“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ตอนที่เรารณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น เราชูธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “ฉบับปราบโกง” แคมเปญปราบโกงนี้ถูกขยายอย่างกว้างขวางในหมู่คนที่เชียร์รัฐบาลประยุทธ์ พวกนักการเมืองถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะมันจะปราบโกง
แต่อยู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ก็มาตั้งคำถามว่า หลังเลือกตั้งถ้าได้รัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร กลายเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้เค้นคำตอบจากประชาชน
ผมก็มานึกว่าเรามีรัฐธรรมนูญปราบโกงไง ถ้ารัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลก็เจอกับรัฐธรรมนูญปราบโกงสิ หรือว่ารัฐธรรมนูญจริงๆ แล้วมันไม่ได้ปราบโกง มันปราบโกงไม่ได้จริงๆ
ถ้าเราจำกันได้ในช่วงที่ สนช.เข้ามามีอำนาจได้ใช้กระบวนการทางสภาถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริตประพฤติมิชอบหลายคน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่เราเรียกว่าปราบโกงนี้ ต่อไปจะไม่มีกระบวนการถอดถอนอีกแล้ว ไปว่ากันในศาลแผนกคดีอาญานักการเมืองอย่างเดียวแถมในรัฐธรรมนูญเก่าถ้าถูกตัดสินแล้วจบเลยถ้าผิดก็ติดคุก แต่รัฐธรรมนูญใหม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้อีกศาลหนึ่ง
ลองดูสิครับว่า ตกลงแล้วรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าปราบโกงมันเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง นั่นเป็นข้อกังวลว่าเราจะไม่สามารถรับมือกับรัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้งใช่หรือไม่
แล้วถามว่า รัฐบาลทหารที่เข้ามาสู่อำนาจ3ปีล่ะเป็นอย่างไรเราปราบโกงไปถึงไหน เราป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากแค่ไหน เมื่อปีที่แล้วองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)ระบุว่า ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน ได้ลำดับที่ 101 เมื่อเทียบกับปี 2558 ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ
นักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมองว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1)การคอร์รัปชัน 2)ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3)ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4)ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5)โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ
อีกประเด็นหนึ่งคือ เขาเห็นว่าการทุจริตในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมยังติดตามและตรวจสอบการทุจริตได้ไม่ดีเท่าที่ควร การมีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการทุจริตที่เปิดเผยออกมานั้นไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการในการจัดการกับสถานการณ์การทุจริตที่เกิดขึ้น เนื่องจากบุคคลที่กระทำการทุจริต ส่วนใหญ่กลับไม่ถูกลงโทษ สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ การให้สินบนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแพร่หลาย และคนในประเทศยังมีทัศนคติต่อการให้สินบนว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้
บทสรุปก็คือแย่ลงกว่าเก่า มันสะท้อนว่าไม่ได้มีประสิทธิผลจากการปราบปรามคอร์รัปชั่นของรัฐบาล
เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ องค์กรเดียวกันรายงานว่า ประเทศไทยมีการทุจริตมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจากอินเดียและเวียดนาม
นี่เป็นคำตอบว่า 3 ปีของรัฐบาลชุดนี้ที่มีเป้าหมายหลักอันหนึ่งคือการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เราอาจกล่าวหาว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เอาจริงเอาจังไม่ได้ แต่อาจเพราะการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยทุกองคาพยพนั้นมีเครือข่ายที่หยั่งลึกกว้างขวางเกินจะเยียวยาในชั่วระยะเวลาไม่นาน แต่เราเฉลียวใจกันไหมว่า รัฐธรรมนูญที่ลดขั้นตอนการถอดถอนนักการเมืองโกงออกไปกับเปิดทางให้นักการเมืองโกงอุทธรณ์ได้นั้นมันจะปรากฏผลที่ดีขึ้นหรือเลวลงในอนาคต
ในอดีตมีศาลฎีกาแผนกนักการเมืองให้โอกาสสู้แค่ศาลเดียวยังเอาไม่อยู่แล้วต่อไปเปิดให้สู้ได้ถึงสองศาลมันจะทำให้นักการเมืองขลาดกลัวขึ้นไหม
ในรายการพบกับประชาชนทางโทรทัศน์วันศุกร์ที่ผ่านมา(2 มิ.ย.)พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศที่สำคัญ และก็เป็นภัยเงียบในสังคมไทย ก็คือการทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่บางนาย บางกลุ่ม บังคับใช้กฎหมายที่ตนเองถืออยู่ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์
ถ้าเราจับใจความให้ดีรากฐานที่หยั่งลึกของการทุจริตคอร์รัปชั่นก็คือระบบราชการนั่นเอง
แต่ที่ตลกมากก็คือ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ที่เศรษฐกิจฝืดเคืองอยู่ในขณะนี้มีผลมาจากการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล
“รัฐบาลและ คสช. ยอมรับว่าการปราบปรามการทุจริต และการจัดระเบียบสังคม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจหดตัวฝืดเคือง ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากเม็ดเงินจากการประกอบธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ซึ่งเดิมมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมีการปราบปรามอย่างหนัก ก็จะมีผลสะท้อนทางลบ ต่อตัวเลขเงินที่หมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลย ก็จะเป็นสนิมกัดกร่อนประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในเวลาเดียวกัน”
มันแปลว่า ระบบเศรษฐกิจของเราที่ผ่านมามันถูกขับเคลื่อนด้วยเงินนอกระบบเช่นนั้นหรือ ถ้าการทุจริตยังคงดำรงอยู่มันจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเช่นนั้นหรือ
มันช่างลงตัวกับค่านิยมของประชาชนส่วนหนึ่งเลยที่บอกว่า รัฐบาลโกงไม่เป็นไรถ้าประชาชนได้ด้วย ซึ่งเป็นทัศนคติของมวลชนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยและชื่นชอบระบอบทักษิณ พวกเขาก็คงเอาไปคิดต่อว่า ถ้าไม่โกงแล้วฝืดเคืองอย่างนี้ปล่อยให้โกงกันไปดีกว่าไหม
คิดแบบขำๆ นะครับว่า ถ้าเราได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้งแล้วถ้าใช้ตรรกะนี้เศรษฐกิจจะฝืดเคืองยิ่งกว่าเก่าหรือเปล่า
แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันสะท้อนว่า ไม่ว่ารัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและมีอำนาจเบ็ดเสร็จมันก็แก้การทุจริตไม่ได้ และเมื่อระบบราชการนั่นแหละที่เป็นปัญหาสำคัญของการทุจริตการขยายอำนาจและการสร้างระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของรัฐบาลชุดนี้มันจะไม่เป็นช่องทางให้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เพิ่มขึ้นหรือ
นักการเมืองเป็นตัวเลวร้ายของสังคมไทยวันนี้ก็จริง แต่วงจรสำคัญที่เอื้อให้นักการเมืองหาประโยชน์ได้ก็คือระบบราชการนั่นเอง
ผมนึกไม่ออกนะครับว่า การเขียนเสือให้วัวกลัวว่าจะได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก หรือส่งสัญญาณว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องสืบทอดอำนาจออกไปอีกระยะหนึ่งไม่ว่าจะในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือใส่ชื่อไว้ตั้งแต่ตัวเลือกของพรรคการเมืองในการโหวตของ ส.ส.รอบแรก มันจะเป็นคำตอบของการสร้างระบบธรรมาภิบาลได้อย่างไร
เพราะขนาดมีอำนาจเบ็ดเสร็จขนาดนี้ มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ก็ไม่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นลดลงเลย
วันนี้บอร์ดองค์กรมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจถูกแทนที่คนของนักการเมืองด้วยนายพลในกองทัพเหมือนสมบัติผลัดกันชม องค์กรเหล่านั้นเป็นองค์กรยุคสมัยที่ต้องแข่งขันกับโลกภายนอกไม่ใช่รัฐวิสาหกิจผูกขาดแบบในอดีตเช่น องค์กรแบตเตอรี่ หรือยาสูบฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญชำนาญการเป็นสมองมาช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร
พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายว่า การที่มีทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่งว่า ให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว โดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ด ก็มีตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาทหารไปนั่งมากและไปตัดสัดส่วนอื่นออก เป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นกรรมการเฉพาะทาง
“ส่งทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปยกมือ แสดงความคิดเห็น” ไม่พูดเลยหรือว่ามีผลตอบแทนกันคนละเท่าไหร่ แบบนี้เป็นการใช้อำนาจหาประโยชน์หรือไม่ ซึ่งฟังแล้วเป็นตลกร้ายจริงๆนะครับ
คำถามสุดท้ายก็คือว่า ความกลัวรัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าระบบที่สร้างขึ้นและบอกว่าจะปราบโกงนั้นมันใช้ไม่ได้จริงๆ ใช่ไหม แล้วมันคือความล้มเหลวของใคร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan