“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตั้งคำถาม 4 ข้อ จนใครพูดกันว่า พูดแบบนี้แปลว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวใช่ไหม จะเลื่อนเลือกตั้งใช่ไหม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันกลับทันควันว่า โรดแมปยังคงเหมือนเดิมยังไงก็ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่ที่ตั้งคำถามเพราะถูกฝ่ายตรงข้ามเดินสายโจมตีในหมู่ประชาชนในชนบท
ผมคงไม่ต้องทวนคำถาม 4 ข้อแต่สรุปลงตรงหัวใจคำถามก็คือ ถ้าเลือกตั้งแล้วได้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีกจะทำอย่างไร
คำถามจึงมีอยู่ว่า ความกลัวต่อผลลัพธ์จากการเลือกตั้งว่าคนไม่ดีไร้ธรร มาภิบาลจะกลับมาอีกที่สะท้อนผ่านคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นจะถูกแก้ไขอย่างไร ก่อนจะถึงวันที่ต้องวัดกันด้วยเสียงใน “หีบเลือกตั้ง” แบบ 1 คน 1 เสียงของมวลมหาประชาชาติ
แม้ว่า “คนไม่ดีไร้ธรรมาภิบาล” จะเป็นคำรวมๆไม่ได้เจาะจงไปที่ใครเหมือนจะวัดใส่นักการเมืองทุกคน แต่พูดกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมก็คือ ว่าทำอย่างไรไม่ให้พรรคของทักษิณกลับมามีอำนาจนั่นแหละ
ผมคิดว่าคนที่กุมอำนาจอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะรู้และมีข้อมูลมากพอว่า ถ้ากลับไปสู่การเลือกตั้งแล้วผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าถึงวันนี้มวลชนของทักษิณแม้จะสงบนิ่ง แต่ลึกๆ แล้วไม่มีอะไรที่เปลี่ยนใจพวกเขาจากพรรคของทักษิณได้เลย
อย่าว่าแต่ พล.อ.ประยุทธ์เลย คนนอกที่ไม่ได้อยู่ในใจกลางศูนย์อำนาจแบบเราก็รู้ว่า 3 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลยังไม่สามารถดึงมวลชนของทักษิณให้เปลี่ยนใจได้เลย ตอนรัฐบาลทหารเข้ามาพยายามปักธงที่ “การปรองดอง” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในทุกวันนี้มันถูกสะกดลงด้วยอำนาจปากกระบอกปืนมากกว่า
ถ้าจะเห็นสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์พยายามทำอยู่บ้างก็คือใช้นโยบายประชานิยมในชื่อใหม่ว่าประชารัฐออกมาเพื่อซื้อใจประชาชน ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่ทักษิณทำนั้นถูก ยิ่งตอกย้ำให้คนรากหญ้าโหยหาทักษิณ ทุกวันนี้พวกเขายังเชื่อเหมือนเดิมว่า ทักษิณเป็นคนดีที่ถูกกลั่นแกล้งและริษยาจากอำนาจเก่า เขาเชื่อว่าทักษิณถูกตัดสินให้จำคุกด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม พวกเขาจึงมองว่าการหนีของทักษิณเป็นความชอบธรรม
แต่ผมไม่เคยได้ยินเลยว่า เคยมีใครในฝ่ายอำนาจรัฐออกมาชี้แจงบ้างว่า ทักษิณได้กระทำต่อบ้านเมืองในระหว่างมีอำนาจอย่างไร ทักษิณไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งแต่มีพฤติกรรมเยี่ยงไร กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินคดีต่อทักษิณนั้นได้ตั้งอยู่บนความยุติธรรมอย่างไร ไม่มีเลยครับ มีแต่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมถูกเหยียบย่ำ ก็เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ในตอน แรกว่าบ้านเมืองมีปัญหาเพราะประชาชน 2 ฝ่ายทะเลาะกัน
ลองย้อนไปดูคำปรารภในรัฐธรรมนูญชั่วคราว2557ดูสิครับเขาเขียนว่า “ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนลุกลามไปสู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กําลังและอาวุธสงครามเข้าทําร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดํารงชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อํานาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล”
วันแรกๆ ที่เข้ามา คสช.จึงทำตัวเหมือนเป็นคนกลางที่เข้ามาแก้ปัญหา สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ทุกฝ่าย ออกกฎเหล็กมาควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อ ส่งทหารมายึดทุกสถานี ห้ามพูดจากระทบกระทั่งกัน แม้จะวิจารณ์ทักษิณก็ยังถูกสั่งห้าม
นั่นแหละเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เริ่มกลัดผิด
แม้ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.จะกล้าโพกัสฝ่ายตรงข้ามชัดเจนขึ้นโดยกล้าพูดถึงทักษิณและพวกในระยะหลังบ้าง แต่มันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อฐานเสียงและมวลชนของทักษิณที่รอวันเข้าคูหาเลือกตั้ง ความเชื่อว่าทักษิณถูกกลั่นแกล้งก็ยังฝังอยู่ในหัวของพวกเขา
แล้วถ้าถามว่าถ้าเลือกตั้งตอนนี้พรรคไหนพร้อมที่สุดผมว่าน่าจะเป็นพรรคของทักษิณนะ เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเดินไปทางไหน รอยร้าวระหว่างสมาชิกในพรรคกับ กปปส.จะสมานกันลงตัวไหม
มวลชนของทักษิณนั้นยังยืนยันสนับสนุนพรรคของทักษิณแน่ๆ แต่มวลชนฝ่ายตรงข้ามทักษิณนั่นแหละจะทำอย่างไรถ้าพรรคประชาธิปัตย์ปีกอภิสิทธิ์กับ กปปส.ตกลงกันไม่ได้ มวลชนจะไปทางไหนดี ถามว่า พรรคที่เชียร์ทหารมีไหมอย่างน้อยก็เห็นพรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวันพรรคหนึ่งล่ะ แต่บอกตรงๆ นะครับว่ามองไม่เห็นอนาคตแม้จะชูธงเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม
ส่วนพรรคการเมืองอื่นไว้ใจได้ที่ไหนไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาที่เป็นมรดกในตระกูลของบรรหารผู้ล่วงลับ หรือพรรคชาติพัฒนาของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ทั้งสองพรรคพร้อมจะสวิงไปทางไหนก็ได้อยู่แล้ว แม้แต่พรรคภูมิใจไทยของเนวิน ชิดชอบที่คิดว่าแนบแน่นกับอำนาจปัจจุบันก็เถอะถึงเวลาก็อาจมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้
อย่าลืมว่า 1 สิทธิ์ 1 เสียงนี่แหละที่มีคำตอบมาอย่างชัดเจนตลอด 10 ปีแล้วว่า พรรคของทักษิณสามารถกุมเสียงข้างมากได้ และผลของกรุงเทพโพลล่าสุดก็ออกมาว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกพรรคของทักษิณมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ใครต่อใครรู้กันว่าเป็นพรรคที่สนับสนุน คสช.นั้นมีเสียงตอบรับที่น้อยมาก
ดังนั้นเป้าหมายเดียวของพรรคทักษิณก็คือ อดทนรอคอยวันที่การเลือกตั้งจะมาถึง
พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้อยู่แก่ตัวว่า วันหนึ่งต้องกลับไปเลือกตั้ง แม้จะเขียนรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจต่ออีก 5 ปี เปิดทางให้มีนายกฯคนนอกได้ รวมถึงเปิดให้ ส.ว.250 เสียงที่คสช.ตั้งมากับมือสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วปมที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เฒ่าลายคราม ซ่อนเอาไว้นั้นไม่ง่ายเลยที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังเลือกตั้งกันได้ง่ายๆ แถมถ้าพรรคของทักษิณหรือพันธมิตรของทักษิณจับมือกันได้เกิน 250 เสียงแล้วจบเลย
อย่างที่บอกมาตลอดว่า แม้จะ 2 สภาจะรวมกัน 700 เสียง มี ส.ว.อยู่แล้ว 250 เสียงก็ยังต้องการเสียงส.ส.250เสียงขึ้นไปอยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญเขียนล็อกไว้ด่านสุดท้ายที่จะให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาเห็นชอบเสียก่อน แล้วอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มีเสียงส.ส.มากกว่า 250 เสียงแม้จะได้เสียงส.ว.ยกมือหนุนก็บริหารไม่ได้อยู่ดี
สุดท้ายถ้าการเมืองถึงทางตัน พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องงัดมาตรา 44 ออกมาใช้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ให้สามารถใช้มาตรา 44 ได้จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่มันจะอธิบายมติของประชาชนที่แสดงผ่านหีบเลือกตั้งอย่างไร
ผมว่าง่ายที่สุดเลยนะครับ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อแบบไม่ทุลักทุเลก็ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเสนอตั้งแต่ต้น อยู่ที่ว่าจะใจกล้าหรือเปล่านั่นแหละ
หรือไม่พล.อ.ประยุทธ์ก็ลงเลือกตั้งหรือเป็นหัวหน้าพรรคเสียเองจะสง่างามที่สุด ใครก็ค่อนขอดว่าเป็นนายกฯ เผด็จการไม่ได้ หรือถ้ากลัวคนไม่มีธรรมาภิบาลมาเป็นนายกฯ ก็ต้องกล้าตัดสินใจเพื่อชาติ แต่ไม่มีทางหรอกครับ อันนี้ผมฝันไป
ที่สำคัญอย่าคิดเชียวนะครับว่า พรรคการเมืองแม้จะอยู่ต่างขั้วจะรวมกันไม่ได้ ถึงวันนี้ก็เริ่มส่งเสียงร้องหากันแล้ว ผมคิดว่านักการเมืองเขามีสิทธิ์คิดถึงช่องทางนี้นะครับ ว่าจะรวมกันเพื่อออกจากร่มเงาของทหารหรือจะอยู่ใต้ร่มเงาของทหารไปอีกหลายปี
ความไม่มั่นใจในฐานมวลชนของทักษิณ ความไม่มั่นใจในจุดยืนของนักการเมืองนี่แหละที่ผมคิดว่า สะท้อนออกมาเป็นความหวั่นไหวของ พล.อ.ประยุทธ์
แต่ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ 3 ปีที่ผ่านมาและอีกปีกว่าก่อนจะกลับไปสู่การเลือกตั้งรัฐบาลประยุทธ์และ คสช.ได้ทำอะไรบ้างที่เป็นหลักประกันว่าบ้านเมืองจะไม่กลับไปเป็นแบบเก่าอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถาม คำถามนั้นควรจะเป็นคำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องถามตัวเองไม่ใช่หรือ
อย่าลืมสิว่าวันนี้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีมาตรา 44อ ยู่ในมือที่จะบูรณาการบ้านเมืองและปฏิรูปในทุกด้านเพื่อวางรากฐานให้กับประเทศชาติในอนาคต ถ้ายังทำให้บ้านเมืองดีขึ้นไม่ได้ มันก็ต้องโทษพวกตัวเองนั่นแหละครับไม่ใช่กลับไปถามประชาชน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan