธ.ยิ่งขึ้น เราลองใช้การอุปมาอธิบายเรื่องนี้ดู สมมติว่า กกต.ชุดเดิมเป็น ซึ่งมาจากแหล่งที่มาเดียวกันคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อเข้ามาทำงาน กกต.ชุดนี้ก็ได้สร้างระบบนิเวศน์ของการทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีลักษณะเหมาะสมกับกลุ่มของตนเอง หากมีกลุ่มอื่น ซึ่งมีแหล่งที่มาต่างกันแปลกปลอมเข้ามา ก็อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เดิมของ กกต.ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดสภาพความแปลกปลอมและเกิดความแปรปรวนต่อระบบนิเวศน์ของการทำงานในอนาคต กมธ. จึงจำเป็นต้องทำลายระบบนิเวศน์เดิมเสีย และสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มีแต่ “สิ่งที่เหมือนกัน” ดำรงอยู่ร่วมกัน

การยุบเลิกกกต.ชุดเดิมทั้งชุดจึงเกิดขึ้นมาภายใต้ตรรกะที่ว่า “มีแต่สิ่งที่เหมือนกันเท่านั้น” จึงจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าประสงค์และพันธกิจขององค์การ ความคิดของ กมธ.ในแง่นี้จึงมอง “ความเหมือน” มีนัยเชิงบวก ส่วน “ความแตกต่าง” มีนัยเชิงลบ การขจัดสภาพของระบบนิเวศน์แบบปลาสองน้ำทิ้งไปเสีย และกำหนดใหม่ให้เป็น “ระบบนิเวศน์แบบปลาน้ำเดียว” ขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

สำหรับความเชื่ออีกแบบ ที่มองว่าความแตกต่างเป็นสิ่งปกติ ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อการทำงานขององค์การมากนัก แต่กลับเป็นสิ่งที่ดีต่อองค์การเสียอีก เพราะว่าทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดนวัตกรรม และมีทางเลือกการปฏิบัติที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้องค์การมีความเข้มแข็ง มีโอกาสอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้มากยิ่งขึ้น อันที่จริงในปัจจุบัน ความคิดของการบริหารองค์การแบบที่เน้นความแตกต่างหลากหลายเป็นความคิดที่ได้รับการยอมรับและมีการนำไปปฏิบัติโดยทั่วไป

เรายังเห็นร่องรอยความคิดแบบนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ หลายมาตรา ตั้งแต่องค์ประกอบของสมาชิกรัฐสภา ไปจนถึงองค์การอิสระ อย่างในเรื่องสมาชิกรัฐสภา รัฐธรรมนูญระบุให้มีทั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ในส่วนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเองก็มีแหล่งที่มาแตกต่างสองแบบ คือ ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกแบบบัญชีรายชื่อ ด้านวุฒิสมาชิก ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เฉพาะในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ก็มีแหล่งที่มาถึงสามแหล่งด้วยกัน หรือเรียกว่าเป็น “ปลาสามน้ำ” ก็ได้ คือ มาจากการเลือกตั้งตามที่ กรธ.ออกแบบ มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้ง และ มาจากข้าราชการประจำบางตำแหน่ง

หรือแม้แต่ที่มาของ กกต. เอง ในรัฐธรรมนูญก็กำหนดแหล่งที่มาแตกต่างกันถึงสองแหล่ง คือ มาจากกรรมการสรรหา และมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา จากสิ่งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. ไม่มีท่าทีแสดงความรังเรียจความแตกต่างเรื่องแหล่งที่มาของกลุ่มบุคคลที่เข้าไปทำงานในองค์การสำคัญ ๆ ของประเทศแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังเห็นได้จาก การที่ กรธ.ไม่ระบุลงไปอย่างเด็ดขาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่าต้องยุบ กกต.ชุดเดิมทั้งชุดอีกด้วย

แต่เรื่องประหลาดในสังคมไทยก็เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ กล่าวคือเมื่อ กรธ.เข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา พรป. กกต. กลับเปลี่ยนความคิดไปเห็นดีเห็นงามกับการไม่เอา “ปลาสองน้ำ” ด้วย การตัดสินใจแบบนี้สะท้อนความไม่คงเส้นคงวาต่อหลักคิดของ กรธ. นั่นเอง ทั้งที่ความคงเส้นคงวาเป็นหลักการสำคัญอย่างยิ่งต่อการเขียนกฎหมาย

การตัดสินใจของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เช่นเดียวกัน การที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ อย่างเป็นเอกฉันท์ ย่อมแสดงว่า สนช. ไม่รังเกียจความแตกต่างเรื่องแหล่งที่มาของกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในองค์การสำคัญของประเทศ ดังนั้นการที่ กมธ. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจาก สนช. ลงมติยุบ กกต.ชุดเดิมทั้งหมด โดยหยิบด้านลบของ “การมีปลาสองน้ำ” เป็นเหตุผลสำคัญในลงมติ ก็ย่อมแสดงว่า สนช.ที่อยู่ใน กมธ.ขาดความคงเส้นคงวาในการตัดสินใจ และหากต่อมา สนช. เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ กมธ. ก็ย่อมแสดงว่า สนช. มีลักษณะการตัดสินใจไหวเอนเฉกเช่นเดียวกับ กมธ.ด้วย

การวิวาทะและการตัดสินใจในเรื่อง กกต. ซึ่งมีการนำวลี “ปลาสองน้ำ” มาใช้ในการอ้างเหตุผลของการตัดสินใจ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและขาดความคงเส้นคงวาเกี่ยวกับวิธีการใช้ตรรกะของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราเป็นอย่างดี อันที่จริงยังมีปรากฎการณ์คล้าย ๆกันอีกหลายเรื่อง ที่ผมพบเห็นในแวดวงของกลุ่มที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย กลุ่มผู้ร่างกฎหมาย และแม้กระทั่งผู้บริหารในสถาบันการศึกษาระดับสูง

การนำ “ปลาสองน้ำ” มาเป็นเหตุผลอ้างความชอบธรรมในการตัดสินใจ จึงเป็นยอดน้ำแข็ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและความไม่คงเส้นคงวาของการใช้วิธีคิด การใช้เหตุผลและตรรกะของคนจำนวนมากในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่า เราจำเป็นต้องปฏิรูปและพัฒนากันอีกมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น